แม้ว่า “การขึ้นเงินเดือน” จะมีผลต่อการมัดใจพนักงานเก่าให้อยู่กับองค์กรน้อยลง แต่ในยุคที่ค่าครองชีพพุ่งสูงขึ้นจากราคาสินค้าที่ปรับเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้คนทำงานจำนวนไม่น้อยคงแอบคาดหวังที่จะเห็นตัวเลขเงินเดือนในปี 2566 ปรับขึ้นเช่นกัน ในขณะที่ฝั่งผู้ประกอบการหรือนายจ้างเอง ก็ยังคงบาดเจ็บจากพิษโควิด-19 แถมยังถูกซ้ำเติมด้วยต้นทุนที่เพิ่มสูงขึ้น รวมถึงอัตราเงินเฟ้อที่พุ่งขึ้นไม่หยุด การปรับขึ้นเงินเดือนจึงเป็นโจทย์ที่นายจ้างเองก็คิดหนักเหมือนกัน
ล่าสุด “เมอร์เซอร์” (Mercer) บริษัทที่ปรึกษาด้านทรัพยากรบุคคล ได้ทำการสำรวจเงินเดือน (Total Remuneration : TRS) ประจำปี 2565 โดยสำรวจองค์กร 636 แห่ง ใน 15 อุตสาหกรรมในประเทศไทย ช่วงเดือนเมษายน – มิถุนายน 2565 พบว่า นายจ้างหลายอุตสาหกรรมมีแนวโน้มจะขึ้นเงินเดือนในปี 2566 ให้กับพนักงานเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 4.5% ทั้งยังมีแผนการณ์จะจ่ายโบนัสให้กับพนักงาน แล้วอุตสาหกรรมไหน? ผลตอบแทนปังมากสุด ตามมาดูผลสำรวจนี้ไปพร้อมๆ กันเลย
นายจ้างไทย ปรับค่าตอบแทนปี 2566 เพิ่ม 4.5%
แม้อัตราเงินเฟ้อจะพุ่ง ราคาพลังงาน และน้ำมันจะสูงขึ้น แต่ผลสำรวจพบว่า การปรับค่าตอบแทนในปี 2566 มีแนวโน้มดีขึ้น จากแนวโน้มผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศไทยที่คาดการณ์ว่าจะปรับขึ้น 3.8% ในปี 2566 ซึ่งเป็นอัตราที่สูงที่สุดในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา โดยแนวโน้มการปรับขึ้นค่าตอบแทนของไทยอยู่ที่ 4.5% ซึ่งถือว่าสูงกว่าค่าเฉลี่ยของกลุ่มประเทศเอเชียแปซิฟิกเล็กน้อย (ไม่รวมอินเดีย ณ วันที่ 3 พฤศจิกายน 2565) ที่มีอัตราการปรับขึ้นเฉลี่ย 4.4%
สำหรับอัตราค่าตอบแทนที่ปรับสูงขึ้นในภูมิภาคเอเชีย สะท้อนให้เห็นถึงการเติบโตของค่าตอบแทนในตลาดแรงงานในกลุ่มประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่และประเทศที่พัฒนาแล้ว โดยมีการประมาณการค่าตอบแทนที่ปรับตัวสูงถึงระดับ 7.1% ในประเทศเวียดนาม ขณะที่ญี่ปุ่นอยู่ที่ 2.2% ซึ่งต่ำที่สุดในภูมิภาค
ส่อง 3 อุตสาหกรรมเงินเดือนขึ้นมากสุด
ผลสำรวจยังพบว่า แม้จะต้องเผชิญอัตราเงินเฟ้อที่ปรับสูงขึ้น แต่ไม่มีอุตสาหกรรมใดปรับลดอัตราการขึ้นเงินเดือน โดยนายจ้างส่วนใหญ่จะวางแผนการใช้จ่ายอย่างระมัดระวัง ส่งผลให้แนวโน้มการปรับเพิ่มค่าตอบแทนในปีหน้าอาจใกล้เคียงกับปีนี้ โดยอุตสาหกรรมที่คาดว่าจะปรับขึ้นเงินเดือนมากที่สุดในไทย คือ
1.อุตสาหกรรมเคมี 4.9%
2.อุตสาหกรรมเทคโนโลยี 4.8%
3.อุตสาหกรรมยาและเครื่องมือแพทย์ 4.8%
ซึ่งการคาดการณ์การปรับอัตราการขึ้นเงินเดือนในครั้งนี้ นับว่าใกล้เคียงกับช่วงก่อนหน้าเกิดวิกฤตโรคระบาดที่ 5% ยกเว้นอุตสาหกรรมยานยนต์ และ อุตสาหกรรมประกันชีวิต คาดการณ์การปรับอัตราการขึ้นเงินเดือนอยู่ที่ 4.5% และ 4.0% ตามลำดับ แม้อุปสงค์ต่อภาคยานยนต์และประกันชีวิตจะเพิ่มขึ้น แต่ก็ยังไม่กลับคืนสู่ระดับก่อนหน้าวิกฤตโรคระบาด
ส่วนการจ่ายโบนัส คาดการณ์การจ่ายโบนัสอยู่ที่ 1.3 ถึง 2.5 เดือน โดยการจ่ายโบนัสสูงสุดอยู่ที่ 2.4 เดือนจากอุตสาหกรรมยาและเครื่องมือแพทย์
นายจ้าง 22% เตรียมรับพนักงานเพิ่ม
ส่วนการปรับอัตรากำลังพนักงาน ผลสำรวจพบว่า มากกว่าครึ่ง (53%) ของบริษัทในประเทศไทยที่ตอบแบบสำรวจ ไม่มีนโยบายในการปรับเปลี่ยนกรอบอัตรากำลังพนักงานในปี 2566 และ 1 ใน 5 หรือราว 22% ของนายจ้างที่ร่วมการสำรวจมีแผนจะ “เพิ่ม” จำนวนพนักงาน ในขณะที่มีเพียง 4% ของนายจ้างบอกว่าจะลดจำนวนพนักงานลง
ขณะที่อัตราการลาออกของพนักงานปี 2565 คาดว่าจะเพิ่มขึ้นสู่ระดับก่อนหน้าวิกฤตโรคระบาด โดยมีอัตราสูงกว่า 11.9% เมื่อเทียบกับ 9.4% ในปีที่ผ่านมา เนื่องจากธุรกิจไทยอยู่ในช่วงที่มีการแข่งขันสูงมาก และมีการแย่งชิงบุคลากรที่มีทักษะความสามารถสูง ประกอบกับช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา พนักงานประสบกับภาวะเหนื่อยล้าจากการทำงานและต้องการความเปลี่ยนแปลง เมื่อสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลาย จึงพร้อมเปลี่ยนงาน โดยอุตสาหกรรมสินค้าอุปโภคบริโภค และอุตสาหกรรมยาและเครื่องมือแพทย์ คาดว่าจะมีอัตราการลาออกของพนักงานสูงที่สุด
ดังนั้น การที่ธุรกิจแข่งขันกันด้วยค่าจ้างแต่เพียงอย่างเดียวอาจไม่ใช่กลยุทธ์ที่ยั่งยืน นายจ้างควรเน้นการนําเสนอผลประโยชน์ในด้านอื่นๆ ในองค์รวมให้แก่พนักงาน เช่น ความโปร่งใสของค่าจ้าง เส้นทางสู่ความก้าวหน้าในองค์กรที่ชัดเจน ตลอดจนแนวทางการทำงานรูปแบบใหม่ที่ส่งผลให้คุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นผ่านสวัสดิการด้านสุขภาพในรูปแบบต่าง ๆ และระบบการทำงานที่ยืดหยุ่น ซึ่งก็จะช่วยให้ได้ใจและรักษาพนักงานให้อยู่กับองค์กรได้อย่างยาวนาน
Photo Credit : NUMBER 24 – Authorized Shutterstock Partner in Thailand