LINE for Business จัดงาน LINE THAILAND BUSINESS 2022 พร้อมเผยสถานการณ์ประเทศไทยกำลังเจอ “Perfect Storm” ทั้งความขัดแย้งระหว่างประเทศ ปัญหาเงินเฟ้อ ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ อีกทั้งประเทศยังติดกับดักรายได้ปานกลาง และเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุก็ทำให้คนทำงานมีปริมาณน้อยลง ขณะที่ข้อดีของประเทศไทยคือ ภาคเอกชนมีการปรับตัวเร็วมาก และมีการเปิดหน้าร้านออนไลน์เพื่อรับมือกับความเปลี่ยนแปลง เห็นได้จากการเกิด Transaction เพิ่มขึ้นในทุกเซกเมนต์ ทั้งภาครัฐบาล – อีคอมเมิร์ซ – ค้าปลีก
ข้อมูลดังกล่าวถูกเปิดเผยผ่านงาน LINE THAILAND BUSINESS 2022 โดยคุณนรสิทธิ์ สิทธิเวชวิจิตร รองประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการ LINE ประเทศไทย พร้อมกันนั้น คุณนรสิทธิ์ยังให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า มีดัชนีชี้วัดหลายตัวที่สะท้อนให้เห็นว่าประเทศไทยยังคงเติบโตต่อเนื่องแม้ในช่วงวิกฤต และกำลังเดินหน้าเข้าสู่การเป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว ไม่ว่าจะเป็น
- ดัชนีการพัฒนามนุษย์ หรือ HDI (Human Development Index) ที่จัดลำดับการพัฒนามนุษย์ในแต่ละประเทศ ซึ่งประเทศไทยได้รับการจัดอันดับจากโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) ให้เป็นประเทศที่มีดัชนีการพัฒนามนุษย์สูง (ค่าดัชนีสูงกว่า 0.8) เทียบเท่าประเทศพัฒนาแล้วอื่น ๆ เช่น ญี่ปุ่น เกาหลีใต้
- อัตรารายได้ต่อหัวของไทย ที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยตัวเลขล่าสุดเมื่อปี 2021 ประเทศไทยมีรายได้เฉลี่ยต่อหัวต่อปี (Income per capita) ใกล้แตะ 22,000 เหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 800,000 บาท ซึ่งเป็นค่ารายได้เฉลี่ยต่อหัวของประเทศพัฒนาแล้วเช่นกัน
“เมื่อมองในด้านของศักยภาพการแข่งขัน LINE เห็นถึงการปรับตัวอย่างรวดเร็วของผู้ประกอบการไทยขนาดใหญ่ SME และรัฐวิสาหกิจ โดยเฉพาะการนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยเสริมประสิทธิภาพธุรกิจ และการเข้าถึงประชาชนทั่วประเทศในแบบที่ไม่เคยเป็นมาก่อน จึงเชื่อว่าศักยภาพของผู้ประกอบการไทยนี้จะทำให้ประเทศไทยก้าวผ่านอุปสรรคครั้งใหญ่ได้”
ด้าน ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ ที่ปรึกษาสถาบันวิจัยกลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร หนึ่งในวิทยากรในงาน LINE THAILAND BUSINESS 2022 ได้อัพเดทถึงสถานการณ์เศรษฐกิจโลกว่า ยังเป็นสถานการณ์ที่ต้องจับตามอง ทั้งเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกาที่ยังควบคุมเงินเฟ้อไม่ได้ จึงต้องมีการเร่งการเพิ่มอัตราดอกเบี้ย เศรษฐกิจของฝั่งประเทศยุโรป ที่ต้องเผชิญกับความยากลำบาก จากเงินเฟ้อพุ่งสูงเป็นประวัติการณ์ เศรษฐกิจถดถอย ในขณะที่เศรษฐกิจจีนได้รับผลกระทบอย่างมากจากมาตรการ Zero COVID ปัญหาในภาคธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ การกีดกันด้านเทคโนโลยีจากสหรัฐฯ และการเดินหน้าเข้าสู่สังคมสูงวัย ไม่ช้าก็เร็ว สิ่งที่เกิดขึ้นทั่วโลกดังกล่าวนี้จะมีผลกระทบต่อประเทศไทย ซึ่งเริ่มเห็นสัญญาณจากอัตราเงินเฟ้อเริ่มปรับตัวสูงขึ้น หากแต่ยังมีปัจจัยบวกเข้ามาเกื้อหนุน อาทิ การกระตุ้นการใช้จ่ายในประเทศ ธุรกิจภาคบริการที่เริ่มฟื้นตัวจากนักท่องเที่ยวที่เริ่มกลับเข้ามา อย่างไรก็ตาม ธุรกิจยังต้องจับตามองสถานการณ์รอบตัวอย่างใกล้ชิด เพราะยังมีเรื่องน่ากังวล ไม่ว่าจะเป็นการปรับเพิ่มของต้นทุน ค่าจ้าง และราคาสินค้า ที่เกิดจากภาวะเงินเฟ้อ ผู้ประกอบการไทยต้องตั้งรับและปรับตัวให้ทัน ขณะเดียวกันต้องมองหาโอกาสใหม่ ๆ ในการเติบโต และต้องใช้นวัตกรรมในการขับเคลื่อนธุรกิจ
แมคคินซี่เผยพฤติกรรมผู้บริโภคทั่วโลกเปลี่ยนไปแล้ว
ในขณะที่ แมคคินซี่ แอนด์ คอมพานี บริษัทที่ปรึกษาธุรกิจยักษ์ใหญ่ ได้ส่งผู้เชี่ยวชาญร่วมแบ่งปันข้อมูลในงานนี้ด้วย โดย คุณอเล็กซานเดอร์ โกรมอฟ และคุณดาลัด ตันติประสงค์ชัย พาร์ทเนอร์ แมคคินซี่ แอนด์ คอมพานี เปิดเผยว่า พฤติกรรมของผู้บริโภคยุคใหม่หลังจาก Covid-19 จบลง มีการเปลี่ยนแปลงไปหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นการพร้อมที่จะเปลี่ยนแบรนด์ และมีการใช้ออนไลน์ในการช้อปปิ้งมากขึ้น การซื้อของแบบอินดี้ ไม่ยึดติดกับการช้อปจากแบรนด์ยักษ์ใหญ่เหมือนรุ่นพ่อแม่ในอดีต รวมถึงการให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น
“เราทุกคนกำลังอยู่ในยุคแห่งความไม่แน่นอน แต่ก็เป็นโลกที่มีทั้งโอกาสและความท้าทายแก่ธุรกิจ โดยเฉพาะประเทศในเอเชียที่กำลังเดินมาถึงจุดเปลี่ยนที่สำคัญ กลายเป็นกลุ่มประเทศที่มีศักยภาพสูงของโลก อีกทั้งในแต่ละประเทศยังสามารถส่งเสริมและเติมเต็มความได้เปรียบของกันและกันได้เป็นอย่างดี
“ในทศวรรษที่ผ่านมา เราได้เห็นการเติบโตเชิงเทคโนโลยีในกลุ่มประเทศเอเชียเป็นอย่างมาก ทั้งในเชิงรายได้ของบริษัทเกี่ยวกับเทคโนโลยี การลงทุนในการวิจัยและพัฒนา ไปจนถึงสินทรัพย์ทางปัญญาในโลกเทคโนโลยีที่เติบโตกว่า 87% เหล่านี้นำไปสู่รายได้ประชากรและกำลังซื้อในการบริโภคเพิ่มขึ้นอย่างมาก สำหรับประเทศไทยก็เช่นกัน มีกำลังซื้อกลุ่มใหม่ ๆ เกิดขึ้นและคาดการณ์ว่าในอีก 10 ปี ข้างหน้าจะมีมูลค่าการบริโภคถึง 4 แสนล้านเหรียญสหรัฐต่อปี”
แชท – API เติบโต 2 digits
สำหรับรูปแบบการเติบโตของแพลตฟอร์ม LINE ในปี 2022 คุณนรสิทธิ์เผยว่า พบการเติบโตของแชทเพิ่มสูง เนื่องจากบิ๊กแบรนด์มาใช้บริการ นอกจากนั้น API ก็เติบโตเช่นกัน (API คือการเชื่อมเซอร์วิสกับแบรนด์ เช่น สถาบันการเงินสามารถเชื่อม API กับ LINE ได้ และหากพบว่ามีการรูดบัตร – ใช้เงินที่ไหน ก็สามารถแจ้งลูกค้าได้ผ่าน LINE ทันที) โดยเซกเมนต์ที่โตที่มากสุดคือรีเทลกับอีคอมเมิร์ซ (57%)
“สถิติดังกล่าวมาจากพฤติกรรมคนไทยที่ชอบซื้อของโดยการคุยมากที่สุด ดังนั้นไม่ว่าจะเป็นรีเทลเจ้าเล็กเจ้าใหญ่ ไฮเปอร์มาร์ท 7-Eleven ยังต้องมี OA เพื่อคอยตอบคำถาม อีกเซกเมนต์ที่เติบโตคือรัฐบาลและรัฐวิสาหกิจ (40%) หลายหน่วยงานภาครัฐคุ้นเคยกับเทคโนของ LINE อยู่แล้ว มันเลยง่ายมากที่จะมาใช้งาน”