Google บริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ ประกาศเปิดตัว Google Wallet ในประเทศไทยแล้วอย่างเป็นทางการ รับการเติบโตของการชำระเงินแบบดิจิทัล หลังมีตัวเลขจากรายงานเศรษฐกิจดิจิทัลเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ e-Conomy SEA 2022 ที่ระบุว่า การชำระเงินแบบดิจิทัลได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ และคาดว่าการชำระเงินแบบดิจิทัลในไทยจะมีมูลค่าธุรกรรมรวม (Gross Transaction Value: GTV) สูงถึง 1.61 แสนล้านเหรียญสหรัฐในปี 2025 เลยทีเดียว
แต่ก่อนจะใช้งาน Google Wallet มารู้จักกันก่อนว่า Google Wallet คืออะไร และทำงานอย่างไร
1. Google Wallet คืออะไร
Google Wallet คือบริการกระเป๋าเงินดิจิทัล (อดีตคือ Google Pay) ที่ภายในนอกจากจะใช้เก็บบัตรเครดิตแล้ว ยังเก็บบัตรผ่าน ตั๋วต่าง ๆ (เช่น ตั๋วเครื่องบิน) บัตรสะสมแต้ม การ์ดวัคซีน ผลตรวจเชื้อต่าง ๆ ฯลฯ ได้ด้วย โดยผู้ใช้งานจะต้องเพิ่มบัตรที่ต้องการลงไปก่อนจึงจะใช้งานได้
ส่วนการใช้ Google Wallet ในการจ่ายเงินแบบ Contactless ก็สามารถทำได้เลย (แต่ต้องเป็นร้านที่รองรับ Google Pay หรือมีโลโก้การชำระเงินแบบ Contactless ปรากฏอยู่) เพียงแค่เลือกบัตรเครดิต – บัตรเดบิทที่ต้องการใช้จากในแอปพลิเคชันเท่านั้น ลักษณะการจ่ายจะเป็นการแตะที่เครื่องรูดบัตร โดยใช้ได้ทั้งสมาร์ทโฟน และสมาร์ทวอทช์
2. Google Wallet ทำงานอย่างไร
Google Wallet ทำงานภายใต้ระบบรักษาความปลอดภัยของโทรศัพท์ Android รวมถึงการแปลงโทเค็นตามมาตรฐานอุตสาหกรรม
ด้วยเหตุนี้ ในการทำธุรกรรมแต่ละครั้ง ระบบจะสมมติหมายเลขบัตรขึ้นมา (โทเค็น) ซึ่งเป็นหมายเลขเฉพาะของอุปกรณ์นั้น ๆ และเชื่อมโยงกับรหัสความปลอดภัยแบบไดนามิกที่จะไม่ซ้ำกันในแต่ละธุรกรรมเพื่อความปลอดภัย
ทั้งนี้ ผู้ใช้งานต้องได้รับการยืนยันจากธนาคารก่อนว่าเป็นผู้ถือบัตรตัวจริงถึงจะสามารถเพิ่มบัตรลงในโทรศัพท์ได้ และควรตั้งค่าการล็อกหน้าจอเพื่อไม่ให้คนแปลกหน้าเข้าถึงข้อมูลในอุปกรณ์
3. Google Wallet ในไทยมีใครเป็นพาร์ทเนอร์บ้าง
ปัจจุบัน Google Wallet เปิดใช้งานแล้วใน 45 ประเทศและภูมิภาค รวมถึงไทย ซึ่งในประเทศไทย มีการจับมือกับหลายภาคส่วนเพื่อให้ประสบการณ์ในการใช้งานไหลลื่น ได้แก่ ธนาคารกรุงเทพ (บัตรเครดิต Visa และ Mastercard) และบริษัท บัตรกรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือ เคทีซี (บัตรเครดิต Visa และ Mastercard) โดยสามารถเพิ่มบัตรของทั้งสองค่ายนี้ลงใน Google Wallet ได้แล้ว ส่วนทรูมันนี่ (บัตร Prepaid Mastercard) จะมีการเชื่อมต่อและเปิดให้บริการในเร็ว ๆ นี้
นอกจากนี้ ผู้ใช้สามารถเพิ่มบอร์ดดิ้งพาสของสายการบินแอร์เอเชีย บัตรสะสมแต้ม OneSiam ของสยามพิวรรธน์ และบัตรเข้าชมงานต่าง ๆ จากไทยทิคเก็ตเมเจอร์ ลงใน Google Wallet ได้ด้วยเช่นกัน รวมถึงการชำระค่าสินค้าออนไลน์จากผู้ให้บริการรายต่าง ๆ ด้วย เช่น Airbnb ดีแทค
4. ไฟล์ทเปลี่ยนก็เตือนได้ผ่าน Google Wallet
นอกจากการบันทึกและเข้าถึงบัตรชำระเงินแล้ว การเพิ่มบอร์ดดิ้งพาสของสายการบินแอร์เอเชียลงใน Google Wallet ยังทำให้เจ้าของตั๋วเครื่องบินได้รับการแจ้งเตือนหากเวลาออกเดินทาง และประตูขึ้นเครื่อง มีการเปลี่ยนแปลง โดยสามารถแสดงตั๋วที่อยู่ใน Google Wallet แล้วผ่านประตูขึ้นเครื่องที่สนามบินได้อย่างสะดวกรวดเร็วด้วย
5. หากโทรศัพท์ที่ติดตั้ง Google Wallet หายต้องทำอย่างไร
หากโทรศัพท์สูญหายหรือถูกขโมย เจ้าของสามารถใช้ฟังก์ชัน “หาอุปกรณ์ของฉัน” (Find My Device) เพื่อล็อกอุปกรณ์นั้นโดยทันทีได้จากทุกที่ ตั้งรหัสผ่านใหม่เพื่อความปลอดภัย หรือแม้แต่ลบข้อมูลส่วนตัวและรายละเอียดเกี่ยวกับบัตรชำระเงินทั้งหมดที่อยู่ในอุปกรณ์นั้นได้เลยทันที โดยสามารถศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ myactivity.google.com/product/wallet
ปัจจุบัน Google Wallet ยังรองรับการเป็นกุญแจรถยนต์ดิจิทัลได้ด้วย แต่รองรับแค่ในรถยนต์บางรุ่นเท่านั้น โดยหากตั้งค่าเรียบร้อยแล้ว ผู้ใช้งานจะสามารถล็อก ปลดล็อก หรือสตาร์ทรถได้ด้วยโทรศัพท์แอนดรอยด์เลยทีเดียว นอกจากนั้นในบางประเทศมีการผนวกบัตรนักศึกษาเข้าไปใน Google Wallet ด้วยเช่นกัน (สหรัฐอเมริกา – แคนาดา – ออสเตรเลีย) ทำให้นักศึกษาในมหาวิทยาลัยที่รองรับระบบดังกล่าว สามารถชำระค่าสินค้า และบริการในมหาวิทยาลัยผ่าน Google Wallet ได้โดยตรง เช่น ซื้ออาหาร จ่ายเงินค่าเครื่องซักผ้าหยอดเหรียญ ซื้อหนังสือ ฯลฯ