หลายครั้งที่การตัดสินใจซื้ออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์สักชิ้นอาจทำให้เรารู้สึกผิดที่ต้องสร้างขยะอิเล็กทรอนิกส์ขึ้นมาบนโลก โดยเฉพาะชิ้นส่วนเล็ก ๆ อย่างชิปที่ย่อยสลายได้ไม่ง่ายนัก ด้วยเหตุนี้ จึงมีนักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัย Johannes Kepler ในออสเตรียหาวิธีทำให้ชิปคอมพิวเตอร์กลายเป็นชิ้นส่วนที่ย่อยสลายได้ง่ายมากขึ้น ด้วยการนำวัสดุทางเลือกอย่างเห็ดหลินจือมาใช้ในการผลิตแทนโพลีเมอร์
การนำเนื้อเยื่อของเห็ดหลินจือ มาเป็นส่วนประกอบของชิปคอมพิวเตอร์ที่นักวิทยาศาสตร์กลุ่มนี้ค้นพบ มีการตีพิมพ์ในวารสาร Science Advances โดยระบุว่า เห็ดหลินจือ (หรือชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Ganoderma lucidum) ที่เติบโตขึ้นมาบนกิ่งไม้ผุ ๆ นั้นจะมีการพัฒนาเลเยอร์ชั้นนอกขึ้นเพื่อปกป้องไมซีเลียมจากแบคทีเรียและเชื้อราอื่น ๆ
สิ่งที่นักวิทยาศาสตร์พบในขั้นต่อมาก็คือ หากนำเนื้อเยื่อดังกล่าวของเห็ดหลินจือมาทำให้แห้ง มันจะกลายเป็นวัสดุที่มีความยืดหยุ่น สามารถดัดให้โค้งงอได้ (ทนทานต่อการดัดมากกว่า 2,000 ครั้ง) และมีความบางไม่ต่างจากกระดาษ อีกทั้งยังสามารถทนความร้อนได้ดี จึงสามารถนำมาใช้เป็นส่วนประกอบของการผลิตชิปคอมพิวเตอร์ได้ (ในการทดสอบพบว่า วัสดุดังกล่าวสามารถทนความร้อนได้มากกว่า 390 องศาฟาร์เรนไฮน์ หรือประมาณ 198 องศาเซลเซียส)
นอกจากนั้น ทางทีมนักวิทยาศาสตร์ยังทดลองสร้างแผงวงจรลงบนวัสดุดังกล่าว และพบว่ามันสามารถทำงานได้ไม่ต่างจากการสร้างแผงวงจรบนโพลิเมอร์ ซึ่งหากสามารถพัฒนาให้ใช้งานได้ในเชิงพาณิชย์ คาดว่าจะช่วยลดปัญหาขยะอิเล็กทรอนิกส์ให้กับโลกได้อีกมากในอนาคต
ทั้งนี้ คุณสมบัติที่สำคัญที่สุดของวัสดุตัวใหม่นี้ก็คือ ความสามารถในการย่อยสลายในดินภายในสองสัปดาห์ ในทางกลับกัน หากตัววัสดุไม่ได้สัมผัสกับแสง UV เลย ก็อาจอยู่ได้หลายร้อยปีเลยทีเดียว