มีหลายครั้งที่การรอความช่วยเหลือทำให้ชีวิตตกอยู่ในความเสี่ยง ไม่ว่าจะเป็นนักปีนเขาที่ได้รับบาดเจ็บ นักเดินป่าที่หลงทาง ฯลฯ โดยพวกเขาเหล่านั้นอาจขาดทั้งน้ำและอาหาร และการรอคอยทีมช่วยเหลือก็อาจไม่สามารถทำได้ไวเท่าใจคิด ด้วยเหตุนี้ จึงมีนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีในสวิตเซอร์แลนด์พัฒนา “โดรนกินได้” หรือก็คือโดรนที่สามารถนำอาหารไปส่งให้กับใครก็ตามที่ตกอยู่ในสถานการณ์ฉุกเฉินให้สามารถมีอาหารประทังชีวิตได้ก่อนที่ทีมช่วยเหลือจะเข้าไปถึง
แต่สำหรับใครที่กำลังนึกภาพโดรนตัวใหญ่ ๆ บินเข้าไปช่วยเหลือ ก็ขอบอกว่าไม่ใช่ เพราะทีมวิจัยจาก the Swiss Federal Institute of Technology in Lausanne (EPFL) ได้เลือกพัฒนาโดรนตัวจิ๋วที่มีปีกสองข้างทำจากข้าวเกรียบมาตัดแต่งให้เป็นรูปหกเหลี่ยม และเชื่อมด้วยเจลาติน มันจึงกลายเป็นโดรนที่มีน้ำหนักเบา และสามารถเข้าช่วยเหลือคนที่ตกอยู่ในสถานการณ์ยากลำบากให้มีอาหารประทังชีวิต ก่อนที่ทีมช่วยเหลือจะเข้าไปถึงได้นั่นเอง
ทั้งนี้ ส่วนสำคัญอย่างปีกข้าวเกรียบนั้น นักวิจัยเผยว่า สามารถให้พลังงานได้ประมาณ 300 กิโลแคลอรี่ และสามารถบรรทุกน้ำได้ 80 กรัมด้วย
ความพิเศษอีกข้อของโดรนชนิดนี้ก็คือ ในกรณีที่ต้องทิ้งโดรนเอาไว้ในธรรมชาติ ไม่สามารถเก็บกลับมาด้วยได้ การมีชิ้นส่วนอย่างปีกที่สามารถกินได้ ทำให้ตัวโดรนสร้างขยะน้อยกว่าอุปกรณ์ช่วยเหลือประเภทอื่น ๆ นั่นเอง
แน่นอนว่าโดรนดังกล่าวยังต้องผ่านการพัฒนาอีกมาก จึงจะสามารถใช้งานในสถานการณ์จริงได้ หรืออย่างน้อยมันก็ต้องบินได้แกร่งพอที่จะต้านทานลมแรง ในกรณีที่ต้องเข้าไปช่วยเหลือคนที่ติดอยู่ในภูเขาจริง ๆ ได้เสียก่อน (ทีมวิจัยมีการเผยคลิปวิดีโอการบินของโดรออกมาพบว่าโดรนดังกล่าวสามารถบินได้ดีในสภาพอากาศปกติ)