จากเดิม เมื่อเอ่ยถึงแบรนด์จากญี่ปุ่น หลายคนคงนึกภาพของเครื่องใช้ไฟฟ้า – อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ขึ้นมาเป็นอันดับแรก ๆ แต่ว่า ความท้าทายของธุรกิจเหล่านั้นก็คือการถูกแบรนด์เครื่องใช้ไฟฟ้าสัญชาติจีน – เกาหลีใต้เข้ามาแย่งชิงส่วนแบ่งตลาดมากขึ้นเรื่อย ๆ และทำให้การต่อสู้ของแบรนด์ญี่ปุ่นเพื่อให้ยังมีที่ยืนบนสมรภูมิโลกในยุคต่อไป อาจต้องขยายตัวเองไปสู่ธุรกิจ “หุ่นยนต์” แล้วก็เป็นได้
เหตุที่ต้องขยายตัวไปสู่ธุรกิจใหม่ที่มีความซับซ้อนมากกว่าอย่างหุ่นยนต์นั้น ส่วนหนึ่งมาจากผลการสำรวจของหลาย ๆ แบรนด์ที่พบว่า พวกเขาเป็นที่รู้จักในหมู่คนญี่ปุ่นรุ่นใหม่น้อยลงทุกที ยกตัวอย่างเช่น พานาโซนิค (Panasonic) ที่ชาว Gen X หรือชาว Gen Y รู้จักกันดีนั้น มีรายงานจาก Nikkei Asian Review ระบุว่า ในหมู่คนญี่ปุ่นที่มีอายุไม่เกิน 29 ปี พบว่ามีเพียง 53% ที่รู้จักพานาโซนิค
ด้วยเหตุนี้ พานาโซนิคจึงมีการปรับกลยุทธ์ด้วยการเตรียมเปิดตัวสินค้าใหม่ในกลุ่ม “หุ่นยนต์” เพิ่มเข้ามาเป็นทางเลือก นั่นก็คือ “นิโคโบ” (Nicobo) หุ่นยนต์ขนฟูรูปร่างกลม และมีหาง ที่เคยเปิดตัวไปเมื่อปีก่อนในแคมเปญ Crowdfunding โดยรอบนี้ พานาโซนิคบอกว่าจะเลือกเจาะกลุ่มคนที่อาศัยอยู่ตามลำพัง หรือผู้สูงอายุที่อยากมีเพื่อนคุยในวัยชราเป็นหลัก
ทำไมต้องใช้หุ่นยนต์
ส่วนหนึ่งเพราะนิโคโบประสบความสำเร็จอย่างมากเมื่อตอนที่พานาโซนิคเปิดตัวมันในแคมเปญ Crowdfunding เพราะบริษัทสามารถขายนิโคโบได้มากถึง 320 ตัวในเวลาไม่ถึง 7 ชั่วโมง (ในตอนนั้นจำหน่ายที่ราคาตัวละ 39,800 เยน) ส่วนแผนการเปิดตัวนิโคโบอย่างจริงจัง เป็นไปได้ว่าอาจมีราคาที่ถูกกว่าเดิม เนื่องจากมองว่าจะทำให้เอาชนะคู่แข่งในตลาดอย่าง สุนัขหุ่นยนต์ Aibo ของโซนี่ (Sony) หรือ Robohon สมาร์ทโฟนหุ่นยนต์จากชาร์ป (Sharp) ได้ดีกว่า (ทั้ง Aibo และ Robohon มีราคาหลักแสนเยนขึ้นไปทั้งสิ้น)
ทั้งนี้ คาดว่าบริการหุ่นยนต์นิโคโบจะเริ่มทำตลาดภายในฤดูใบไม้ผลิปีหน้า โดยมาพร้อมค่าบริการรายเดือน (Subscription Service) และลูกค้าสามารถเก็บข้อมูลใบหน้า – บทสนทนาที่เกิดขึ้นไว้บนคลาวด์ได้ด้วย