“สุกี้ตี๋น้อย” ธุรกิจที่ก่อตั้งในปี 2562 โดย คุณเฟิร์น นัทธมน พิศาลกิจวนิช เพิ่งปิดดีลอย่างเป็นทางการ ได้กลุ่มทุนใหญ่อย่าง JMART เข้ามาถือหุ้นสัดส่วน 30% คิดเป็นเงินลงทุน 1,200 ล้านบาท นั่นทำให้กิจการสุกี้ตี๋น้อย มีมูลค่ารวม 4,000 ล้านบาท
เส้นทางการสร้างธุรกิจของ คุณเฟิร์น นัทธมน พิศาลกิจวนิช กรรมการผู้จัดการ บริษัท บี เอ็น เอ็น เรสเตอรองท์ กรุ๊ป จำกัด (BNN) ใช้เวลาเพียง 4 ปี สร้างแบรนด์ “สุกี้ตี๋น้อย” ให้เป็นที่รู้จักในตลาดสุกี้ ที่มีหลากหลายแบรนด์รวมทั้งเจ้าตลาด MK อายุ 36 ปี มีกว่า 425 สาขายึดตลาดอยู่ก่อนแล้ว
ด้วยความที่ยังไม่เคยทำธุรกิจมาก่อน จึงกล้าที่จะตัดสินใจทำร้านสุกี้ตี๋น้อยในวัย 25 ปี เพราะไม่ติดยึดอยู่กับกรอบใดๆ
สิ่งสำคัญที่เลือกทำร้านสุกี้ เพราะเห็นช่องว่างในตลาด ทั้งรูปแบบบุฟเฟ่ต์และราคา value for money 199 บาท (ปัจจุบันราคา 219 บาท) เพื่อจับตลาดแมส ทำให้ “สุกี้ตี๋น้อย” กลายเป็นหนึ่งในแบรนด์ร้านอาหารที่ประสบความสำเร็จอย่างรวดเร็ว ลูกค้าต่อคิวใช้บริการแน่นทุกสาขา
ตามดูจุดเริ่มต้นของ “สุกี้ตี๋น้อย” และเป้าหมายหลังจากได้ทุนใหญ่ JMART เข้ามาร่วมถือหุ้น
เริ่มต้นด้วย Passion อยากเป็นเจ้าของธุรกิจ
หลังจากจบการศึกษาปริญญาตรีและปริญญาโทจากต่างประเทศ “คุณเฟิร์น นัทธมน” เริ่มต้นชีวิตทำงานออฟฟิศ เป็นงานที่ดูแลแบรนด์ลักชัวรี่ นำเข้าจากต่างประเทศ หลังจากทำงานอยู่ 3 ปี แม้เป็นงานที่สนุก แต่ก็รู้สึกว่าอยู่ใน Comfort Zone ตื่นเช้ามาเริ่มไม่อยากไปทำงานอีกแล้วจึงตัดสินใจ “ลาออก”
ตอนนั้นมี Passion “ต้องการมีธุรกิจเป็นของตัวเอง” แต่ก็มองว่าตัวเองไม่ได้เก่งอะไรเป็นพิเศษ จึงปรึกษาครอบครัวที่ทำร้านอาหาร “เรือนปั้นหยา” เป็นร้านอาหารไทย มีทั้งครัวไทย ครัวฝรั่ง มีเมนูหลากหลาย แต่โจทย์ใหญ่ของร้านอาหารที่มีเมนูจำนวนมาก คือไม่สามารถทำอาหารให้รสชาติเหมือนกันได้ทุกสาขา มองว่าเป็นข้อจำกัดการเติบโต
คุณเฟิร์น นำประสบการณ์จากครอบครัวมาเรียนรู้แนวทางสร้างธุรกิจของตัวเอง โดยตั้งใจทำ “ร้านอาหาร” แต่มีโจทย์ว่าต้องขยายสาขาได้ทั่วประเทศ ควบคุมมาตรฐานทั้งคุณภาพอาหาร รสชาติ และบริการได้เหมือนกันทุกสาขา และสามารถเติบโตเป็นธุรกิจขนาดใหญ่ได้ จึงเลือกทำร้านสุกี้ชาบู และก่อตั้ง “สุกี้ตี๋น้อย” ในปี 2562
“Passion ของเฟิร์น ไม่ใช่การทำอาหาร แต่อยากมีธุรกิจเป็นของตัวเอง สิ่งที่ชอบคือการบริหารและการแก้ไขปัญหา เพื่อทำให้ธุรกิจเติบโตได้มากที่สุด”
การเลือกเปิดร้านบุฟเฟ่ต์สุกี้ เกิดจากเห็นช่องว่างในตลาด ยังไม่มีร้านราคา 199 บาท มองว่าทำไมผู้บริโภคถึงไม่ได้ใช้บริการร้านอาหารในราคานี้ ที่บรรยากาศเทียบได้กับร้านในห้างหรือภัตตาคาร เมื่อวางราคาไว้ที่ 199 บาทแล้ว จากนั้นก็นำข้อดีของร้านอาหารทั่วไป ไม่ว่า สตรีทฟู้ด บรรยากาศเหมือนในห้าง ภัตตาคาร มาพัฒนาเป็นร้านสุกี้ตี๋น้อย
“สุกี้ตี๋น้อย” สาขาแรกย่านบางเขน เป็นตึกเช่าของครอบครัว เมื่อห้องเช่าว่างลงจึงนำมาเริ่มธุรกิจร้านสุกี้ตี๋น้อย เพราะไม่ต้องลงทุนมาก สาขาแรกยังไม่ talk of the town
ต่อมาเปิดสาขา 2 ใช้คลับเก่ามารีโนเวทใหม่ จึงเป็นสถานที่ขนาดใหญ่ มีพื้นที่กว้าง เพดานสูง มีโต๊ะอาหารจำนวนมาก ที่จอดรถกว้างขวาง ตกแต่งบรรยากาศหรูไม่ต่างจากร้านอาหารในห้าง แต่ราคาบุฟเฟ่ต์ 199 บาท เปิดบริการตั้งแต่ 12.00 น. ถึง 5.00 น.
เมื่อเปิดโมเดลสาขาใหญ่ ตกแต่งร้านสวยงาม เริ่มมีคนมารีวิวมากขึ้น ทำให้สุกี้ตี๋น้อยเป็น talk of the town และขยายสาขาได้อย่างรวดเร็ว
“สุกี้ตี๋น้อย” สร้างความแตกต่างได้อย่างไร
“สุกี้ตี๋น้อย” ถือเป็นแบรนด์ร้านอาหารน้องใหม่อยู่ในตลาดที่แข่งขันรุนแรง แต่ประสบความสำเร็จอย่างรวดเร็ว สะท้อนได้จากผลประกอบการ
– ปี 2562 รายได้ 499 ล้านบาท กำไร 15 ล้านบาท
– ปี 2563 รายได้ 1,223 ล้านบาท กำไร 140 ล้านบาท
– ปี 2564 รายได้ 1,572 ล้านบาท กำไร 148 ล้านบาท
ความแตกต่างของ “สุกี้ตี๋น้อย” มาจาก “ราคา” ที่ใครๆ ก็จับต้องได้ เพื่อเจาะตลาดประชากรส่วนใหญ่ของประเทศ ด้วยบุฟเฟ่ต์ราคา 199 บาท บรรยากาศของร้านและบริการต้องการทำให้ลูกค้ารู้สึกเหมือนได้บริการจากร้านอาหารในห้างหรือภัตตาคาร
“เวลาแตกต่าง” สุกี้ตี๋น้อย เปิดบริการ 12.00 น. ถึง 5.00 น. เป็นความตั้งใจจับลูกค้ากลุ่มแมส ที่ไม่ได้ทำงาน 8.00 น. เลิกงาน 17.00 น. เท่านั้น เพราะมีคนอีกจำนวนมากทำงานเป็นกะ เลิกงานค่ำหรือดึก ไม่ว่าจะเป็น พนักงานห้างเลิก 22.00 น. บุคลากรในโรงพยาบาลที่ทำงาน 24 ชั่วโมง และอีกหลากหลายอาชีพ เพื่อให้ทุกกลุ่มมีเวลารับประทานที่สะดวกได้เหมือนกัน
“บรรยากาศร้าน” ร้านสุกี้ตี๋น้อย รูปแบบสแตนด์อโลน มีที่จอดรถจำนวนมาก การตกแต่งร้านเทียบได้กับร้านที่อยู่ในห้าง
“หลักคิดการทำร้านอาหารของ เฟิร์น เริ่มต้นจากต้องการมอบสิ่งดีๆ ให้ลูกค้าในราคาที่ไม่ต้องคิดมาก น่าจะเป็นจุดแตกต่างจากร้านสุกี้อื่นๆ และทำให้แบรนด์สุกี้ตี๋น้อยรู้จักอย่างรวดเร็ว”
เป้าหมายหลังจากมี JMART เป็นพันธมิตร
ปัจจุบันสุกี้ตี๋น้อย มี 42 สาขา ในกรุงเทพฯ และปริมณฑล หลังจากมี JMART เข้ามาร่วมเป็นพันธมิตรถือหุ้น 30% ถือเป็น Strategic Partner ที่จะสร้างการเติบโตร่วมกัน โดยมีเป้าหมายนำบริษัท BNN เจ้าของสุกี้ตี๋น้อย เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ภายใน 2-3 ปีจากนี้
คุณเฟิร์น บอกว่าสิ่งที่จะโฟกัสหลังจากนี้ คือขยายสาขาในต่างจังหวัดมากขึ้น เป้าหมายสุกี้ตี๋น้อยต้องการไปทั่วประเทศ รวมทั้งประเทศเพื่อนบ้านด้วย
ตอนนี้ได้รับการติดต่อจากเจ้าของสถานที่ทั้งห้างใหญ่ คอมมูนิตี้มอลล์ ให้ไปเปิดสาขา ปี 2566 วางแผนขยายสาขาเพิ่มอีก 10 สาขา หากเป็นร้านรูปแบบสแตนด์อโลน ใช้เงินลงทุนเฉลี่ยสาขาละ 15 ล้านบาท พื้นที่ขนาด 600-700 ตารางเมตร
“มีลูกค้าส่งคอมเมนต์มาทางโซเชียลมีเดีย อยากให้สุกี้ตี๋น้อยไปเปิดที่จังหวัดนั้นจังหวัดนี้ เป็นเรื่องที่ดีใจมาก ที่แบรนด์เรานอกจากกรุงเทพฯ แล้วยังมีคนพูดถึงในจังหวัดต่างๆ ปีหน้ามีหลายจังหวัดที่เราเตรียมไปเปิด”
“สุกี้ตี๋น้อย” เป็นแบรนด์ร้านอาหารภายใต้บริษัท บี เอ็น เอ็น เรสเตอรองท์ กรุ๊ป จำกัด (BNN) ด้วยชื่อบริษัท “บีเอ็นเอ็น” เป้าหมายคือต้องการเป็นกลุ่มธุรกิจร้านอาหาร (Restaurant Group) อยากเป็นบริษัทที่มีพอร์ตโฟลิโอธุรกิจร้านอาหารหลากหลายประเภท หลายแบรนด์ ไม่ใช่แต่สุกี้ตี๋น้อย
ในอนาคต “บีเอ็นเอ็น” อาจจะมีอีกหลากหลายแบรนด์ ไม่ว่าจะเป็นการซื้อกิจการ, M&A และสร้างแบรนด์เอง
หลักคิดการทำธุรกิจร้านอาหารของคุณเฟิร์น ที่เริ่มจาก “สุกี้ตี๋น้อย” มีคอนเซ็ปต์หลักๆ อยู่ 3 เรื่อง คือ value for money คุ้มค่าที่ลูกค้าจ่าย, คุณภาพอาหารที่ดีมีมาตรฐานเหมือนกันทุกสาขา และบริการที่ดี ดังนั้นการลงทุนแบรนด์ใหม่ๆ ในธุรกิจร้านอาหาร ก็จะใช้ 3 เรื่องนี้ในการตัดสินใจ
อีกเป้าหมายสำคัญของคุณเฟิร์น คือ การนำบริษัท BNN เข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ หลังจาก JMART เข้ามาเป็นพาร์ทเนอร์แล้ว ตอนนี้กำลังพัฒนาระบบทั้งหมด ด้วยการนำเทคโนโลยีระบบ CRM และการบริหารจัดการภายในมาเสริมประสิทธิภาพการทำงาน เพื่อยกระดับความเป็นมืออาชีพ ทำให้ธุรกิจร้านอาหารอยู่ได้ยาวนานและยั่งยืน
“หากเข้าตลาดฯ ได้ ถือเป็นโบบัสในการทำธุรกิจ แต่สิ่งที่สำคัญมากกว่า คือ เปลี่ยนจาก Family Business มาบริหารอย่างมืออาชีพ เราไม่ได้ทำแค่ สุกี้ตี๋น้อย ในอนาคตจะขยายอีกหลากหลายแบรนด์ ทั้งซื้อกิจการ M&A และสร้างแบรนด์เอง เราเห็นโอกาสเต็มไปหมด”
ธุรกิจของ “บีเอ็นเอ็น” เริ่มต้นด้วยร้านอาหาร “สุกี้ตี๋น้อย” ที่ไม่ได้ขายแค่โปรดักท์ แต่ขายการบริการด้วย จึงไม่ใช่แค่ธุรกิจ F&B แต่คือ Hospitality สิ่งที่เป็นความท้าทายคือการเทรนนิ่งพนักงานที่มีกว่า 4,000 คน เพื่อให้บริการด้วยมาตรฐานเดียวกัน มีใจในการทำงานบริการให้ดีขึ้นในทุกๆ วัน
“พนักงาน” ทุกคนสามารถทำหน้าที่เป็น “มาร์เก็ตติ้ง” ให้แบรนด์ได้ เพราะเป็นคนที่ต้องพูดคุยกับลูกค้า ดังนั้นไม่ว่าเราจะทำการตลาดผ่านสื่อโซเชียลมากแค่ไหน แต่ลูกค้าคือคนที่จะบอกต่อเรื่องราวการใช้บริการ หากบอกต่อในมุมดีๆ ก็จะทำให้มีคนมาใช้บริการต่อเนื่อง การที่ลูกค้าจะบอกต่อหรือไม่อยู่ที่ประสบการณ์หน้าร้านต้องดี และพนักงานคือหัวใจสำคัญ
แม้วันนี้เรื่องราวของ “สุกี้ตี๋น้อย” ที่ก่อตั้งโดย คุณเฟิร์น นัทธมน สามารถสร้างมูลค่ากิจการได้สูงถึง 4,000 ล้านบาท ในระยะเวลา 4 ปี ธุรกิจทำกำไรตั้งแต่ปีแรกที่ก่อตั้ง แบรนด์ได้รับความนิยมจากผู้บริโภค
แต่คุณเฟิร์นก็ย้ำว่า “สุกี้ตี๋น้อยมาถึงวันนี้ได้ เป็นสิ่งที่เกินความคาดหมายอย่างมาก ไม่ใช่แค่บริษัทที่เติบโตมาก แต่เฟิร์นเองก็โตขึ้นมากด้วย แม้แบรนด์ถือว่าประสบความสำเร็จ จากการเป็น top of mind ของลูกค้า แต่ เฟิร์น ยังไม่มองว่าตัวเองประสบความสำเร็จ ต้องพัฒนาต่อไปเรื่อยๆ และมีสิ่งที่ต้องทำอีกเยอะ”
“สุกี้ตี๋น้อย” ไม่ใช่แบรนด์ที่ประสบความสำเร็จแล้วจะอยู่เฉยๆ ไม่ทำอะไร แต่แบรนด์ยังต้องไปต่ออีกไกล แม้กระแสความนิยมที่ได้รับในวันนี้ อาจมีวันลดลงได้ แต่นั่นก็เป็นความท้าทายของผู้บริหาร ที่ต้องทำไม่ให้สิ่งนั้นเกิดขึ้น
อ่านเพิ่มเติม