“Specialised Expo 2028” นอกจากจะเป็นงาน Expo ระดับโลกแล้ว ยังเป็นหนึ่งในเครื่องยนต์สำคัญที่จะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศให้กลับมาฟื้นตัวและเติบโตอย่างยั่งยืนในระยะยาว เพราะหากไทยสามารถคว้าสิทธิ์เป็นเจ้าภาพจัดงาน Expo ระดับโลกนี้ได้ จะช่วยสร้างรายได้เข้าประเทศมากถึง 4.9 หมื่นล้านบาท ทั้งยังจะเป็นใบเบิกทางสำคัญดันไทยก้าวสู่ศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติ (Medical Hub) อีกด้วย ซึ่งจากวันแรกที่ริเริ่มแนวคิดโครงการ ถึงตอนนี้โปรเจ็กต์นี้ได้นำเสนอความพร้อมของประเทศไทยในการเป็นเจ้าภาพจัดงานรอบที่ 2 (2nd Country Presentation) ต่อคณะกรรมการ Bureau of International Exposition (BIE) และ 170 ประเทศสมาชิกทั่วโลกไปแล้วเมื่อปลายเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา ก่อนจะเข้าสู่การลงคะแนนเสียงในเดือนมิถุนายน 2566 นี้
“ไทย” ย้ำความพร้อมทุกมิติ
สำหรับการนำเสนอ Country Presentation ในรอบที่ 2 นี้ ถือว่ามีความสำคัญมาก เพราะขั้นตอนนี้ต้องนำเสนอรายละเอียดของธีมงาน และรูปแบบการจัดงาน รวมถึงแนวทางการมีส่วนร่วมของประเทศต่างๆ ที่จะเข้ามาจัดแสดงอย่างละเอียด เพื่อให้คณะกรรมการ BIE เข้าใจและมั่นใจว่าไทยมีความพร้อมในการอำนวยความสะดวกแก่ประเทศต่างๆ การนำเสนอในครั้งนี้ คุณจิรุตถ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา ผู้อำนวยการ สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือ ทีเส็บ (TCEB) หนึ่งในผู้อยู่เบื้องหลังการขับเคลื่อนโปรเจ็กต์ใหญ่ครั้งนี้ จึงเน้นย้ำความพร้อมในการเสนอตัวเป็นเจ้าภาพในทุกมิติ ตั้งแต่การสร้างความเชื่อมั่นในนามรัฐบาลไทย ผ่านวีดิทัศน์นำเสนอสาส์นจากนายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่ย้ำความพร้อมของไทยในการเป็นเวทีโลก (International Platform) ประเทศไทยพร้อมสร้างความร่วมมือเพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ (UNSDGs) ซึ่งสอดคล้องกับ BCG Model ผ่านการจัดงาน Expo 2028 Phuket Thailand
ขณะเดียวกัน ยังสร้างความเชื่อมั่นว่า การจัดงาน Expo 2028 Phuket Thailand ที่จังหวัดภูเก็ต จะสร้างประโยชน์อย่างเป็นรูปธรรมแก่ประชาคมโลก โดยเฉพาะการเป็นเวทีสร้างการเปลี่ยนแปลง ความร่วมมือระดับนโยบาย และสร้างแรงบันดาลใจให้กับคนรุ่นใหม่ และหากไทยได้รับเลือกให้เป็นเจ้าภาพการจัดงาน ไทยจะเป็นเวทีในการสร้างดัชนีชี้วัดมาตรฐานคุณภาพชีวิตที่อยู่ร่วมกันอย่างสมดุล (Harmony Index) และขับเคลื่อนแนวคิดการดูแลโลกอย่างยั่งยืน ผ่านแคมเปญหลัก คือ Planet Care Practice และ Nature First Mindset เพื่อนำไปสู่การบริโภคและการผลิตอย่างยั่งยืน
ยังไม่หมดแค่นี้ การนำเสนอความพร้อมในการเสนอตัวเป็นเจ้าภาพในครั้งนี้ ยังได้ลงลึกในรายละเอียดของรูปแบบการจัดงานมากขึ้น โดยมาในธีม “Future of Life: Living in Harmony, Sharing Prosperity” เพื่อให้เห็นวิสัยทัศน์และเจตนารมณ์ของประเทศไทย ที่ให้ความสำคัญกับปัญหาที่ทั่วโลกเผชิญร่วมกันในทุกมิติ โดยเฉพาะเรื่อง People, Planet และ Prosperity ซึ่งเป็นปัจจัยที่จะส่งผลต่อการสร้างอนาคตที่ยั่งยืน (Sustainable Living) และให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนที่จะขับเคลื่อนแนวคิดนี้ให้เป็นจริง ตั้งแต่คนรุ่นใหม่ไปจนถึงผู้คนในชุมชนท้องถิ่น
เช่นเดียวกับแนวคิดในการออกแบบพื้นที่จัดงาน จัดขึ้นภายใต้แนวคิด “Flow of Nature” ด้วยการคงพื้นที่สีเขียวไว้ให้ได้มากที่สุด ใช้เทคโนโลยีที่เป็นมิตรกับธรรมชาติในการพัฒนาพื้นที่เป้าหมายสู่การเป็น Specialised Expo ที่เป็น Carbon Neutral Pilot Project และยังถือเป็น “The First Expo in the Forest” ที่ออกแบบการใช้พื้นที่ร่วมกันระหว่างพื้นที่ป่า สายน้ำ และทะเล ตอกย้ำการอยู่ร่วมกันตามแนวคิดของการจัดงาน ที่เป็นชีวิตแห่งอนาคต แบ่งปันความรุ่งเรือง อยู่ร่วมกันเป็นหนึ่งเดียว
คาดเงินสะพัดเฉียด 5 หมื่นล้าน จ้างงานกว่า 1 แสนตำแหน่ง
อีกหนึ่งไฮไลท์สำคัญในการนำเสนอครั้งนี้ คือ เด็กหญิงอัญช์ณฎา ลักขณา Phuket Young Ambassador อายุ 12 ปี ซึ่งเป็นผู้นำเสนอที่อายุน้อยที่สุดเป็นตัวแทนของคนรุ่นใหม่ที่ตระหนักถึงปัญหาของโลกที่เกิดขึ้น และเป็นตัวแทนในการแสดงพลังของคนรุ่นใหม่ที่จะเติบโต พร้อมขับเคลื่อนและสร้างประชาคมโลกอย่างยั่งยืนร่วมกัน
หลังจากการนำเสนอ Country Presentation ในครั้งนี้ ขั้นตอนต่อไป ซึ่งเป็นขั้นตอนสุดท้ายคือ การลงคะแนนเสียงจากประเทศสมาชิก BIE ทั้ง 170 ประเทศ ซึ่งหากประเทศไทยโดยจังหวัดภูเก็ตสามารถคว้าสิทธิ์การเป็นเจ้าภาพจัดงานได้สำเร็จ คาดว่าจะมีเงินสะพัดระหว่างการจัดงาน 49,231 ล้านบาท มีผู้เข้าร่วมงาน (Visitors) 4.92 ล้านคน มีมูลค่าเพิ่มผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) กว่า 39,357 ล้านบาท เกิดการจ้างงานได้มากกว่า 113,439 ตำแหน่ง และเกิดรายได้จากการจัดเก็บภาษีกว่า 9,512 ล้านบาท
ดังนั้น มาร่วมส่งแรงใจให้ภูเก็ตและประเทศไทยได้เป็นเจ้าภาพในการจัดงานใน Expo 2028 Phuket Thailand ไปด้วยกัน เพื่อประกาศให้โลกรู้ว่าไทยมีศักยภาพและพร้อมจะเป็นศูนย์กลางด้านสุขภาพนานาชาติ