นับจากเปิดตัว “ตู้เต่าบิน” (TAO BIN) ซึ่งนิยามตัวเองเป็น Robotic Barista ในปี 2564 ธุรกิจที่พัฒนาโดยบริษัท ฟอร์ท เวนดิ้ง จำกัด ได้กลายมาเป็น “เรือธง” สร้างการเติบโตใหม่ให้กับ FORTH Corporation เพราะเป็นธุรกิจที่มี Gross Margin 65%
“ตู้เต่าบิน” คาเฟ่อัตโนมัติ 24 ชั่วโมง คิดค้นและพัฒนาโดยคนไทย จากพลัง Synergy ของกลุ่มฟอร์ท คอร์ปอเรชั่น ได้จดสิทธิบัตรไว้แล้วถึง 35 สิทธิบัตร ณ สิ้นไตรมาส 3 ปี 2565 มีตู้เต่าบิน ติดตั้งไปแล้ว 4,300 ตู้ เป้าหมายถึงสิ้นปีนี้น่าจะอยู่ที่ 5,300-5,400 ตู้
กลุ่มฟอร์ท ยังคงเป้าหมายติดตั้ง “ตู้เต่าบิน” ทั่วประเทศในปี 2567 รวม 20,000 ตู้ ซึ่งจะสร้างยอดขาย 1 ล้านแก้วต่อวัน หรือเฉลี่ย 30-50 แก้วต่อตู้ต่อวัน รายได้อยู่ที่ 30 ล้านบาทต่อวัน และรายได้รวม 10,000 ล้านบาทต่อปี
แต่สิ่งที่ตู้เต่าบิน จะทำให้เห็นก่อนในปี 2566 คือ การนำตู้เต่าบิน ขยายสู่ต่างประเทศ เริ่มที่ มาเลเซีย อินโดนีเซีย สิงคโปร์ และ ออสเตรเลีย โดยเป็นการร่วมกับพันธมิตรในประเทศต่างๆ ด้วยโมเดลธุรกิจขายตู้เต่าบินให้ในราคาไม่แพง พร้อมรับส่วนแบ่งรายได้จากยอดขาย และร่วมเป็นผู้ถือหุ้นกับพาร์ทเนอร์ในต่างประเทศด้วย
นอกจากนี้ในปี 2566 “ฟอร์ท เวนดิ้ง” เจ้าของตู้เต่าบิน ได้เตรียมนำบริษัทเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ
เปิดที่มาตู้เต่าบิน เริ่มจากแนวคิด Convenient + Availability
เส้นทางความสำเร็จของ “ตู้เต่าบิน” คาเฟ่อัตโนมัติ 24 ชั่วโมง ใช้เวลาเพียง 2 ปี มีสาขาเกือบ 5,000 ตู้ กับเป้าหมายสร้างรายได้ 10,000 ล้านบาท ในอีก 2 ปีจากนี้
ตามดูจุดเริ่มต้นคอนเซ็ปต์ “ตู้เต่าบิน” ว่ามีที่มาอย่างไร จากเวทีเสวนา Adman 2022 ในหัวข้อ Behavior that Shifted จากคุณโทมัส มอริสัน ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายเทคโนโลยี (CTO) บริษัท ฟอร์ท เวนดิ้ง จำกัด เจ้าของ “ตู้เต่าบิน”
คุณโทมัส เล่าว่าในยุคที่เทคโนโลยีก้าวล้ำ ทำให้เกิดความสะดวกสบาย (Convenient) ในการใช้ชีวิตทุกด้าน จากนั้นพัฒนาต่ออีกขึ้นเพื่อตอบสนองความต้องการผู้บริโภคด้วย “ความพร้อมใช้งาน” หรือความมีพร้อม (Availability)
คอนเซ็ปต์ “ความสะดวกสบาย + ความมีพร้อม” จึงกลายเป็นจุดเริ่มต้นทำให้เกิดหลากหลายธุรกิจที่เติบโตในยุคนี้ อย่างเช่น Shopee Lazada Uber
“ตู้เต่าบิน” จึงพัฒนาธุรกิจจากพื้นฐาน 2 เรื่องสำคัญ คือ Convenient + Availability ใช้เทคโนโลยีมาตอบโจทย์ความสะดวกเข้าถึงได้ทุกสถานที่และพร้อมใช้ 24 ชั่วโมง หรือทุกเวลาที่ผู้บริโภคมีความต้องการเกิดขึ้น และกลายมาเป็นพื้นฐาน Position แบรนด์ “ตู้เต่าบิน” เพื่อให้บริการลูกค้า ณ เดี๋ยวนั้น ทำให้ลูกค้าเกิดความประทับใจเกินความคาดหมาย “ตู้เต่าบิน” จึงได้รับการตอบรับอย่างดีจากตลาด
บุกตลาดด้วย “กาแฟ” ชูจุดขายคุณภาพเทียบคาเฟ่ดัง ราคาร้านสะดวกซื้อ
เมนูเครื่องดื่มที่ “ตู้เต่าบิน” ใช้บุกตลาดคือ “กาแฟ” แม้ในตลาดจะมีร้านคาเฟ่จำนวนมากแล้วก็ตาม แต่ตลาดกาแฟในประเทศไทยที่มีมูลค่ากว่า 60,000 ล้านบาท ยังมีพื้นที่อีกเยอะสำหรับ “ผู้เล่นหน้าใหม่” ในการทำแบรนด์
“ตู้เต่าบิน” สร้างความต่างในตลาดกาแฟ ด้วยการเป็นคาเฟ่อัตโนมัติ 24 ชั่วโมง อยู่ใกล้ที่พักอาศัยผู้บริโภคตลอดเวลา ไม่ต้องเดินทางไปไกล ถือเป็นครั้งแรกในประเทศไทยที่ตู้ขายเครื่องดื่มอัตโนมัติ สามารถชงกาแฟด้วย “เมล็ดกาแฟสด” ที่มีคุณภาพเทียบเท่ากับร้านดังอย่าง สตาร์บัคส์ รวมทั้งการชงกาแฟสูตรพิเศษได้แบบ Cafe Hopping ในราคาครึ่งเดียว จึงกลายเป็นจุดขายในการเข้ามาตีตลาดกาแฟ
โดย “ตู้เต่าบิน” วางตัวเองเป็นเครื่องดื่มพรีเมียมในราคาที่เข้าถึงได้ (Affordable) เพราะใช้เทคโนโลยีมาช่วยลดการใช้แรงงานทำให้ต้นทุนต่ำลง และสถานที่ติดตั้งตู้เต่าบินใช้พื้นที่เพียง 1 ตารางเมตร
ดังนั้น “ตู้เต่าบิน” จึงเป็นคาเฟ่อัตโนมัติ ที่ใช้เมล็ดกาแฟสดคุณภาพเหมือนคาเฟ่ดัง แต่ราคาร้านสะดวกซื้อ
ปกติหากสินค้าราคาสูง ความต้องการของสินค้านั้นๆ ก็จะลดลง แต่การพัฒนาของเทคโนโลยีในการทำธุรกิจ ทำให้ผู้ประกอบการเสนอราคาลดลงได้ เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด ถือเป็นสิ่งที่เทคโนโลยีเข้ามาช่วยผู้ประกอบการปรับธุรกิจให้เป็นระบบอัตโนมัติมากขึ้น เพื่อทำให้อุปสงค์และอุปทานสอดคล้องกันได้
“ทุกวันนี้ตู้เต่าบินไม่ได้มองว่าใครเป็นคู่แข่งหลัก แต่โฟกัสความสะดวกสบายและความพร้อมให้บริการ เพื่อตอบโจทย์ความต้องการใหม่ๆ ของผู้บริโภคตลอดเวลา เรายังทำได้ดีมากกว่านี้อีก”
คาเฟ่อัตโนมัติกว่า 200 เมนู
ปัจจุบันตู้เต่าบิน มีเมนูเครื่องดื่มหลากหลายกว่า 200 เมนู ทั้งเครื่องดื่มร้อน เย็น ปั่น โดยสัดส่วนการขายเครื่องดื่มของตู้เต่าบิน ปัจจุบันมาจากกาแฟ 33% โซดา 20% นมและช็อคโกแลต 22% ชา 16% และอื่นๆ 9%
นอกจากความหลากหลายของเมนูเครื่องดื่ม ตู้เต่าบินยังพัฒนาโปรดักท์ตามเทรนด์สุขภาพ ด้วยส่วนผสมพรีเมียม ที่ให้ผู้บริโภคเลือกระดับความหวานได้เอง ล่าสุดแสดงข้อมูลสารอาหารและแคลอรี่เครื่องดื่มแต่ละประเภทด้วย
อีกความแตกต่างสำคัญของตู้เต่าบิน คือทำเลที่ตั้ง (Location) มีการกระจายไปทั่วประเทศไทย โดยเฉพาะในกรุงเทพฯ เข้าถึงลูกค้าจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็น คอนโด สำนักงาน สถานีรถไฟฟ้า โรงงาน โรงพยาบาล
สิ่งที่ทำให้ตู้เต่าบิน ได้รับความนิยมอย่างรวดเร็ว เป็นเพราะตู้เต่าบิน ทำได้เกินความคาดหมายของผู้บริโภค จึงกระตุ้นให้เกิดความรู้สึกอยากแชร์เรื่องราวต่างๆ ของตู้เต่าบินผ่านสื่อโซเชียลให้คนรู้จักได้รับรู้
วันนี้แค่เสิร์ชคำว่า “เต่าบิน” ก็จะเห็นคลิปวิดีโอ ที่ผู้บริโภคทำคอนเทนต์มาแชร์จำนวนมาก ทำให้แบรนด์ตู้เต่าบินเข้าถึงผู้คนจำนวนมากและเป็นที่รู้จักอย่างรวดเร็ว
การที่ “ตู้เต่าบิน” มุ่งพัฒนาโปรดักท์ให้มีประสิทธิภาพ ทำได้เกินความคาดหวังของผู้บริโภค สร้างกระแสเป็นที่รู้จักแบบ Word of mouth ผู้บริโภคบอกต่อกันเอง กระจายผ่านสื่อโซเชียล ทำให้ที่ผ่านมาตู้เต่าบินแทบไม่ใช้งบการตลาดสื่อสารแบรนด์
หลังจากสร้างแบรนด์ตู้เต่าบินให้เป็นที่รู้จักอย่างรวดเร็ว เส้นทางหลังจากนี้ยังมี “ความท้าทาย” อีกมาก เพราะหัวใจการทำธุรกิจให้ยาวนานและการทำแบรนด์ที่ดีอยู่ที่ Stability (ความมั่นคง) และ Consistency (ความสม่ำเสมอ) เห็นได้จาก “เชนร้านอาหารระดับโลก” ที่เปิดในประเทศต่างๆ ยังประสบความสำเร็จอยู่ได้ เพราะผู้บริโภครู้ว่าเมื่อใช้บริการไม่ว่าจะอยู่ที่ไหน ก็จะได้คุณภาพเหมือนกันทุกสาขา
เป้าหมายของตู้เต่าบินหลังจากนี้ยังนำเทคโนโลยีใหม่ๆ มาพัฒนาโปรดักท์อยู่ตลอดเวลา เพื่อทำให้ผู้บริโภคชอบและสนุกกับการใช้บริการตู้เต่าบิน พร้อมกับการขยายธุรกิจในต่างประเทศด้วยคุณภาพสินค้าและการให้บริการเหมือนกันในทุกประเทศ
“ในยุคที่โลกธุรกิจมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา การจะอยู่รอดได้ ต้องกล้าทำ กล้าเสี่ยง บนพื้นฐานความเข้าใจสิ่งแวดล้อมต่างๆ ทิศทางของตลาด ตู้เต่าบินตื่นตัวอยู่ตลอดเวลากับสถานการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นรอบตัว ปรับโปรดักท์ให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นตลอดเวลา”
หนึ่งในหัวใจสำคัญที่ทำให้ตู้เต่าบินยังเดินหน้าต่อไปได้ถึงปัจจุบันและในอนาคต คือ การฟังกระแสตอบรับจากผู้บริโภคตลอดเวลา เพื่อทำให้โปรดักท์ดีและตอบโจทย์ความต้องการผู้บริโภค สร้างธุรกิจให้ยั่งยืน
อ่านเพิ่มเติม
- ตามดูตัวเลข ‘ตู้เต่าบิน’ ทำกำไรได้แล้ววันละ 1 ล้านบาท เตรียมเพิ่มเครื่องดื่ม 200 เมนู
- ถอดความสำเร็จ “ตู้เต่าบิน” คาเฟ่อัตโนมัติ 24 ชั่วโมง เร่งขยาย 2 หมื่นตู้ – เล็งสร้างโรงคั่วกาแฟ – เข้าตลาดหุ้น