การเกิดขึ้นของวิกฤตโควิด-19 ประกอบกับสถานการณ์ความผันผวนต่างๆ เกิดขึ้นมากมาย ส่งผลให้พฤติกรรมและไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภคในช่วง 2 ปีกว่าที่ผ่านมาเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว สร้างความท้าทายให้ทุกธุรกิจ ต้องปรับตัวเองให้ไวอยู่ตลอดเวลา ในปี 2566 นี้ก็เช่นกัน สถานการณ์ความไม่แน่นอนยังคงอยู่ และสมรภูมิการแข่งขันยังดุเดือดขึ้นเรื่อยๆ เพื่อช่วงชิงส่วนแบ่งการตลาด ดังนั้น แค่การปรับตัวให้เร็วอย่างเดียวอาจไม่พอ แต่การเข้าใจพฤติกรรมผู้บริโภคที่กำลังเปลี่ยนไปอย่างลึกซึ้งจะเป็นอาวุธสำคัญที่ช่วยให้แบรนด์สามารถมัดใจผู้บริโภคยุคนี้ได้อยู่หมัด
“มินเทล” ผู้เชี่ยวชาญด้านการวิจัยความต้องการของผู้บริโภค ได้ฉายภาพ 5 เทรนด์ผู้บริโภคที่จะเข้ามามีบทบาทต่อตลาด และแบรนด์ในปี 2566 และอีก 5 ปีข้างหน้า ไว้อย่างน่าสนใจ เพื่อเป็นข้อมูลให้ทุกกลุ่มธุรกิจนำเทรนด์เหล่านี้ไปประยุกต์ใช้ในการวางแผนกลยุทธ์รับมือกับการเปลี่ยนแปลงของผู้บริโภคได้อย่างเท่าทัน
1.ใส่ใจตัวเองมากขึ้น
สถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 ในช่วงที่ผ่านมา ทำให้ผู้บริโภคลดความต้องการส่วนตัวลงและหันมาให้ความสำคัญด้านสาธารณสุขและความปลอดภัยของส่วนรวมมากขึ้น แต่เมื่อสถานการณ์ระบาดเริ่มคลี่คลายลง จะทำให้ผู้บริโภคเริ่มกลับมาสนใจตัวเองอีกครั้ง
“เมื่อผู้บริโภคต้องการสร้างสิ่งใหม่ให้กับตัวตนของพวกเขา แบรนด์สามารถสนับสนุนและเติมเต็มความต้องการเหล่านั้น ด้วยการส่งเสริมการเรียนรู้ทักษะและฝึกฝนความเชี่ยวชาญในด้านใหม่ๆ แต่ที่น่าสนใจคือ ความต้องการสินค้าที่เกี่ยวกับสุขภาพจิตและความเป็นอยู่ที่ดีจะเพิ่มขึ้น เพราะผู้บริโภคกำลังสำรวจและทำความเข้าใจกับสิ่งที่อาจถูกมองข้ามไป และหากมองไปไกลกว่านั้น ผู้บริโภคจะใช้เมตาเวิร์สในการสร้างตัวตนที่มีเอกลักษณ์และกลมกลืนไปกับสิ่งแวดล้อมดิจิทัลรอบๆ ตัว ซึ่งจะส่งผลให้เกิดการกระจายของตัวตนในโลกออนไลน์ และจะทำให้เกิดการเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องการคุ้มครองผู้บริโภคและข้อมูลส่วนตัว เนื่องจากข้อมูลการใช้งานดิจิทัลของผู้บริโภคมีความสำคัญและซับซ้อนมากกว่าเดิม”
2.ส่งต่อพลังให้แก่ผู้คน
ผู้บริโภคในปัจจุบันกำลังเปลี่ยนแปลงแบรนด์ด้วยเงินและเสียงของพวกเขา ซึ่งจะไม่จบแค่คำว่า “ลูกค้าเป็นฝ่ายถูกเสมอ” อีกต่อไป เพราะผู้บริโภคกำลังร่วมลงทุน สร้างสรรค์ และลงความเห็นในการตัดสินใจเพื่อเปลี่ยนแปลงไปพร้อมกันกับแบรนด์ เพื่อตอบสนองต่อความต้องการดังกล่าว แบรนด์จึงต้องรับฟังและให้ความสำคัญกับผู้บริโภคมากกว่าเดิม ควบคู่ไปกับการพัฒนานวัตกรรม
“ชุมชน NFT และ Web3 กำลังสร้างช่องทางใหม่ เพื่อรองรับการลงทุนจากผู้บริโภค เปิดโอกาสให้พวกเขาได้ร่วมเป็นเจ้าของแบรนด์ และเชื่อมตัวเองเข้ากับความสำเร็จและการเติบโตของแบรนด์ ในอนาคต แบรนด์จะมุ่งดูแลตัวตนเฉพาะของผู้บริโภคที่จงรักภักดี และตัดสินใจลงทุนในแบรนด์ ซึ่งจะทำให้เอกลักษณ์ของแบรนด์เปลี่ยนไป เป็นหน่วยธุรกิจขนาดเล็กลง ที่สามารถตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคได้ตรงจุดมากขึ้น”
3.ความเหนื่อยล้าที่มากเกินไป
จากวิกฤตที่ต้องเจอมากมายในช่วงหลายปีที่ผ่านมา รวมถึงการรับฟังข่าวสารและเรื่องราวต่างๆ ผ่านสื่อและคอนเทนต์ดิจิทัลที่มากเกินไป ไม่ว่าจะเป็น สถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 ค่าครองชีพที่สูงขึ้น วิกฤตพลังงาน ความไม่สงบทางการเมือง และวิกฤตสภาพภูมิอากาศ ส่งผลให้ผู้บริโภคเหนื่อยล้า จนเริ่มไม่สนใจเสียงรอบข้าง แต่จะสนใจเฉพาะสิ่งที่สำคัญต่อพวกเขาเท่านั้น
“การริเริ่มโครงการเพื่อการกุศลและชุมชนโดยเกิดจากการทำงานร่วมกับแบรนด์ที่สร้างแรงบันดาลใจจะมีบทบาทในการรับมือกับความเหนื่อยล้าของผู้บริโภค โดยแบรนด์สามารถสนับสนุนให้พวกเขาควบคุมชีวิตของตัวเอง และสร้างมุมมองเชิงบวกท่ามกลางวิกฤตทางการเงินที่กำลังเผชิญอยู่ ทั้งนี้ ในช่วง 5 ปีข้างหน้า คาดการณ์ว่าแบรนด์ต่างๆ จะสร้างขอบเขตและระเบียบในการเผยแพร่ข้อมูล ที่ช่วยให้ผู้บริโภคสามารถสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับทรัพยากรในด้านต่างๆ ได้ อาทิ เทคโนโลยี สุขภาพ และพื้นที่ในการพักผ่อน”
4.ให้ความสนใจกับสินค้าท้องถิ่น
เราจะเห็นความพยายามในการปกป้องทรัพยากรและสนับสนุนธุรกิจในท้องถิ่นของผู้บริโภคมากขึ้น เพราะผู้บริโภคเชื่อว่าความไม่แน่นอนที่เกิดขึ้นในทั่วทุกมุมโลกวันนี้ เป็นผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 ซึ่งการอุดหนุนผลิตภัณฑ์ท้องถิ่น เป็นวิธีที่จะช่วยให้ผู้บริโภคสามารถควบคุมการเงิน ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และต่อจิตใจ ทั้งยังได้ตอบแทนสังคมไปด้วย
“ผู้บริโภคจะสนับสนุนผู้ผลิตที่มีถิ่นกำเนิดจากท้องถิ่น รวมถึงแบรนด์ที่สนับสนุนชุมชนที่ผลิตสินค้านั้นๆ และในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า ผู้บริโภคจะมีความต้องการตรวจสอบย้อนกลับไปถึงวัตถุดิบและความโปร่งใสของแบรนด์เกี่ยวกับวิธีอนุรักษ์ทรัพยากรในท้องถิ่นมากขึ้น”
5.การจับจ่ายอย่างรอบคอบ
สภาพเศรษฐกิจที่ยากลำบาก ผนวกกับค่าครองชีพพุ่งขึ้นไม่หยุด ส่งผลให้ผู้บริโภคหันมาจับจ่ายใช้สอยอย่างระมัดระวังมากขึ้น และตัดสินใจใช้เงินอย่างชาญฉลาด โดยผู้บริโภคจะพิจารณาถึงคุณสมบัติต่างๆ เช่น ความทนทาน ความยืดหยุ่น และการใช้งานได้ยาวนาน ซึ่งเป็นปัจจัยในการเลือกซื้อสินค้าเพิ่มขึ้น เพราะพวกเขาต้องการลดการจับจ่ายใช้สอยลง
Photo Credit : NUMBER 24 – Authorized Shutterstock Partner in Thailand