หากใครเคยสงสารบรรดาเจ้าตูบที่ต้องนั่งเหงาหงอย ถูกจับผูกเชือกไว้หน้าร้านดัง รอคอยเจ้านายที่เข้าไปรับประทานอาหารกลับออกมา ในอนาคตเราอาจจะเจอภาพเหล่านี้น้อยลง เพราะมีร้านอาหารแนวใหม่ในซานฟรานซิสโก สหรัฐอเมริกาชื่อ Dogue ตัดสินใจทำร้าน Fine Dining สำหรับบรรดาเจ้าตูบโดยเฉพาะ เพื่อที่พวกมันจะได้มีช่วงเวลาดี ๆ ในการรับประทานอาหารร่วมกันกับเจ้านายโดยไม่ต้องแยกจากกันอีกต่อไป
คาเฟ่ Dogue ก่อตั้งโดยสองสามีภรรยา Rahmi Massarweh และ Alejandra ที่บอกว่าภารกิจของพวกเขาคือการเปลี่ยนแปลงชีวิตของสุนัขให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ผ่านอาหารที่มีทั้งคุณภาพและโภชนาการครบถ้วน ซึ่งเมื่อเอ่ยอย่างนี้ก็แน่นอนว่า คนสำคัญของร้าน Dogue ไม่น่าจะใช่เจ้านาย (ที่เป็นผู้จ่ายเงิน) แต่เป็นน้องหมาเสียมากกว่า
Rahmi ซึ่งเป็นเชฟอาหารฝรั่งเศสมาตลอด 20 ปี ให้เหตุผลของการยกให้บรรดาเจ้าตูบเป็นแขกคนสำคัญของร้าน Dogue ว่า เพราะเขาและภรรยารักสุนัข และเมื่อ 10 ปีที่แล้ว ทั้งคู่ได้รับสุนัขมาเลี้ยงหนึ่งตัวและตั้งชื่อว่า Grizzly อย่างไรก็ดี ในการเลี้ยง Grizzly นั้น พวกเขาพบว่า มันไม่ชอบอาหารสุนัขทั้งแบบกระป๋อง และแบบกรอบ ๆ ที่ร้านเพาะพันธุ์สุนัขแนะนำเอาเสียเลย
ด้วยความเป็นเชฟ Rahmi จึงอยากปรุงอาหารที่สุนัขชื่นชอบ และมีประโยชน์ต่อสุขภาพของพวกมันด้วยตัวเอง โดยเขาตระหนักดีว่า วัตถุดิบแต่ละประเภทนั้นจะมีช่วงเวลาที่มีคุณค่าทางโภชนาการ และสามารถนำมาปรุงให้อร่อยได้แตกต่างกัน เขาจึงอยากนำวัตถุดิบที่ได้มาในแต่ละฤดูกาลมาทำเป็นอาหารจานโปรดให้ Grizzly กิน แทนอาหารสำเร็จรูปที่มีวางขายทั่วไป และตัวอย่างเมนูที่ทางร้าน Dogue นำเสนอมีมากมาย ดังนี้
ส่วนการเสิร์ฟของร้าน Dogue พบว่า จัดวางมาในจานแบบพอดีคำ โดยมีราคาเริ่มต้นที่ 15 เหรียญสหรัฐ (ประมาณ 515 บาท) ไปจนถึงการขายในรูปแบบคอร์สที่จะมีเสิร์ฟเฉพาะในวันอาทิตย์ ด้วยราคา 75 เหรียญสหรัฐ (หรือประมาณ 2,800 บาท) ซึ่งในหนึ่งคอร์สจะมี 3 จาน
บริการเมนูอาหารสำหรับเจ้าตูบ
นอกจากทำร้านในรูปคาเฟ่สำหรับให้บริการแก่คนรักสัตว์เลี้ยงแล้ว Dogue ยังมีบริการสำหรับผู้ที่ต้องการเปลี่ยนการให้อาหารสุนัขจากอาหารสำเร็จรูปมาเป็นอาหารปรุงจากวัตถุดิบตามธรรมชาติด้วย โดย Rahmi บอกว่า เป็นการใช้วัตถุดิบระดับเดียวกับที่ทำอาหารเสิร์ฟให้กับคนในการปรุง ซึ่งเขามองว่า อาหารของเขาช่วยลดปัญหาด้านสุขภาพของสุนัขในอนาคตได้ เพราะเขาไม่ใส่สีผสมอาหาร ไม่ใส่สารปรุงแต่ง รวมถึงไม่ใช้วัตถุกันเสียใด ๆ เลยนั่นเอง
อย่างไรก็ดี ในการเปลี่ยนแปลงอาจต้องเผชิญกับความท้าทายด้วยเช่นกัน โดยในเว็บไซต์ของ Dogue มีคำแนะนำสำหรับเจ้าของสุนัขที่เปลี่ยนจากอาหารสำเร็จรูปมาเป็นอาหารสดด้วยว่า อาจเจอเหตุการณ์ เช่น ผิวสุนัขลอกเป็นขุย, อุ้งเท้าและหูระคายเคือง, ท้องเสียหรืออุจจาระเหลว, มีเมือกเคลือบอุจจาระ ฯลฯ ตามมาหลังการเปลี่ยนอาหารช่วงแรก ๆ ด้วย
“สัตว์เลี้ยง” ตลาดที่ (อาจ) เติบโตสู่หลักแสนล้านเหรียญสหรัฐ
แม้ทั้งหมดนี้จะแสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นของสองสามีภรรยาแห่งร้าน Dogue ที่ไม่ได้อยากเป็นแค่คาเฟ่สำหรับรวมพลคนรักเจ้าตูบแบบทั่วไป เพราะพวกเขาเลือกที่จะลงลึกถึงสุขภาพของสุนัข และยกให้บรรดาเพื่อนสี่ขาเหล่านี้เป็นลูกค้าคนสำคัญที่ต้องใส่ใจในสุขภาพ แต่ตลาดที่พวกเขาให้บริการอยู่ก็ถูกคาดการณ์ว่าจะเติบโตไปสู่ธุรกิจแสนล้านเหรียญสหรัฐได้เลยทีเดียว โดยข้อมูลจาก nielseniq.com ระบุว่า ในปี 2021 ผู้บริโภคใช้เงินราว 6 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐในการดูแลสัตว์เลี้ยง เพิ่มขึ้นเกือบ 15.7% เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว
สิ่งที่ NielsenIQ พบเพิ่มเติมก็คือ จำนวนผู้เลี้ยงสัตว์รายใหม่ที่เพิ่มขึ้นอย่างมากในช่วงของการเกิดโรคระบาด เมื่อบวกกับอัตราเงินเฟ้อที่สูงเป็นประวัติการณ์ในปี 2022 ทำให้การใช้จ่ายเพื่อสัตว์เลี้ยงของผู้คนเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วนั่นเอง อย่างไรก็ดี แม้ราคาอาหาร – วิตามินของบรรดาน้องหมาจะพุ่งสูงขึ้นจากเหตุเงินเฟ้อ แต่เจ้านายในสหรัฐอเมริกาก็บอกว่ายังพร้อมจ่ายให้กับน้องหมาเสมอเสียด้วย งานนี้จึงต้องบอกว่าร้าน Dogue จับตลาดได้ถูกทางจริงๆ
สอดคล้องกับเทรนด์ Pet Humanization ที่เจ้าของไม่ได้มองว่าสัตว์เลี้ยงคือสัตว์เลี้ยง แต่มองว่าเป็น เป็น “ลูก” หรือสมาชิกหนึ่งในครอบครัว ดังนั้นจึงคัดสรร อาหารและข้าวของเครื่องใช้ต่าง ๆ ให้ดี เพื่อดูแลสัตว์เลี้ยง นั่นทำให้ตลาดอาหารสัตว์เลี้ยง ทั้งน้องหมาน้องแมว เติบโตอย่างมากทั้งในสหรัฐอเมริกา เอเชีย และประเทศไทย