“ร้านขายยา” เป็นหนึ่งในธุรกิจเติบโตสูงโดยเฉพาะช่วงโควิด จากพฤติกรรมผู้คนหันมาดูแลสุขภาพมากขึ้น รวมทั้งการเข้าสู่สังคมสูงวัยของประเทศไทย การใช้จ่ายด้านเวชภัณฑ์และผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร เพื่อรักษาและดูแลสุขภาพจึงอยู่ในเทรนด์ “ขาขึ้น”
ปี 2565 ตลาดยามีมูลค่า 188,000 ล้านบาท แบ่งเป็นยาในโรงพยาบาลรัฐและเอกชน 148,500 ล้านบาท และตลาดร้านขายยา 40,000 ล้านบาท นอกจากนี้ยังมีตลาดวิตามินและผลิตภัณฑ์เสริมอาหารอีก 70,000 ล้านบาท
นั่นทำให้กลุ่มทุนใหญ่ ต่างเดินหน้าขยายธุรกิจ “ร้านขายยา” ต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็น “ซีพีออลล์” ในเครือซีพี มีร้านขายยาแบรนด์ eXta Plus เปิดให้บริการในร้านเซเว่น อีเลฟเว่น, บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ ห้างค้าปลีกในกลุ่มบีเจซี มีร้านขายยาเพรียว (Pure) และร้านสิริฟาร์มา เปิดสาขาทั้งในบิ๊กซี และสแตนด์อโลน, กลุ่มเซ็นทรัล ฟู้ด รีเทล ในเครือซีอาร์ซี เริ่มเปิดร้านขายยาแบรนด์ “ท็อปส์ แคร์” (Tops Care) ในปี 2565
กลุ่มโรงพยาบาลกรุงเทพ หรือ BDMS ลงทุนธุรกิจร้านขายยาด้วยการซื้อกิจการ “เซฟดรัก” ในปี 2557 ปัจจุบันมีสาขากว่า 100 สาขาทั่วประเทศ ในปี 2565 คอมเซเว่น (COM7) ได้ร่วมทุนกับ บริษัท รอยัล บางกอกเฮ็ลธ์แคร์ จำกัด หรือ RBH ของกลุ่ม BDMS ตั้งบริษัทร่วมทุนเพื่อทำธุรกิจร้านขายยาแบรนด์ Dr.Pharma โดยจะเปิดสาขาในห้างและสแตนด์อโลน
4 เหตุผลหนุนธุรกิจร้านขายยาโต
หากวิเคราะห์การเติบโตของธุรกิจร้านขายยา ที่กลุ่มทุนใหญ่ต่างแห่เข้ามาลงทุนต่อเนื่อง รวมทั้งการเปิดร้านขายยาของเอสเอ็มอีและชุมชน มาจาก 4 เหตุผลหลัก
1. เทรนด์ดูแลสุขภาพก่อนเจ็บป่วย โดยเฉพาะช่วงโควิดที่ผ่านมา ตลาดเวชภัณฑ์และผลิตภัณฑ์เสริมอาหารเติบโตสูง แม้หลังโควิดก็ยังขยายตัวต่อเนื่อง ปี 2565 ตลาดวิตามินและผลิตภัณฑ์เสริมอาหารมีมูลค่า 70,000 ล้านบาท ร้านขายยาก็เป็นอีกจุดจำหน่ายสินค้ากลุ่มนี้
2. การเข้าสู่สังคมสูงวัยของประเทศไทย ตั้งแต่ปี 2563 ประชากรสูงวัย (อายุ 60 ปี ขึ้นไป) มีอัตราส่วน 12.62% มากกว่าประชากรเด็กที่ 11.08% จะชัดเจนมากขึ้นในปี 2568 ที่ประชากรสูงวัย มีสัดส่วน 15.13% มากกว่าประชากรเด็กที่สัดส่วน 10.51%
เมื่อโครงสร้างประชากรไทยเปลี่ยนไป เข้าสู่สังคมสูงวัย สิ่งที่ตามมาคือ Silver Economy การใช้จ่ายในครัวเรือนที่เกี่ยวกับการดูแลสุขภาพมีสัดส่วนเพิ่มขึ้น ในปี 2554 การใช้จ่ายด้านยามีสัดส่วน 24% สำหรับปี 2563 สัดส่วนใช้จ่ายยาเพิ่มขึ้นเป็น 48% คือเกือบครึ่งของค่าใช้จ่ายเพื่อสุขภาพหมดไปกับยา
ปัจจุบันภาพรวมมูลค่าตลาดยาในประเทศไทยมีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 2 ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ คือรองจากอินโดนีเซียที่มีประชากร 200 ล้านคน ซึ่งประเทศไทยถือว่าเป็น Medical Hub มีความตื่นตัวด้านการดูแลสุขภาพ
3. ความร่วมมือภาครัฐและเอกชนผลักดันบทบาท “ร้านยาชุมชน” ซึ่งถือเป็น Big Move สำคัญ ตั้งแต่ปลายปี 2565 สปสช. ได้เพิ่มทางเลือกดูแลให้กับผู้มีสิทธิบัตรทอง กรณีเจ็บป่วยเล็กน้อย 16 กลุ่มอาการ ให้ปรึกษาเภสัชกรร้านขายยาในชุมชนและรับยาโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย โดยเฉลี่ยร้านขายยาทั่วประเทศให้บริการลูกค้าเฉลี่ย 180 ล้านครั้งต่อปี นั่นทำให้ร้านขายยาเป็นหน่วยบริการชุมชนด้านสุขภาพที่เข้าถึงคนทั่วประเทศ
4. ร้านขายยาต่างจังหวัดเติบโตสูง ส่วนหนึ่งมาจากเภสัชกรที่ทำงานในกรุงเทพฯ มาระยะหนึ่ง ส่วนใหญ่มีเป้าหมายกลับภูมิลำเนาไปเปิดร้านขายยาในต่างจังหวัด ในปี 2565 มีร้านขายยาทั่วประเทศ 18,000 ร้าน แบ่งเป็นร้านในกรุงเทพฯ จำนวน 3,953 ร้าน ต่างจังหวัด 14,314 ร้าน
PTG-จุฬารัตน์ ร่วมทุน ARINCARE แพลตฟอร์มบริหารร้านขายยา
ล่าสุด 2 กลุ่มทุนใหญ่ในตลาดหลักทรัพย์ฯ คือ บมจ. พีทีจี เอ็นเนอยี (PTG) เจ้าของสถานีบริการน้ำมัน PT และกลุ่มโรงพยาบาลจุฬารัตน์ (CHG) ได้ร่วมทุนกับ “อรินแคร์” (ARINCARE) สตาร์ทอัพผู้ให้บริการแพลตฟอร์มร้านขายยาออนไลน์สำหรับเภสัชกรและร้านขายยา หรือ e-Pharmacy platform ผ่านการระดมทุน Series B มูลค่า 4 ล้านเหรียญสหรัฐ โดย รพ.จุฬารัตน์ เข้ามาร่วมถือหุ้น 35% และ PTG 10% เพื่อลงทุนใน Health Tech
คุณธีระ กนกกาญจนรัตน์ ผู้ร่วมก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อรินแคร์ จำกัด กล่าวว่าได้ก่อตั้ง ARINCARE มาแล้ว 7 ปี ปัจจุบันเป็นเครือข่ายให้บริการแพลตฟอร์มร้านขายยาใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ครอบคลุม 77 จังหวัดทั่วประเทศ จำนวน 3,000 ร้าน ในกลุ่มร้านขายยา SME หรือประมาณ 20% ของร้านขายยาทั่วประเทศที่มีจำนวน 18,000 ร้าน
ARINCARE เป็นแพลตฟอร์มบริหารร้านขายยาออนไลน์ดูแลตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ ให้บริการ 3 เรื่องหลัก
1. Arincare เครื่องมือช่วยบริหาร คลังยา เก็บข้อมูลคนไข้ เครื่องมือจ่ายยา เป็นการสนับสนุนเภสัชกร เจ้าของร้านขายยา SME ในชุมชน เพื่อเพิ่มความสามารถทางการแข่งขันกับเชนร้านขายยารายใหญ่ เพื่อสร้างโอกาส
2. MedEx (Medical Express) การใช้เทคโนโลยีเชื่อมต่อร้านขายยากับบริษัทยา โรงงานผู้ผลิตยา ผู้ค้าส่งยา ผู้นำเข้ายา เพื่อเข้าถึงยาและเวชภัณฑ์ต่างๆ
3. MedCare บริการใหม่ Virtual Pharmacy Service ให้บริการคนไข้ โดยระบบจะเชื่อมต่อคนไข้กับเภสัชกรหรือร้านยาที่อยู่ใกล้ เพื่อปรึกษาอาการและรับยาใกล้บ้าน
ARINCARE เป็นแพลตฟอร์มบริหารร้านขายยา รายได้มาจากการให้บริการ คือ service fee จากการใช้แพลตฟอร์ม, commission fee จากบริษัทยา และการขายสินค้า
แนวโน้มธุรกิจร้านขายยาก่อนโควิด ปี 2562 มีมูลค่า 35,000 ล้านบาท เติบโตเฉลี่ย 7% แต่มูลค่าตลาดที่เกี่ยวกับเทรนด์สุขภาพเติบโตอย่างมากหลังโควิด เชื่อว่าจะยังเติบโตต่อเนื่องเฉลี่ยปีละ 13-17% ในปี 2565 ร้านขายยามีมูลค่าราว 40,000 ล้านบาท เพราะคนไทยให้ความสำคัญกับการดูแลสุขภาพเพิ่มขึ้น
ในปี 2565 ธุรกิจ ARINCARE เติบโต 100% หลังจากมีพันธมิตร PTG และ รพ.จุฬารัตน์ เข้ามาร่วมลงทุนและถือหุ้นด้วย จะช่วยขยายการให้บริการแพลตฟอร์มร้านยาชุมชนบนเครือข่าย ARINCARE เพิ่มขึ้น โดยวางเป้าหมายปี 2569 เพิ่มขึ้นเท่าตัว จาก 3,000 ร้าน เป็น 6,000 ร้าน พร้อมเดินหน้าเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์
นพ.กำพล พลัสสินทร์ ประธานกรรมการบริหาร กลุ่มโรงพยาบาลจุฬารัตน์ (CHG) กล่าวว่าการลงทุนในสตาร์ทอัพ ARINCARE จะเข้ามาช่วยเสริมความแข็งแกร่งให้แพลตฟอร์ม โดยทีมแพทย์ของ รพ.จุฬารัตน์ พร้อมให้คำปรึกษากับเภสัชกรในร้านยาชุมชนบนเครือข่าย ARINCARE เพื่อสร้างความมั่นใจในการจ่ายยา หรือปรึกษาเมื่อคนไข้มีปัญหาเรื่องการใช้ยา
นอกจากนี้จะใช้เทคโนโลยีที่อยู่บนแพลตฟอร์ม ARINCARE โดยเฉพาะระบบ e-prescription ซึ่งเป็นการแชร์ข้อมูลของผู้ป่วยให้กับบุคลากรทางการแพทย์ของ รพ.จุฬารัตน์ เพื่อการดูแลรักษาต่อเนื่อง โดยนำเทคโนโลยี AI เข้ามาช่วยประมวลผลการวินิจฉัยให้รวดเร็วและมีประสิทธิภาพมากขึ้น เพื่อช่วยดูแลผู้ป่วยในพื้นที่ห่างไกลให้สามารถเข้าถึงการรักษาและรับยาได้สะดวก ลดปัญหาการใช้ใบสั่งยาที่คลาดเคลื่อน รวมถึงติดตามผลการรักษาผู้ป่วยหลังจากรับยาไปแล้ว หากมีกรณีฉุกเฉินสามารถส่งต่อมารักษาที่ รพ.จุฬารัตน์ได้
คุณพิทักษ์ รัชกิจประการ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท พีทีจี เอ็นเนอยี จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า PTG คือ Service Station มีทั้งสถานีบริการน้ำมัน PT และธุรกิจ Non-oil ร้านกาแฟพันธุ์ไทย ที่มีเครือข่าย touch point รวมกว่า 3,000 จุด เข้าถึงคนไทยได้ทุกพื้นที่ ทุกชุมชน ลงลึกระดับตำบล นอกจากนี้ยังมี MaxCard ซึ่งมีผู้ถือบัตรกว่า 19 ล้านใบ ถือเป็นเครือข่ายที่เข้าถึงผู้บริโภคคนไทยจำนวนมาก ที่จะช่วยเสริมแกร่งให้กับเภสัชกรและร้านยาชุมชนที่เป็น SME ท้องถิ่นให้เข้มแข็ง
ปัจจุบัน PTG มีธุรกิจร้านขายยา NEXX Pharma ที่ให้บริการทั้งจำหน่ายยา เวชภัณฑ์ และอุปกรณ์การแพทย์ ซึ่งใช้แพลตฟอร์ม ARINCARE ในการบริหารร้านยาอยู่แล้ว และวางแผนขยายบริการครอบคลุมทั่วประเทศ
“การร่วมลงทุนกับ ARINCARE บริการแพลตฟอร์มร้านขายยา นี่คือโอกาสการเติบโตอย่างบ้าคลั่ง เพื่อผลักดันให้สตาร์ทอัพ ARINCARE ก้าวสู่บริษัทในตลาดหลักทรัพย์ฯ และเป็นยูนิคอร์นตัวต่อไป”