จากเจ้าของร้านขายของเก่า Rod’s Antique ในตลาดนัดจตุจักร คุณโรจน์ “ไพโรจน์ ร้อยแก้ว” ต่อยอดสร้างแบรนด์ตลาดกลางคืน (Night Market) ตลาดนัดรถไฟและจ๊อดแฟร์ (Jodd Fairs) ให้เป็นที่รู้จักทั้งคนไทยและนักท่องเที่ยวต่างชาติ เป็นหนึ่งในจุดหมายของสายกิน นักช้อป
เส้นทางนักบริหารพื้นที่ตลาดนัดของ คุณไพโรจน์ ร้อยแก้ว ผู้ก่อตั้งและผู้บริหารตลาดนัดรถไฟและจ๊อดแฟร์ หลังจากหมดสัญญาเช่า “ตลาดนัดรถไฟ จตุจักร” (ฝั่งตรงข้าม อตก.) ในปี 2554 ได้ย้ายมาเปิด “ตลาดนัดรถไฟ” ศรีนครินทร์ พื้นที่ 60 ไร่ หลังซีคอนสแควร์ สัญญาเช่า 15 ปี กับคอนเซ็ปต์ของวินเทจสไตล์ ถือเป็นจุดสร้างชื่อ “เจ้าพ่อไนท์มาร์เก็ต” ติดลมบน
จากนั้นในปี 2558 ได้เปิด “ตลาดนัดรถไฟ รัชดาฯ” หลังเอสพลานาด รัชดาฯ บนพื้นที่ 12 ไร่ กลายเป็นอีกจุดหมายของนักช้อปทั้งไทยและต่างชาติ แต่ต้องมาสะดุดจากสถานการณ์โควิด-19 และตัดสินใจปิดตลาดนัดรถไฟ รัชดาฯ คืนสัญญาเช่าในปี 2564
จุดพลุแบรนด์ใหม่ Jodd Fairs
ช่วงปลายปี 2564 สถานการณ์โควิดเริ่มคลี่คลาย คุณไพโรจน์ ตัดสินใจเปิดไนท์มาร์เก็ตแห่งใหม่ ด้วยแบรนด์ใหม่ Jodd Fairs พื้นที่หลังห้างเซ็นทรัล พระราม 9 (ชื่อ Jodd มาจากชื่อเล่นของคุณไพโรจน์ ที่ชาวต่างชาติเรียกในช่วงที่เปิดร้านในสวนจตุจักร)
การเปิด Jodd Fairs พระราม 9 เพราะได้รับข้อเสนอพื้นที่เช่าในราคาที่ดีและมองว่าน่าทำ หลังจากปิดตลาดนัดรถไฟ รัชดาฯ ไปปีกว่า จึงคิดว่าต้องลองทำตลาดใหม่ เพราะหากไม่ทำอยู่นิ่งๆ ก็ไม่มีลุ้น แต่ครั้งนี้ไม่ได้อยากเจ็บตัวเยอะ และโควิดทำให้ต้องคิดใหม่ ทำใหม่ จึงทำสัญญาเช่าระยะสั้น 2 ปี
หลังเปิดตัวได้ไม่นาน Jodd Fairs เป็นอีกบทพิสูจน์ฝีมือ “เจ้าพ่อไนท์มาร์เก็ต” ที่สามารถสร้างตลาดนัดแห่งใหม่ให้กลายเป็นเดสทิเนชั่น นักช้อปต้องมา!
การที่ Jodd Fairs พระราม 9 เป็นที่รู้จักอย่างรวดเร็ว เพราะช่วงเวลาที่เปิดยังอยู่ในสถานการณ์โควิด “เหมือนเราจุดพลุ ในช่วงเงียบ จึงมีแสงชัดและเสียงดัง ในวันที่ไม่มีใครกล้าทำ แต่ Jodd Fairs กล้าเปิด เมื่อประสบความสำเร็จจึงเป็นที่รู้จัก วันนั้นเรามีความกล้าและบ้าที่จะทำ”
“หลักคิดการทำไนท์มาร์เก็ต ทั้งตลาดนัดรถไฟและ Jodd Fairs ถ้าร้านค้าอยู่ได้ เราก็ไปต่อได้ เราต้องให้มากกว่าที่เก็บ (ค่าเช่า) จากเขา หากเรามีพื้นที่ให้เช่า แต่ไม่มีพ่อค้าแม่ค้ามาเช่า ก็ไม่มีประโยชน์” คุณไพโรจน์ พูดถึงการบริหารไนท์มาร์เก็ต ที่สามารถสร้างเครือข่ายร้านค้าในมือได้ว่า 3,000-4,000 ร้านค้า และพร้อมจะตามไปเปิดในพื้นที่ใหม่ๆ
ปี 67 ปักหมุด Jodd Fairs รัชดาฯ
แม้สิ้นปีนี้ Jodd Fairs พระราม 9 จะหมดสัญญาเช่ากับเซ็นทรัล เพราะทำสัญญาระยะสั้นไว้ 2 ปีเท่านั้น และได้เซ็นสัญญากับกลุ่ม Property Perfect ระยะยาว 20 ปี เพื่อบริหารพื้นที่รีเทลในโครงการมิกซ์ยูสแห่งใหม่ พื้นที่ 13 ไร่ ริมถนนรัชดาภิเษก (พื้นที่เดิมของ จัสโก้ รัชดา) ติดรถไฟฟ้า MRT ศูนย์วัฒนธรรม
พื้นที่รีเทลใหม่มีร้านค้าในอาคาร (Indoor) 928 ห้อง และไนท์มาร์เก็ตด้านหน้า (Outdoor) อีก 800 ล็อค จะเริ่มเปิดตั้งแต่เดือนมกราคม 2567 เป็นการเปิด Jodd Fairs แห่งใหม่ต่อเนื่องทันทีหลังจากหมดสัญญากับเซ็นทรัล โดยเก็บค่าเช่าจากร้านค้าเท่าเดิมล็อคละ 500 บาทต่อวัน พื้นที่ล็อคละ 2×2 เมตร
เมื่อเปิดให้จองพื้นที่ร้านค้า Jodd Fairs รัชดาฯ เชื่อว่าจะถูกจองพื้นที่เต็มอย่างรวดเร็ว ใช้เวลาเป็นหลัก “วัน” เท่านั้น ร้านค้าจาก Jodd Fairs พระราม 9 กว่า 700-800 ร้านค้า จะตามมาหมด เพราะเชื่อมั่นในประสบการณ์การบริหารไนท์มาร์เก็ต ทุกโครงการที่ผ่านมา
การย้าย Jodd Fairs พระราม 9 ไป รัชดาฯ ทำเลใกล้เคียงกัน ห่างกัน 1.3 กิโลเมตร แต่จำนวนคน (traffic) ที่เดินผ่านที่ดินแปลงรัชดาฯ จะมากกว่า เพราะ ติด MRT ศูนย์วัฒนธรรมฯ และมีสำนักงานจำนวนมาก โครงการมีบริการอาคารจอดรถ โดยศักยภาพที่ดิน แทบไม่ต้องทำอะไรก็ขายได้แล้ว เพราะพื้นที่ขายตัวเองอยู่แล้ว
คอนเซ็ปต์ Jodd Fairs รัชดาฯ พื้นที่ Indoor จะเป็นดีไซน์ Factory ใช้แฟชั่นทั้งเสื้อผ้า ของตกแต่ง และอาหาร เป็นตัวกำหนดทิศทางลูกค้า ปรับเปลี่ยนไปตามวิถีแฟชั่นในแต่ละยุค “เราจะเป็นผู้นำไปเรื่อยๆ ไม่ใช่พื้นที่มิวเซียม ที่คนมาเดินดูแล้วเหมือนเดิมทุกครั้ง แต่การมา Jodd Fairs รัชดาฯ แต่ละครั้ง อาจจะเจอสิ่งใหม่ๆ ที่ต่างจากเดิม”
การทำร้าน Indoor เป็นสิ่งที่เรามีประสบการณ์มาแล้ว ตั้งแต่ทำร้านที่สวนจตุจักร และตลาดนัดรถไฟ ศรีนครินทร์ ที่นำโกดังเก่ามาทำเป็นร้านค้า การทำร้าน Indoor จึงไม่ใช่สิ่งใหม่
ส่วนไนท์มาร์เก็ต Jodd Fairs รัชดาฯ พื้นที่ Outdoor ด้านหน้าถือว่าเป็น “ทางถนัด” เป็นการนำข้อดีข้อเสียจากไนท์มาร์เก็ตที่เคยทำ มาปรับปรุงใหม่และเพิ่มกิจกรรมใหม่ๆ เข้าไปตลอดเวลา มาทุกครั้งต้องมีความสนุกกลับไปทุกครั้ง
ก่อนย้ายไปที่ใหม่ ล่าสุด Jodd Fairs หลังเซ็นทรัลพระราม 9 ได้เปิดโซนใหม่ ติดกับพื้นที่เดิมอีก 400 ล็อค เปิดรับร้านค้าทั้งอาหาร เครื่องดื่ม เสื้อผ้า สินค้าทั่วไป ฯลฯ เริ่มขายวันที่ 1 เมษายน – 31 ธันวาคม 2566
เจาะสูตรสำเร็จ “ไนท์มาร์เก็ต”
แม้ประเทศไทยจะมีแหล่งช้อปปิ้ง มีศูนย์การค้าจำนวนมาก แต่คุณไพโรจน์ มองว่า “ไนท์มาร์เก็ต” เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่เหมาะกับประเทศไทย ที่เป็นเมืองร้อน เดินเที่ยว กิน ช้อป ได้สะดวก
การทำไนท์มาร์เก็ต ปัจจัยความสำเร็จคือ “โลเคชั่น” ที่หายากขึ้นเรื่อยๆ เพราะตลาดใหม่เกิดขึ้นเยอะ และยังมีร้านค้าบนออนไลน์ที่ไม่ต้องเสียค่าเช่ามาเป็นตัวเลือก
แต่ที่ Jodd Fairs อยู่ได้และยังมีร้านค้ามาเช่าพื้นที่ เพราะ “เราทำให้ร้านค้าขายได้และต้องให้มากกว่าที่เขาได้ อย่าง ร้านเล้งแซ่บ ขายได้วันละ 400,000-500,000 บาท ร้านน้ำปั่นขายได้วันละ 10,000 บาท ร้านค้าขายได้มากกว่าที่จ่ายค่าเช่าให้เรา”
สิ่งที่ Jodd Fairs ต้องทำคือ เลือกร้านค้าที่ดี เพื่อให้ผู้บริโภคได้สินค้าตรงปก ซึ่งจะเป็นจุดแข็งของตลาด จัดพื้นที่ส่วนกลางให้กว้าง มีพื้นที่นั่งรับประทานอาหาร เพื่อเก็บคนให้เดินนานๆ เมื่อคนอยู่ในพื้นที่นาน ร้านค้าก็ขายได้มากขึ้น
สิ่งสำคัญต้องทำให้ “คนเห็นคน” เมื่อเห็นคนมาเดินเยอะใครๆ ก็อยากมา ที่จริงคนมาดูคน
แม้ Jodd Fairs กลายเป็นจุดหมายที่นักท่องเที่ยวต่างชาติปักหมุดเมื่อมาประเทศไทย นับเป็นความดีใจ ที่ทำให้ร้านค้า เป็นที่รู้จักมากขึ้น แต่แน่นอนว่าความตั้งใจแรกในการทำตลาดรถไฟ และ Jodd Fairs คือ ทำให้คนไทยมาเดินเที่ยว เพราะหากไม่เริ่มต้นจากคนไทยในประเทศก่อน ก็จะไม่ถูกพูดถึงและดึงให้คนต่างชาติมาเที่ยว
ปัจจุบันมีตลาดไนท์มาร์เก็ต 2 แบรนด์ คือ ตลาดนัดรถไฟ และ Jodd Fairs การเลือกใช้แบรนด์ไหนจะดูที่ทำเลเป็นหลัก หากเป็นพื้นที่ในเมืองจะใช้ Jodd Fairs พื้นที่ขั้นต่ำ 2-3 ไร่ ปีนี้มีแผนจะเปิด Jodd Fairs อีก 1 แห่ง
“การทำธุรกิจของผม ตัวเลขสถิติต่างๆ ไม่ใช่ปัจจัยหลัก แต่ใช้สัญชาตญาณในการทำงาน ผมได้กลิ่นของเงิน และยืนยันว่าจะพาพ่อค้าแม่ค้าไปเก็บเงินใน Jodd Fairs แห่งใหม่”
อ่านเพิ่มเติม