การระบาดของโควิด-19 ตลอดช่วงหลายปีที่ผ่านมา แม้จะส่งผลกระทบต่อธุรกิจร้านอาหารที่เป็น Offline Store ให้ได้รับผลกระทบค่อนข้างมาก แต่ในทางกลับกัน พบว่า ภาพรวมตลาด Food Delivery กลับเติบโตสวนทางแบบก้าวกระโดด โดยในช่วงปี 2564-2565 ภาพรวมตลาดฟู้ดดิลิเวอรีในภูมิภาคอาเซียนมีมูลค่าประมาณ 5.25 แสนล้านบาท ขยายตัว 5% ส่วนไทยขยายตัวต่อเนื่องมีมูลค่าตลาดรวมราว 117,000 ล้านบาท ใหญ่เป็นอันดับ 2 รองจากอินโดนีเซียที่มีมูลค่า 147,000 ล้านบาท และมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่อง
“ทิฟฟินแล็บส์” (TiffinLabs) คือฟู้ดเทคสตาร์ทอัพ เจ้าของแบรนด์อาหารชั้นนำจากสิงค์โปร์ ที่ขานรับการเติบโตของ“Food Delivery ” จึงเดินหน้าพัฒนา “Virtual Restaurant Brands” โมเดลแฟรนไชส์ร้านอาหารรูปแบบใหม่ จากโอกาสทางการตลาดจากการเติบโตแบบก้าวกระโดดของบริการดิลิเวอรี และ Online Store ด้วยการเดินหน้าพัฒนาโมเดลร้านอาหารใหม่ขึ้นมา ด้วยการนำแบรนด์ร้านอาหาร เจาะผู้ประกอบการร้านอาหาร เพื่อสร้างความแข็งแกร่งในช่องทางดิลิเวอรี โดยปัจุจบันได้ขยายเข้าไปทำตลาดแล้วใน 3 ประเทศภูมิภาคอาเซียนที่มีอัตราการเติบโตของธุรกิจฟู้ดดิลิเวอรีสูงอย่าง สิงคโปร์ มาเลเซีย และไทย
Virtual Restaurant Brands โมเดลธุรกิจใหม่ตอบโจทย์ดิลิเวอรีขยายตัว
คุณภูมินันท์ ตันติประสงค์ชัย ผู้ร่วมก่อตั้ง และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (CEO) ทิฟฟินแล็บส์ เผยว่า “สถานการณ์ในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา ทำให้บริการฟู้ดดิลิเวอรีได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวันของผู้คน ซึ่งในขณะที่ตลาดฟู้ดดิลิเวอรีเติบโตขึ้นอย่างก้าวกระโดด เราพบว่า มีธุรกิจร้านอาหารจำนวนมากโดยเฉพาะผู้ประกอบการรายย่อย (SMEs) กลับประสบปัญหาในการบริหารจัดการที่ไม่สามารถปรับรูปแบบธุรกิจให้ตอบรับความต้องการและพฤติกรรมในการสั่งฟู้ดดิลิเวอรีของผู้บริโภคได้ และทำให้พลาดโอกาสในการสร้างรายได้ไปอย่างมหาศาล ด้วยการเล็งเห็นปัญหาข้างต้น
ขณะเดียวกันยังเป็นการรองรับตลาด Food Service ของไทยที่มีมูลค่าราว 952,000 ล้านบาท ที่ใหญ่เป็นอันดับ 2 ของอาเซียนและยังมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่องอีกด้วย
“ทิฟฟินแล็บส์” จึงได้บุกเบิกโมเดลธุรกิจใหม่ที่เรียกว่า “Virtual Restaurant Brands” ซึ่งจะเข้ามาช่วยผู้ประกอบการร้านอาหารในการสร้างรายได้เพิ่มจากการนำแบรนด์อาหารของทิฟฟินแล็บส์ไปเปิดขายในร้านของตัวเองผ่านช่องทางดิลิเวอรี โดยหลังจากเปิดตัวธุรกิจครั้งแรกที่ประเทศสิงค์โปร์ในปี 2563 แบรนด์อาหารของทิฟฟินแล็บส์ สามารถสร้างสถิติในการขยายจำนวนสาขาบนช่องทางดิลิเวอรี ติด 10 อันดับแรกในประเทศสิงค์โปร์ จากความสำเร็จนี้ จึงทำให้เราได้ขยายธุรกิจต่อมาที่ประเทศมาเลเซีย และไทย
โดยเข้ามาทดลองตลาดในประเทศไทยตั้งแต่ต้นปี 2565 ที่ผ่านมา ซึ่งได้รับเสียงตอบรับที่ดีมากจากทั้งผู้ประกอบการรายใหญ่และรายย่อย จนทำให้ปัจจุบันมีสาขารวมแล้วกว่า 100 สาขาทั่วกรุงเทพฯ
ดึงจุดแข็ง Virtual Restaurant แก้ Pian Point ร้านอาหารรายเล็กปิดตัว
เมื่อย้อนดูภาพรวมธุรกิจร้านอาหารไทยตลอดช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา แม้จะต้องเผชิญปัญหาด้านการปิดหน้าร้าน ไม่สามารถนั่งรับประทานได้ ทำให้ภาพรวมธุรกิจส่วนใหญ่ได้รับผลกระทบพอสมควร แต่อีกด้านในมุมของ “Delivery” กลับมีการขยายตัวได้ดีและเติบโตแบบก้าวกระโดด จากพฤติกรรมของลูกค้าที่เปลี่ยนแปลงไป
หากโฟกัสมาที่ธุรกิจร้านอาหารขนาดเล็ก (SME) ในกลุ่มร้านอาหารขนาดย่อยเป็นหนึ่งในกลุ่มที่มีการขยายตัวได้ดีต่อเนื่อง แต่จากการแข่งขันที่รุนแรงอย่างต่อเนื่อง ทั้งจากผู้ประกอบการรายเดิม และผู้แข่งขันหน้าใหม่ที่หันมาทำร้านอาหารขนาดย่อมมากขึ้น ทำให้ตลอดช่วง 5 ปีที่ผ่านมา พบว่าผู้ประกอบการร้านอาหารขนาดย่อมของไทยกว่า 530,000 รายได้ต้องปิดตัวลง 60% โดยพบว่าปัญหาหลักๆของการปิดตัวลงคือ
- การแข่งขันในตลาดที่รุนแรงมากขึ้น จากการที่ธุรกิจร้านอาหารเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา กำไรของร้านอาหารในปัจจุบันโดยเฉลี่ยต่ำกว่าธุรกิจประเภทอื่น ในธุรกิจบริการด้วยกัน
- การไม่มีความเชี่ยวชาญในการทำตลาด ขาด Know How ที่ต่อเนื่อง
- เรื่องของต้นทุนการแข่งขันที่ไม่เหมาะสม โดยพบว่าร้านอาหารขนาดเล็กหากไม่มีเงินสดเข้ามาภายในระยะเวลา 45 วัน จะไม่สามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้ แตกต่างจากธุรกิจโรงแรม ที่จะอยู่ได้ 145 วัน
- การทำอาหารยังไม่สามารถตอบสนองออเดอร์ที่เข้ามารวดเร็วได้ จากความคล่องตัวด้านต่างๆ
การเข้ามาของ “ทิฟฟินแล็บส์” (TiffinLabs) เพื่อต้องการแก้ Pian Point ร้านอาหารรายเล็กเหล่านี้ ด้วยการสร้างโมเดลธุรกิจรูปแบบใหม่ ในชื่อ “Virtual Restaurant Brands” คล้ายกับการทำแฟรนไชส์ แต่จะเน้นไปที่การพัฒนาแบรนด์อาหารสำหรับฟู้ดดิลิเวอรี โดยทิฟฟินแล็บส์จะทำหน้าที่ดูแลพาร์ทเนอร์ตั้งแต่ต้น ไปจนถึงกระบวนการงานขาย ที่ประกอบไปด้วย
- คิดค้นและพัฒนาแบรนด์อาหารให้เหมาะกับการทำดิลิเวอรีโดยเฉพาะ ตั้งแต่ การออกแบบเมนูให้ตอบโจทย์ลูกค้าในแต่ละพื้นที่
- การคัดสรรรูปแบบแพคเกจจิ้งที่เหมาะสำหรับการดิลิเวอรี การคำนวณต้นทุนที่แสดงให้เห็นผลกำไรชัดเจน ไปจนถึงการทำการตลาดเพื่อโปรโมทแบรนด์อาหารกับกลุ่มผู้บริโภค โดยมีระดับราคาเริ่มต้นตั้งแต่ไม่ถึง 100 บาท (เมนูอาหาร)
- ผู้ประกอบการร้านอาหารมีหน้าที่แค่ประกอบอาหารตามขั้นตอนของแบรนด์ จากอุปกรณ์ครัว และพนักงานที่มีอยู่ และเปิดขายผ่านช่องทางดิลิเวอรีควบคู่ไปกับการทำร้านอาหารของตัวเอง
โดยจะมี Cloud Kitchen รองรับบริการ และซัพพอร์ตวัตถุดิบต่างๆ ซึ่งโมเดลของทางบริษัทจะมีการคิดส่วนแบ่งคือ ทางร้านพาร์ทเนอร์ 60% บริษัทได้ 40%
ขณะที่กลุ่มอาหารที่มาแรงตลอดช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาคือ กลุ่มอาหารดิลิเวอรีที่สามารถเลือกรับประทานได้รวดเร็ว ไม่ว่าจะเป็น อาหารเกาหลี ไก่ทอด สอดคล้องกับตลาดอาเซียนที่อาหารไก่ทอดและอาหารเกาหลีเป็นที่นิยม จึงทำให้ “ทิฟฟินแล็บส์” เลือกนำแบรนด์ที่ตอบโจทย์เทรนด์ในไทยเข้ามาทำตลาดในรูปแบบ Virtual Restaurant แล้วทั้งสิ้น 6 แบรนด์ จากจำนวนแบรนด์ในพอร์ตโฟลิโอทั้งหมด 20 แบรนด์ ก่อนที่จะพัฒนาแบรนด์ใหม่และนำเข้าแบรนด์ในเครือฯ มาทำตลาดเพิ่มเติมในอนาคต ประกอบไปด้วย
- แฟตฟิงเกอร์ (Phat Fingers) ไก่ทอดสไตล์เกาหลี
- เซาท์เทิร์นโซล (Southern Soul) ไก่ทอดสไตล์อเมริกัน
- พาสต้าเทเบิ้ล (Pasta Table) สปาเก็ตตี้สไตล์คอมฟอร์ตฟู้ด
- โปเตโต้ แล็บ (Potato Lab) เฟรนช์ฟรายส์และเมนูทานเล่นต่างๆ
- ย่างดี (Yang Dee by Phat Fingers) ข้าวหน้าปิ้งย่างสไตล์เกาหลี
- ภูมิใจไก่ทอด (Phum Jai) ไก่ทอดสไตล์ไทย
ทั้งนี้ปัจจุบัน “ทิฟฟินแล็บส์” มีสาขาแล้วใน 3 ประเทศ ได้แก่ มาเลเซีย 30 สาขา,สิงคโปร์ 120 สาขา, และไทย 100 สาขา ซึ่งแต่ละประเทศมีอัตราการเติบโต 10-20% ทุกเดือน ก่อนที่เป้าหมายในอีก 5 ปีข้างหน้าจะขยายสาขาในไทยเพิ่มเป็นดับเบิ้ล หรือราว 200 สาขา ขณะที่ทั้ง 3 ประเทศ จะมีจำนวนสาขาราว 1,000 สาขา