เรียกได้ว่า ออกมาเปิดข้อมูลด้านการเมืองได้พอเหมาะพอดี สำหรับ TikTok ประเทศไทยที่ออกมาประกาศนโยบายของแพลตฟอร์มรับการเลือกตั้ง พร้อมระบุ “ห้ามนักการเมือง – พรรคการเมืองซื้อโฆษณา – รับบริจาค” รวมถึงห้ามใช้ TikTok Shop โดยทางแพลตฟอร์มประกาศว่า จะเดินหน้าเข้าหานักการเมือง – พรรคการเมืองต่าง ๆ เพื่อดึงให้ลงทะเบียนเพื่อยืนยันตัวตน ป้องกันแอคเคาน์ปลอมด้วย
กระแสการเลือกตั้งของประเทศไทยนอกจากจะกลายเป็นเทรนด์บนแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียในวันนี้แล้ว บนโลกของแอปพลิเคชันอย่าง TikTok ก็มีการออกมาให้ข้อมูลเกี่ยวกับการเลือกตั้ง และนโยบายของแพลตฟอร์มอย่างเข้มข้นด้วยเช่นกัน โดยคุณชนิดา คล้ายพันธ์ Head of Public Policy ของ TikTok ประเทศไทยเผยว่า
“บนแพลตฟอร์ม TikTok จะไม่มีการอนุญาตให้มีการโปรโมตหรือการทำโฆษณาที่มีเนื้อหาเกี่ยวข้องกับประเด็นทางการเมืองโดยเด็ดขาด TikTok จึงได้มีการจัดประเภทของบัญชีที่เกี่ยวข้องกับการเมืองให้เป็นบัญชีของรัฐบาลนักการเมือง และพรรคการเมือง หรือใช้ชื่อว่า GPPPA (Government, Politician, and Political Party Account) เพื่อสร้างขอบเขตที่ชัดเจนในการไม่อนุญาตให้บัญชีประเภทนี้เกี่ยวข้องกับการสร้างรายได้ในทุกประเภทบนแพลตฟอร์ม TikTok”
จำกัดการใช้เพลง – ห้ามซื้อโฆษณา – รับบริจาค
สำหรับผู้ใช้งาน TikTok ที่เป็น GPPPA จะถูกจำกัดการใช้งานคลังดนตรีเชิงพาณิชย์ (CML) เพื่อป้องกันปัญหาที่อาจเกิดขึ้นจากการใช้เนื้อหาที่มีลิขสิทธิ์เพื่อวัตถุประสงค์ด้านการโปรโมทแนวคิดทางการเมืองด้วย (หมายเหตุ : CML คือแหล่งรวมแทร็กเพลงแบบไม่ต้องเสียค่าลิขสิทธิ์และได้รับอนุมัติล่วงหน้ากว่า 160,000 รายการที่พร้อมใช้งานทั่วโลก ซึ่งมาจากศิลปินที่กำลังมาแรงและค่ายเพลงระดับแนวหน้า โดยมีแทร็กเพลงทั้งแบบมีและไม่มีเนื้อเพลงในทุกแนวตั้งแต่ดนตรีร็อกไปจนถึงโฟล์ก)
พร้อมกันนั้น ทางทีมงาน TikTok จะมีการเชิญให้พรรคการเมือง – นักการเมืองเข้ามาลงทะเบียนยืนยันตัวตน เพื่อป้องกันปัญหาแอคเคาน์ปลอม ซึ่งอาจนำไปสู่การสร้างเนื้อหา – ข้อมูลข่าวสารเท็จได้นั่นเอง
ด้านคุณจิรภัทร หลี่ Product Policy Lead – Thailand, TikTok กล่าวว่า การจัดการกับเนื้อหาที่มีความบิดเบือน เป็นอันตราย และเนื้อหาที่ละเมิดหลักเกณฑ์ของชุมชนในแง่มุมต่าง ๆ ออกจากแพลตฟอร์ม TikTok นั้น ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์สำหรับชุมชน (Community Guideline Enforcement Report) โดยเป็นการทำงานร่วมกันของ Machine Learning ร่วมกับพนักงานที่เป็นมนุษย์” โดยหลักเกณฑ์สำหรับชุมชน (Community Guideline) ซึ่งเป็นหลักเกณฑ์เพื่อสร้างความเข้าใจให้ผู้ใช้งานได้รับรู้ว่าเนื้อหาแบบไหนที่ไม่อนุญาตให้เผยแพร่บนแพลตฟอร์ม TikTok นั้น พบว่ามีหัวข้อหลัก อาทิ
- การแอบอ้างเป็นบุคคลอื่น
- เนื้อหาที่เป็นสแปม
- เนื้อหาที่เป็นเท็จและหลอกลวง
- เนื้อหาที่อาจก่อให้เกิดอันตรายต่อผู้ใช้งานบนแพลตฟอร์มในแง่มุมต่าง ๆ อย่างการสร้างความหวาดกลัว ความเกลียดชัง หรือสร้างอคติ
ทั้งนี้ ข้อมูลล่าสุดของทางแพลตฟอร์ม ในระหว่างเดือนกรกฏาคม – กันยายน ปี 2565 พบว่า มีการลบวิดีโอออกบนแพลตฟอร์มมากกว่า 96.5% และเป็นการลบออกภายใน 24 ชั่วโมงถึง 92.7% และมีการลบออกก่อนมียอดเข้าชมถึง 89.5% เลยทีเดียว
สร้างศูนย์ข้อมูลการเลือกตั้ง (Election Centre)
นอกจากนี้ TikTok ยังมีการสร้างศูนย์ข้อมูลการเลือกตั้ง (Election Centre) เพื่อช่วยให้ผู้ใช้งานเข้าถึงข้อมูลที่เป็นทางการเกี่ยวกับการเลือกตั้ง ทั้งขั้นตอนในการใช้สิทธิ์ ข้อมูลของพรรคการเมืองและนักการเมือง และข้อมูลอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้ง โดยมีการเชื่อมต่อข้อมูลกับสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งแห่งประเทศไทย หรือ กกต. หน่วยงานหลักที่ควมคุมดูแลการจัดการเลือกตั้งในประเทศไทย และเพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้ผู้ใช้งานส่งต่อเนื้อหาที่ไม่ถูกต้องในช่วงของการเลือกตั้ง ก่อนที่ผู้ใช้งานจะกดยืนยันในการส่งต่อเนื้อหานั้น ๆ จะมีข้อความขึ้นเตือนให้ผู้ใช้งานพิจารณาและตรวจสอบข้อเท็จจริงก่อนเสมอ
ทั้งนี้ หากผู้ใช้งานเห็นว่าเนื้อหาดังกล่าวละเมิดหลักเกณฑ์สำหรับชุมชนหรือเป็นข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง ผู้ใช้งานสามารถใช้ปุ่ม Election Report Button หรือปุ่มรายงานเนื้อหาเกี่ยวกับการเลือกตั้งเพื่อรายงานเนื้อหาดังกล่าวได้เช่นกัน