ควบรวมสำเร็จ “ซีพี x เทเลนอร์” ผุด “ทรู คอร์ปอเรชั่น” บริษัทใหม่หลังการควบรวม “ทรู-ดีแทค” โดยมีมูลค่าตลาดของทั้งสองบริษัทรวมกัน 2.94 แสนล้านบาท (ตัวเลขเมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2566) พร้อมกลับเข้าเทรดในตลาดหุ้นพรุ่งนี้
สำหรับตัวเลขผู้ใช้บริการของบริษัทใหม่ “ทรู คอร์ปอเรชั่น” ประกอบด้วย ผู้ใช้งานทรูมูฟ เอช ที่ 33.8 ล้าน และดีแทค 21.2 ล้านเลขหมาย ผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์ทรูออนไลน์ 5 ล้านราย และผู้ใช้งานทรูวิชั่นส์ 3.2 ล้านราย
คุณมนัสส์ มานะวุฒิเวช ประธานคณะผู้บริหาร บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) เผยว่า ภายใต้การทำงานของบริษัทใหม่ จะเป็นการทำงานบนความเท่าเทียมกัน (Equal Partnership) และนำความแข็งแกร่งของทรูและดีแทคมารวมกัน พร้อมยกตัวอย่างเรื่องคลื่นสัญญาณที่มีทั้ง Low Band, Mid Band และ High Band
เปิดเหตุผลทำไมใช้ชื่อใหม่ “ทรู คอร์ปอเรชั่น”
คุณมนัสส์ยังได้กล่าวต่อไปด้วยว่า การใช้ชื่อบริษัทใหม่ว่าทรู คอร์ปอเรชั่น เนื่องจากทรู คอร์ปอเรชั่นมีแบรนด์ที่สะท้อนถึงนวัตกรรมดิจิทัล และมีพอร์ตโฟลิโอที่สามารถครอบคลุมถึงธุรกิจมือถือได้นั่นเอง โดยหลังจากควบรวมแล้ว ผู้ใช้บริการทรู – ดีแทคจะได้รับสิทธิประโยชน์ทันทีด้วย เช่น ลูกค้าดีแทคสามารถใช้งาน 5G บนคลื่น 2600MHz และลูกค้าทรูสามารถใช้งาน 4G และ 5G บนคลื่น 700MHz ซึ่งเปิดให้บริการแล้ว และจะขยายครบทั้ง 77 จังหวัดประมาณกลางเดือนมีนาคมนี้
7 กลยุทธ์ “ทรู คอร์ปอเรชั่น” บุกตลาดโทรคมนาคม
สำหรับกลยุทธ์หลักของบริษัทใหม่ ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) พบว่าประกอบด้วย 7 ข้อนั่นคือ
- เป็นผู้นำโครงข่ายโทรคมนาคมและโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัล
- เติบโตเป็นผู้นำนอกเหนือจากบริการหลัก
- สร้างมารฐานประสบการณ์ใหม่เพื่อลูกค้าในประเทศไทย
- เติมเต็มชีวิตอัจฉริยะให้ลูกค้าชาวไทย
- ยกระดับมาตรฐานลูกค้าองค์กรให้มีขีดความสามารถเพิ่มขึ้น เช่น การนำเทคโนโลยี IoT, Robotics, AI, Blockchain มาทำงานร่วมกับพันธมิตร
- พัฒนาสู่การเป็นองค์กรที่น่าทำงาน
- ดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน
ขยาย 5G ครอบคลุม 98% ของประชากรใน 2569
นอกจากนี้ บริษัทเผยด้วยว่า มีแผนจะขยายโครงข่าย 5G ให้ครอบคลุม 98% ของประชากรภายในปี 2569 ส่วนลูกค้าจะพบสัญลักษณ์เครือข่ายใหม่ นั่นคือ dtac-True และ True-dtac บนหน้าจอมือถือ ซึ่งเป็นการโรมมิ่งสัญญาณข้ามโครงข่าย เพื่อใช้งาน 5G และ 4G บนคลื่น 2600MHz และ 700MHz
จัดตั้งกองทุน 200 ล้านเหรียญหนุนสตาร์ทอัพ
นอกจากนี้ ทรู คอร์ปอเรชั่น จะร่วมกับพันธมิตร ระดมทุนจำนวน 200 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 7.3 พันล้านบาท จัดตั้งกองทุน Venture Capital (VC) รวมถึงตั้งศูนย์นวัตกรรมเพื่อผลักดันสตาร์ทอัพไทย ภายใต้ความร่วมมือจากเทเลนอร์ เครือเจริญโภคภัณฑ์ และเครือข่ายธุรกิจระดับนานาชาติด้วย
พนักงานรับสิทธิลาคลอด 6 เดือน
สำหรับพนักงาน ตัวเลขพนักงานของสองบริษัทรวมกันล่าสุดในวันควบรวมคือ 20,000 คน ซึ่งคุณมนัสส์บอกว่า อนาคตของบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น ต้องการดึงดูคนเก่งมาทำงาน และต้องการสร้างให้เป็นบริษัทที่ดีและน่าทำงานด้วยที่สุดในภูมิภาค พร้อมยกตัวอย่างสวัสดิการที่จะมีให้พนักงาน เช่น สิทธิลาคลอดนาน 6 เดือน, มอบสวัสดิการให้กับกลุ่ม LGBTQ ไม่ต่างจากพนักงานเพศชาย-หญิง, ห้อง NapRoom, ห้องออกกำลังกาย, ประกันสุขภาพ, พบแพทย์ผ่านแอปหมอดี ฯลฯ
ทั้งนี้ คุณอติรุฒม์ โตทวีแสนสุข กรรมการ บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ระบุว่า บริษัทใหม่จากการควบรวมจะก่อให้เกิดการพัฒนาในหลายด้าน ทั้งคุณภาพโครงข่าย ความครอบคลุม ความเร็ว – แรงของสัญญาณ และคอนเทนต์ด้านความบันเทิง จับต้องได้มากขึ้น รวมถึงลดช่องว่างด้านการศึกษา สาธารณสุข และการแพทย์ ของประเทศไทยลงอย่างมีนัยสำคัญด้วย
ไม่แบ่ง “ลิซ่า” ให้ดีแทค
ส่วนพรีเซนเตอร์ดังอย่างลิซ่า แบล็กพิงค์ที่ TrueID ได้เปิดตัวอย่างเป็นทางการไปเมื่อไม่นานนี้ เมื่อเป็นบริษัทเดียวกันแล้ว จะสามารถแบ่งมาให้กับทางดีแทคใช้งานได้ด้วยหรือไม่นั้น ทางคุณมนัสส์กล่าวว่า ส่วนที่แบ่งให้กับลูกค้าดีแทคได้ก็คือบริการเช่น บริการทรูบรอดแบนด์, บริการ TrueID เป็นหลัก แต่ไม่ใช่สำหรับลิซ่า