นอกจากเป็นประเทศที่เต็มไปด้วยเครื่องเทศนานาชนิดแล้ว อีกสิ่งหนึ่งที่ “อินเดีย” มีการใช้ในชีวิตประจำวันมากไม่แพ้กันก็คือ “ดอกไม้” โดยมีรายงานว่า เฉพาะในเมืองไฮเดอราบัด มีดอกไม้ที่กลายเป็นขยะถูกทิ้งอยู่ตามศาสนสถาน วัด และมัสยิดให้ต้องรับผิดชอบจัดเก็บมากกว่าวันละ 1,000 ตัน
ตามความเชื่อของชาวอินเดีย ดอกไม้ที่ผ่านพิธีกรรมทางศาสนาเป็นของศักดิ์สิทธิ์ และไม่สามารถทิ้งรวมกับขยะอื่น ๆ ได้ มันจึงถูกนำไปทิ้งในแหล่งน้ำเป็นหลัก ข้อมูลจาก UN Climate Change ระบุว่า ในแต่ละปี แม่น้ำคงคาต้องรองรับขยะดอกไม้เหล่านี้มากกว่า 8 ล้านตัน (ไม่มีตัวเลขการทิ้งขยะดอกไม้ลงในแหล่งน้ำอื่น ๆ) ด้วยเหตุนี้ อินเดียจึงมีปัญหาด้านการระบายน้ำมากขึ้นเรื่อย ๆ รวมถึงยาฆ่าแมลงที่อยู่ในดอกไม้ก็ยังเป็นอันตรายต่อมนุษย์ และสิ่งมีชีวิตที่อาศัยในน้ำด้วย
ส่วนเมืองที่ไม่มีแหล่งน้ำมากนัก พบว่าการทิ้งขยะดอกไม้เหล่านี้จะอยู่ตามท้องถนน หรือตามมุมต่าง ๆ แทน ซึ่งก็สร้างความลำบากในการจัดการเช่นกัน
อินเดียแก้ปัญหา “ดอกไม้ขยะ” ล้นเมืองอย่างไร
แต่คนอินเดียกำลังหาทางแก้ปัญหานี้ โดยเป็นความพยายามของกลุ่มผู้ประกอบการด้านสังคม (social entrepreneurs) ที่เก็บดอกไม้ใช้แล้วมาทำความสะอาด และเปลี่ยนมันเป็นผลิตภัณฑ์อื่น ๆ ที่มีประโยชน์ต่อชีวิตประจำวัน เช่น ปุ๋ยหมักออร์แกนิก สบู่ เทียน ธูปหอม และสีย้อมธรรมชาติ
หนึ่งในแบรนด์ที่ทำเรื่องดังกล่าวคือ Holy Waste ของบริษัท Oorvi ซึ่งก่อตั้งโดย Vivek และ Minal Dalmia เมื่อปี 2018 พวกเขานำดอกไม้ใช้แล้วของไฮเดอราบัดมาผลิตเป็นธูปหอม เพราะได้รับแรงบันดาลใจจากคลิปวิดีโอออนไลน์คลิปหนึ่ง
ปัจจุบัน พวกเขาสามารถแปรรูปขยะดอกไม้ได้มากถึง 800 กิโลกรัมต่อสัปดาห์ และสามารถจ้างงานชาวอินเดียได้ถึง 10 คน โดยพนักงานสามารถทำงานจากที่บ้านได้ (ทางบริษัทจะส่งเครื่องจักร – วัตถุดิบไปให้ที่บ้าน และให้พวกเธอเลือกเวลาทำงานได้ตามสะดวก โดยวัตถุดิบขนาด 6 – 7 กิโลกรัมจะสามารถผลิตธูปได้ 4,000 ดอก)
ศึกษาวิจัย สร้าง”ดอกไม้” ให้เป็น “หนัง”
นอกจากนั้นก็มีบริษัทชื่อ Phool (ภาษาอินเดียแปลว่าดอกไม้) ที่เก็บขยะดอกไม้ในแม่น้ำคงคามาแปรรูปเช่นกัน โดยทางทีมจะเก็บดอกไม้ในแม่น้ำคงคาทุกเช้า และแยกขยะพลาสติก ฯลฯ ออกจากดอกไม้ก่อนจะนำไปทำความสะอาด จากนั้นจึงนำไปตากแดดจนแห้งและบดให้เป็นผง แล้วก็นำมาม้วนเป็นธูปหอม ส่วนดอกไม้ที่เน่าแล้วก็จะนำไปทำปุ๋ย
แต่นอกจากผลิตสินค้าจากขยะดอกไม้แล้ว ทาง Phool ยังศึกษาวิจัยเพิ่มเติม เพื่อพัฒนาวัสดุชนิดใหม่ ๆ จากดอกไม้ด้วย โดย Nachiket Kuntla หัวหน้าฝ่ายวิจัยและพัฒนาของ Phool เป็นผู้แรกที่สังเกตเห็นการเจริญเติบโตของเส้นใยบาง ๆ บนดอกไม้เก่า เมื่อผ่านการบำบัด สารนั้นให้ความรู้สึกเหมือนหนัง Kuntla เลยเรียกมันว่า Fleather
แม้ว่า Phool จะบอกว่าเป็นการค้นพบโดยบังเอิญ แต่ก็มีรายงานว่า Phool เริ่มทำการผลิตรองเท้า กระเป๋าสตางค์ และกระเป๋าสะพายข้างจากวัสดุดังกล่าวกันแล้ว
นอกจากช่วยลดขยะที่ทำลายสิ่งแวดล้อมแล้ว แนวทางเหล่านี้ยังช่วยให้ผู้หญิงอินเดียมีรายได้และสามารถยืนหยัดได้ด้วยตัวเองมากขึ้นด้วย ยกตัวอย่างที่ Phool ที่มีการจ้างพนักงานเกือบ 200 คนและทั้งหมดเป็นผู้หญิง หรือในส่วนของ Oorvi ก็จ้างงานผู้หญิงอินเดียให้มีรายได้เช่นกัน ซึ่งแนวทางทั้งหมดนี้อาจยังแก้ปัญหาในภาพใหญ่ได้ไม่มากนัก แต่ก็จะเห็นได้ว่า การสนับสนุนผู้ประกอบการเพื่อสังคมก็กำลังทำให้อินเดียลดปัญหาขยะ และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงได้ไม่มากก็น้อย