HomeBrand Move !!รื้อศูนย์ฯไอที ‘พันธุ์ทิพย์ เชียงใหม่’ พลิกโฉมสู่ ‘ไลฟ์สไตล์ฮับ’ เติม Food Lounge แหล่งรวมร้านอร่อย AWC ลุยปั้น ‘ล้านนาทีค’ จุดหมายท่องเที่ยว

รื้อศูนย์ฯไอที ‘พันธุ์ทิพย์ เชียงใหม่’ พลิกโฉมสู่ ‘ไลฟ์สไตล์ฮับ’ เติม Food Lounge แหล่งรวมร้านอร่อย AWC ลุยปั้น ‘ล้านนาทีค’ จุดหมายท่องเที่ยว

แชร์ :

คุณวัลลภา ไตรโสรัส

ธุรกิจรีเทลหนึ่งในพอร์ตโฟลิโอของ “แอสเสท เวิรด์ คอร์ป” หรือ AWC ในเครือ ทีซีซี กรุ๊ป ของเจ้าสัวเจริญ สิริวัฒนภักดี เดินหน้า Repositioning และ Rebranding “พันธุ์ทิพย์” ใหม่ จากห้างไอที สู่คอนเซ็ปต์ใหม่ เจาะกลุ่มลูกค้ารายทำเล ไล่มาตั้งแต่ “พันธุ์ทิพย์ ประตูน้ำ” ปรับสู่ศูนย์ค้าส่ง AEC Trade Center 

ADFEST 2024

Santos Or Jaune

ล่าสุดกับการปรับโฉม “พันธุ์ทิพย์ เชียงใหม่”  จากศูนย์ฯ ไอที สู่คอนเซ็ปต์ใหม่ “ไลฟ์สไตล์ ฮับ” ด้วยมูลค่าการลงทุนกว่า 800 ล้านบาท เจาะกลุ่มครอบครัวทุกเจเนอเรชั่น

“พันธุ์ทิพย์ เชียงใหม่” เปิดมาตั้งแต่ปี 2547 อายุ 18 ปี ตั้งอยู่บนถนนช้างคลาน ศูนย์กลางเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวสำคัญของจังหวัดเชียงใหม่ อยู่ใกล้กับแม่น้ำปิงและไนท์บาซาร์ เริ่มต้นจากการเป็นศูนย์ฯ ไอที เทคโนโลยี และเกม เช่นเดียวกับพันธุ์ทิพย์ ประตูน้ำ ต่อมาในปี 2560 ได้ปรับโฉมเพิ่มพื้นที่กีฬาอีสปอร์ต ด้วย E-Sport Arena สนามแข่งขันเกมออนไลน์

ในยุคพฤติกรรมการซื้อสินค้าไอทีเปลี่ยนไป มีช่องทางการซื้อหลากหลาย  “สินค้าไอที” จึงเป็นเพียงส่วนหนึ่งของไลฟ์สไตล์ การดึงคนออกมาที่ศูนย์การค้าในยุคนี้จึงต้องผสมผสานทุกไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิตของทุกวัยในแต่ละทำเล ในปี 2566 “พันธุ์ทิพย์ เชียงใหม่” จึงพลิกโฉมครั้งใหม่ สู่การเป็น “ไลฟ์สไตล์ เดสติเนชั่น” ของกลุ่มครอบครัว

เปิด 4 โมเดลรีเทล AWC 

ปัจจุบันพอร์ตโฟลิโอธุรกิจหลักของ AWC ประกอบไปด้วย โรงแรม 19 แห่ง รวม 5,201 ห้องพัก, อาคารสำนักงาน 4 โครงการ และรีเทล (ศูนย์การค้าและศูนย์ค้าส่ง) 10 โครงการ

กลุ่มธุรกิจรีเทลมีการขยาย 4 โมเดลหลัก 

1. Tourist Lifestyle Destination คือ เอเชียทีค พื้นที่รวม 26,590 ตารางเมตร เน้นกลุ่มนักท่องเที่ยวเป็นหลัก

2. Community Shopping Mall & Market มี 7 ศูนย์การค้า  พื้นที่รวม 162,939 ตารางเมตร เน้นกลุ่มลูกค้าชุมชน ท้องถิ่น นักท่องเที่ยวไทยและต่างชาติ

3. Wholesale Model ศูนย์ค้าส่ง มี 2 ศูนย์ฯ พื้นที่รวม 168,086 ตารางเมตร

4. Office การขยายพื้นที่รีเทลในอาคารสำนักงาน มี 4 โครงการ พื้นที่รวม 270,594 ตารางเมตร

โดยทั้ง 4 โมเดลรีเทล ผสมผสานอยู่ในพื้นที่เชิงพาณิชย์อื่นๆ ด้วยรูปแบบมิกซ์ยูส ไม่ว่าจะเป็นการนำโรงแรม มาใส่ในพื้นที่รีเทลอย่างเอเชียทีค  นำรีเทลเข้าไปใส่ในออฟฟิศ รวมทั้งจะนำรีเทลเข้าไปอยู่ในศูนย์ค้าส่งด้วย เพื่อตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ที่หลากหลายของลูกค้าในปัจจุบัน

เจาะ “3 แกนหลัก” พัฒนาธุรกิจรีเทล AWC ดึงลูกค้า

กลยุทธ์การพัฒนาพื้นที่รีเทลของ AWC จะใช้ 3 แกนหลักในทุกโครงการ เพื่อเป็น “แม่เหล็ก” ดึงดูดผู้คนออกมาใช้ชีวิตนอกบ้านและสร้าง Lifestyle Experience ในแต่ละทำเล

1. Attractions คือการเป็นจุดหมายดึงผู้คนออกจากบ้านและมาใช้เวลาในพื้นที่ค้าปลีก

2. Food Lounge  แตกต่างจาก Food Hall และ Food Court ตรงที่เป็นคอนเซ็ปต์ Co-living และ Co-dining เป็นพื้นที่ดึงคนมาชิลล์, แฮงเอาท์ กับร้านอาหารและเครื่องดื่ม เป็นการดึงบรรยากาศจากพื้นที่ F&B ในโรงแรมและรีสอร์ท มาพัฒนาในพื้นที่รีเทล

3. Lifestyle Market แหล่งรวมไลฟ์สไตล์รีเทล เพราะลูกค้าไม่ว่าคนไทยหรือต่างชาติ จะมองหา Lifestyle Community คือ กลุ่มลูกค้าที่มีความสนใจเฉพาะด้าน เช่น สินค้าออร์แกนิก, กลุ่มดูแลสุขภาพ Well-being ,กลุ่มงานศิลปะ, กีฬาแอดเวนเจอร์, แคมปิ้ง, ตกแต่งบ้าน  ในแต่ละทำเลจะพัฒนา Lifestyle Market แตกต่างกัน

พลิกโฉม “พันธุ์ทิพย์ เชียงใหม่” จากศูนย์ฯ ไอที สู่ไลฟ์สไตล์ฮับ 

คุณวัลลภา ไตรโสรัส ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท แอสเสท เวิรด์ คอร์ป จำกัด (มหาชน) หรือ AWC กล่าวว่าการปรับโฉมศูนย์การค้า “พันธุ์ทิพย์ เชียงใหม่” ในรูปแบบ The Pantip Lifestyle Hub เริ่มตั้งแต่การดีไซน์โลโก้ใหม่ คาแรคเตอร์โมเดิร์นแบบผสมล้านนา

คอนเซ็ปต์ของศูนย์ฯ จะตอบโจทย์พฤติกรรมผู้บริโภคยุคใหม่ ทุกกลุ่ม เพื่อสร้าง Lifestyle Experience  ผ่านร้านค้าและบริการต่างๆ สำหรับกิจกรรมสำหรับกลุ่มครอบครัวทุกวัยในพื้นที่ภาคเหนือรวมทั้งกลุ่มนักท่องเที่ยว บนพื้นที่รวมกว่า 13,000 ตารางเมตร  แบ่งออกเป็น 3 แกนหลักที่ AWC วางไว้เป็นกลยุทธ์พัฒนาพื้นที่รีเทล

1. Attractions พื้นที่  3,800  ตารางเมตร เพื่อเป็นแลนด์มาร์คกิจกรรมสำหรับทุกวัยและนักท่องเที่ยว เสมือนห้องนั่งเล่นขนาดใหญ่ที่สุด (The Largest Living Room) ในจังหวัดเชียงใหม่ รวบรวมทุกกิจกรรมของทุกคนในครอบครัว ไมว่าจะเป็น ศูนย์การเรียนรู้ ของนักเรียน นักศึกษา มาใช้ชีวิต ติวหนังสือ เรียนพิเศษ, สนามเด็กเล่น, ฟิตเนส, ศูนย์สุขภาพและความงาม และพื้นที่สำหรับสำหรับการจัดกิจกรรมต่างๆ โดยมีพื้นที่สินค้าและบริการไอทีเป็นส่วนหนึ่งในกลุ่มนี้

2. Food Lounge  พื้นที่ 4,500 ตารางเมตร  เพื่อให้เป็นแหล่งรวมร้านอร่อย เพราะอาหารและเครื่องดื่มเป็นอีกหนึ่งเหตุผลหลักดึงคนออกมานอกบ้านได้  Food Lounge  ที่ “พันธุ์ทิพย์ เชียงใหม่” จะเป็นแหล่งรวมร้านอาหารชั้นนำใหญ่ที่สุดในจังหวัด (The Largest Connected Food Lounge)  ดึงดาต้าเมนูเด่นจากร้านดังของแพลตฟอร์มเดลิเวอรี่ ที่ได้รับความนิยมสูงสุดติดอันดับท็อปมาเปิดให้บริการที่ศูนย์ฯ

นอกจากนี้จะมีร้านดังทั้งอาหารไทย อาหารนานาชาติ ที่เหมาะกับไลฟ์สไตล์คนยุคใหม่ โดยจัดสรรพื้นที่ Co–dining และ Co-living  เพื่อให้ทุกคนในครอบครัวและกลุ่มเพื่อนมาใช้เวลาร่วมกันในการรับประทานอาหารและการทำกิจกรรมต่างๆ ตลอดวัน

3. Lifestyle Market  แหล่งรวมไลฟ์สไตล์ พื้นที่พบปะสังสรรค์ รวมถึงการทำโครงการต่างๆ เปิดโอกาสให้ชุมชนและพันธมิตรมาทำโปรแกรม อาทิ กลุ่มที่ชื่นชอบสินค้าเกษตรอินทรีย์ปลอดสารพิษ กลุ่มที่ชื่นชอบงานศิลปะ หรือกลุ่มที่ชอบตกแต่งบ้านและสวน รวมถึงกลุ่มรักสุขภาพ หรือกลุ่มรักกิจกรรมแนวธรรมชาติ และกิจกรรมอื่นๆ เพื่อร่วมสนับสนุนชุมชน ศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่น และเอกลักษณ์ความเป็นไทย

จาก 3 คอนเซ็ปต์พื้นที่รีเทลดังกล่าว จะแบ่งออกเป็น 4 โซนหลัก

– Lanna Gad พื้นที่ร้านค้าปลีก ซุ้มอาหารเจ้าดัง และซูเปอร์มาร์เก็ต ในบรรยากาศของตลาดล้านนายุคใหม่

– Lanna Artisan พื้นที่ร้านอาหารและร้านอุปกรณ์ไอที ต่อยอดจุดแข็งของศูนย์ฯ

– Lanna Aesthetic ศูนย์สุขภาพและความงาม สินค้าแฟชั่น รวมถึงเครื่องใช้แม่และเด็ก

– Lanna Amusement ศูนย์การศึกษาและพื้นที่ความคิดสร้างสรรค์

“พันธุ์ทิพย์ เชียงใหม่” ได้เริ่มรีโนเวทเป็นโซนๆ ตั้งแต่ปลายปี 2565 (เปิดบริการปกติ) ผู้เช่าตามคอนเซ็ปต์ใหม่จะทยอยเข้ามาเปิดให้บริการทีละโซน ทั้งโครงการจะแล้วเสร็จในไตรมาส 3 ปีนี้   

หลังจากนี้จะทยอยปรับศูนย์การค้าที่เหลือ อย่าง “พันธุ์ทิพย์ งามวงศ์วาน” ที่เปิดมาตั้งแต่ปี 2533 มีไฮไลต์ศูนย์พระเครื่อง ยังคงเก็บไว้  ปรับโฉมด้วยคอนเซ็ปต์และไลฟ์ไสตล์ของลูกค้าในทำเลนั้นๆ เช่นเดียวกับ “ตะวันนา บางกะปิ” ที่เป็นรูปแบบคอมมูนิตี้ มาร์เก็ต

 

ปั้น “ล้านนาทีค” จุดหมายนักท่องเที่ยวต้องมาเยือน

หากดูรูปแบบการการพัฒนาพื้นที่รีเทลของ AWC  ในทำเลศักยภาพจะสร้างเป็นแลนด์มาร์คจุดหมายการท่องเที่ยว ที่ต่างชาติต้องมาเยี่ยมเยือนมาประเทศไทย  ไม่ว่าจะเป็น “เอเชียทีค” (Asiatique) เดอะ ริเวอร์ฟร้อนท์ ศูนย์กลางการท่องเที่ยวเชิงไลฟ์สไตล์ริมแม่น้ำเจ้าพระยา, “อควอทีค” (Aquatique) ทำเลใจกลางเมืองพัทยา พื้นที่รีเทล ศูนย์รวมร้านอาหาร แหล่งท่องเที่ยว และการแสดงโชว์ต่างๆ ภายใต้คอนเซ็ปต์ Fun & Entertainment

ล่าสุดกับการปั้น “ล้านนาทีค”  (Lannatique) ให้เป็นอีก Destination ที่อยู่ในลิสต์นักท่องเที่ยวต่างชาติปักหมุดต้องมา

นอกจาก “พันธุ์ทิพย์ เชียงใหม่” ในย่านถนนช้างคลาน ซึ่งเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวสำคัญของจังหวัดเชียงใหม่ อยู่ใกล้กับแม่น้ำปิงและไนท์บาซาร์ AWC ยังมีโรงแรมอีก 4 แห่ง รวมกว่า 1,100 ห้อง มูลค่าลงทุน 10,000 ล้านบาท คือ เลอ เมอริเดียน เชียงใหม่ โรงแรม มีเลีย เชียงใหม่, โรงแรมดุสิตดีทู เชียงใหม่ และโรงแรมอินเตอร์คอนติเนนตัล เชียงใหม่ แม่ปิง (รีแบรนด์จาก อิมพีเรียล แม่ปิง) เตรียมเปิดให้บริการกลางปีนี้

ทั้ง 4 โรงแรมดังกล่าว จะเชื่อมโยงกับโครงการ “ล้านนาทีค” ที่กำลังอยู่ในแผนพัฒนาของ AWC ให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงไลฟ์สไตล์ของเชียงใหม่ ประกอบด้วยโครงการย่อย ได้แก่ ตลาดกาแล, ไนท์บาซาร์, เดอะ พลาซ่า และพื้นที่ตลาดอนุสาร โดยจะทำให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวทางศิลปวัฒนธรรมของภาคเหนือ ร่วมกับพาร์ทเนอร์ทั้งไทยและต่างประเทศที่จะพัฒนาโปรเจกต์ร่วมกัน โดยเตรียมเปิดเฟสแรกปลายปี 2566

ในจังหวัดเชียงใหม่ขณะนี้ AWC มีโครงการอสังหาฯ ที่พัฒนาไปแล้ว กำลังรีโนเวท และเตรียมลงทุนใหม่ในย่านใจกลางเมือง รวม 12 โครงการ  “เชียงใหม่” ถือเป็นทำเลศักยภาพที่มีการลงทุนต่อเนื่องและมีจำนวนโครงการมากที่สุดรองจากกรุงเทพฯ      

อ่านเพิ่มเติม


แชร์ :

You may also like