การเลือกตั้งในวันที่ 14 พฤษภาคมนี้ ถือเป็นวาระสำคัญของประเทศไทย พรรคการเมืองใหญ่และเล็กต่างเปิดเกมรุกหาเสียงหวังคว้าชัย ทำให้ สีสันการเมืองคึกคัก สิบนิ้วพนมพร้อมก้มลงไหว้ทักทายประชาชนกันถ้วนหน้า สังเกตไหมว่าทุกครั้งของการลงพื้นที่หาเสียง สิ่งหนึ่งที่ขาดไม่ได้เลยสำหรับนักการเมืองคือ ‘มาลัยดอกดาวเรือง’ คล้องคอสีเหลืองสดที่เด่นมาแต่ไกล!
เลือกตั้งทีไร ดาวเรืองขาดตลาด
การออกหาเสียงในช่วงเลือกตั้งทุกยุคทุกสมัย นักการเมืองไทยก็ต้องใส่มาลัยดอกดาวเรือง และด้วยเหตุนี้เองทุกช่วง 2-3 เดือนก่อนการเลือกตั้งมักจะมีข่าวดอกดาวเรืองขาดตลาด และราคาก็พุ่งสูงมากขึ้น
โดยปกติราคาดอกดาวเรืองจะแบ่งตามขนาด แต่เมื่อต้นเดือนเมษายน 2566 ที่ผ่านมาราคาดอกดาวเรืองแพงขึ้นเป็น ‘เท่าตัว‘
- ขนาดใหญ่สุดคือ จัมโบ้ 25 (ขนาดเท่าฝ่ามือ) ปกติดอกละ 1.50 บาท ปรับขึ้นเป็นดอกละ 3.50-3.70 บาท
- ขนาดจัมโบ้ ปกติดอกละ 1.20 บาท ปรับขึ้นเป็นดอกละ 2.50-2.70 บาท
- ขนาดเบอร์ 0 ปกติดอกละ 70 สตางค์ ปรับขึ้นเป็นดอกละ 1.00-1.70 บาท
- ดอกคละไซซ์ เบอร์ 1-4 ปกติดอกละ 70 สตางค์ ปรับขึ้นเป็นดอกละ 90 สตางค์
โดยเฉพาะเบอร์ 15 และ 16 ที่มีความต้องการสูง เสียงจากแม่ค้าดอกไม้ที่ปากคลองตลาดให้ความเห็นตรงกันว่า เนื่องจากเป็นช่วงหาเสียงเลือกตั้ง ส.ส. ผู้สนับสนุนและกองเชียร์ของผู้สมัครพรรคการเมืองแต่พรรคมีความต้องการที่จะใช้พวงมาลัยดอกดาวเรืองไปมอบให้ผู้สมัคร ส.ส.ที่ตนรักตนชอบเพื่อเป็นกำลังใจช่วงที่ผู้สมัครเดินหาเสียงหรือตั้งเวทีปราศรัย โดยมาลัยคล้องคอผู้สมัครจะใช้ดอกดาวเรืองดอกใหญ่ ใช้ 60 ดอกเป็นขั้นต่ำต่อพวง ปัจจุบันมีราคาพวงละ 40 บาท แต่เมื่อมีความต้องการสูง ต้นทุนดอกดาวเรืองแพงขึ้นจึงต้องปรับเป็นพวงละ 60 บาท
ถ้าใครกำลังตั้งคำถามว่าการเลือกตั้งทำให้ตลาดดอกดาวเรืองสะพัดขนาดนั้นเลยเหรอ? ผลสำรวจของศูนย์วิจัยกสิกรไทยรายงานว่าในช่วงหาเสียงเลือกตั้งในช่วงปลายปี 2550 สามารถเพิ่มเม็ดเงินสะพัดให้กับธุรกิจร้อยมาลัยดอกดาวเรืองประมาณ 30 ล้านบาท และในช่วงการเลือกตั้งปี 2554 ทำให้ธุรกิจนี้มีเม็ดเงินสะพัดเพิ่มขึ้นไม่ต่ำกว่า 53 ล้านบาท ในการเลือกตั้งปี 2566 นี้ แม้จะยังไม่มีผลสำรวจชัดเจน แต่ก็ถูกคาดการณ์ว่าตลาดดอกดาวเรืองจะสะพัดไม่แพ้การเลือกตั้งครั้งก่อนๆ แน่นอน
ปัจจุบันดอกดาวเรือง เป็นพืชเศรษฐกิจ มีความต้องการของตลาดสูง ราคาไม่ตก ขายได้ตลอดทั้งปี เป็นพืชอายุสั้น ใช้เวลา 45 วัน ก็ตัดขายได้ โดยแหล่งปลูกดอกดาวเรืองส่งขายที่ใหญ่ที่สุดในไทยคือที่จังหวัดบุรีรัมย์
ทำไมนักการเมืองไทยต้องคู่กับมาลัยดอกดาวเรือง
เป็นคำถามสำหรับคนรุ่นใหม่ไม่น้อยว่าทำไมทุกครั้งของการลงพื้นที่หาเสียง ผู้สมัคร ส.ส. ต้องคล้องมาลัยดอกดาวเรือง โดยจะเห็นมาลัยดอกไม้ชนิดอื่นๆ น้อยมาก สำหรับคำถามนี้ยังไม่มีหลักฐานทางวิชาการแน่ชัด แต่เป็นเหตุผลทางวัฒนธรรมหลายอย่างประกอบกัน
‘ดอกดาวเรือง‘ เป็นดอกไม้ที่นิยมใช้ในหลายโอกาส ตั้งแต่บูชาพระ ไปจนถึงใช้ประกอบในพิธีต่างๆ ในประเทศอินเดียก็นิยมนำเอาดอกดาวเรืองมาไปใช้ในพิธีกรรมของศาสนาพราหมณ์-ฮินดู รู้จักกันในชื่อ Tagetes ในอินเดีย ซึ่งเป็นชื่อเทพแห่งสติปัญญา
ปัจจัยที่ทำให้ดอกดาวเรืองมีความสำคัญกับคนไทยคือชื่อ ‘ดาวเรือง’ ที่มีความเป็นสิริมงคลหมายถึง ‘ความรุ่งเรือง–รุ่งโรจน์’ ครอบครัวไทยหลายๆ บ้าน รวมทั้งสายมูเตลู จึงมักนิยมปลูกดอกไม้ชนิดนี้ในบริเวณบ้าน เพื่อช่วยเสริมโชคทางด้านการเงินและบารมี
ด้วยชื่อเป็นมงคลนี่เอง อาจจะเป็นจุดเริ่มต้นให้มาลัยดอกดาวเรืองกลายเป็นไอเทมคู่ใจของนักการเมืองไทย คุณสมศักดิ์ ปริศนานันทกุล อดีตแกนนำพรรคชาติไทยพัฒนา อดีตนักการเมืองมากประสบการณ์เคยให้สัมภาษณ์เรื่อง ‘มาลัยดอกดาวเรืองกับนักการเมือง‘ ในไทยรัฐออนไลน์ว่าภาพจำของนักการเมืองไทยกับดอกดาวเรืองน่าจะเริ่มตั้งแต่ช่วงปี 2531 การให้พวงมาลัยแก่ผู้สมัครต่างๆ นั้นเปรียบเสมือนการมองถึงชัยชนะ เพราะดอกดาวเรืองมีความหมายที่ดีอยู่ในตัว ซึ่งหมายถึง ‘ความเจริญรุ่งเรือง‘
หลังจากนั้นเป็นต้นมาทุกเวทีปราศรัยหรือทุกการหาเสียงในช่วงเลือกตั้ง ก็มักจะพบเจอมาลัยดอกดาวเรืองเหลืองเด่นบนคอของนักการเมือง หรือผู้สมัคร บางคนถึงขั้นมองทางไม่เห็น เพราะพวงมาลัยล้นคอยิ่งกว่าพระเอกลิเกที่มีแม่ยกยกคล้องมาลัยให้ไม่อั้น และที่แน่ๆ ยิ่งกระแสการเลือกตั้งคึกคักเท่าไร ยิ่งทำให้กลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกดอกดาวเรืองยิ้มหน้าบานแน่นอน
อ้างอิง
https://www.thairath.co.th/scoop/1500716
https://www.thaipbs.or.th/news/content/278407
https://www.kasikornresearch.com/th/analysis/k-econ/economy/Pages/10423.aspx