ในสหรัฐอเมริกา ข้อมูลจาก WSJ ระบุว่า ปัจจุบัน เด็กวัยรุ่นอเมริกันใช้ TikTok ราว 2 ใน 3 และมีถึง 16% ที่ยอมรับว่า ใช้งาน TikTok เกือบตลอดเวลา ซึ่งถือเป็นตัวเลขที่ไม่น้อย และตัวเลขนี้เองที่กำลังทำให้เสียงจากผู้มีอำนาจดังขึ้นเรื่อยๆ ว่าถึงเวลาที่เราต้องแบน TikTok จากเด็กอเมริกัน
สิ่งที่ทำให้เกิดความกังวลดังกล่าวมาจากอัลกอริธึมของ TikTok โดยมีงานวิจัยหลายชิ้นในสหรัฐอเมริกาชี้ว่า TikTok มีการฟีดคอนเทนต์ที่ไม่เหมาะสมให้เด็ก ๆ ในสหรัฐอเมริกาได้รับชม ยกตัวอย่างเช่น งานวิจัยจากองค์กรไม่แสวงกำไรอย่าง The Center for Countering Digital Hate ที่เคยทำการทดลองเกี่ยวกับสิ่งที่เด็ก ๆ มองเห็นบน TikTok เมื่อเดือนสิงหาคม 2022 โดยทีมวิจัยได้ตั้งค่าแอคเคาน์ปลอมเป็นเด็กอายุ 13 ปี จำนวน 4 คน ที่อาศัยอยู่ในสหรัฐอเมริกา อังกฤษ แคนาดา และออสเตรเลีย (รวมถึงมีการตั้งชื่อแอคเคาน์หนึ่งให้สอดคล้องกับประเด็นที่ต้องการ เช่น ใส่คำว่า ลดน้ำหนัก – Loseweight ลงไปด้วย) และพบว่า ใน 30 นาทีแรกของการเข้าเล่น TikTok นั้น ในฟีด For You ของเด็กทั้ง 4 คน มีการแสดงคลิปที่เกี่ยวกับ Mental Health และภาพที่เกี่ยวกับ Body Image (เช่น ภาพที่สร้างการรับรู้ว่านางแบบต้องมีหุ่นผอมบาง) ปรากฏออกมาอย่างต่อเนื่อง
นอกจากนั้น งานวิจัยยังพบว่า มีการแนะนำคอนเทนต์เกี่ยวกับการฆ่าตัวตายออกมาภายใน 2.6 นาที และคอนเทนต์เกี่ยวกับพฤติกรรมการกินที่ผิดปกติภายใน 8 นาที ส่วนคอนเทนต์เกี่ยวกับ Body Image และ Mental Health นั้นพบว่า จะแสดงผลทุก ๆ 39 วินาที
ส่วนแอคเคาน์ที่ใส่คำว่า Loseweight ลงไปด้วยนั้น งานวิจัยพบว่า มีการแสดงผลคอนเทนต์รุนแรงมากกว่าแอคเคาน์ธรรมดาทั่วไปถึง 3 เท่า และมีคอนเทนต์เกี่ยวกับการทำร้ายตัวเองมากกว่าแอคเคาน์ทั่วไปถึง 12 เท่า
นักวิจัยยังเผยว่า TikTok มักแสดงผลคลิปวิดีโอที่เกี่ยวกับการฆ่าตัวตาย และการรับประทานที่ผิดปกติ (Eating Disorder) ออกมาแบบกระทันหัน ซึ่งหลังจากมีการเผยแพร่งานวิจัยนี้ออกมา คลิปดังกล่าวได้หายไปจากแพลตฟอร์มแล้ว
ด้านสื่ออย่าง WSJ ระบุเพิ่มเติมด้วยว่า TikTok ได้ลบคอนเทนต์ที่โชว์การฆ่าตัวตาย (แบบจะ ๆ ) ออกไปจากแพลตฟอร์มก็จริง แต่คลิปที่ผู้สร้างมานั่งอธิบายเกี่ยวกับความรู้สึกของตัวเองตอนที่เศร้ามาก ๆ จนอยากฆ่าตัวตาย อาจไม่ถูกจัดเป็นคลิปที่ละเมิดนโยบายของทางแพลตฟอร์ม ซึ่งในมุมของนักจิตวิทยาเด็ก พวกเขามองว่า คลิปเหล่านี้ก็มีผลกระทบด้านลบต่อเด็กด้วยเช่นกัน
ขณะที่ TikTok เผยว่า ที่ผ่านมา บริษัทได้มีการจ้างพนักงานกว่า 40,000 คนเพื่อคัดกรองคอนเทนต์ที่ไม่เหมาะสมออกจากแพลตฟอร์ม และในปี 2022 บริษัทสามารถลบคลิปที่ละเมิดนโยบายชุมชนไปถึง 85 ล้านคลิป โดยในจำนวนนี้มี 2.8% เป็นคลิปเกี่ยวกับการทำร้ายร่างกาย – ฆ่าตัวตาย – พฤติกรรมการกินที่ผิดปกติ อย่างไรก็ดี มีการอ้างถึงคำให้สัมภาษณ์ของผู้บริหารของ TikTok ที่บอกว่า อยากให้แพลตฟอร์มเป็นสถานที่ที่สามารถแบ่งปันความรู้สึกในช่วงเวลาที่ยากลำบากได้ด้วย ซึ่งอาจเป็นสาเหตุให้ตีความได้ว่า คลิปบรรยายความรู้สึกแย่จนอยากฆ่าตัวตายนั้นสามารถเผยแพร่ได้
ขณะที่ ในมุมของผู้สร้างคอนเทนต์เองก็มีวิธีการหลบเลี่ยงอัลกอริธึม – การคัดกรองของแพลตฟอร์ม เช่น แทนที่จะใส่คำว่าฆ่าตัวตาย (Suicide) ลงในคลิป พวกเขาก็เปลี่ยนไปใช้คำว่า “พยายาม” (Attemp) หรือคำว่า Sewerslide แทน
ทั้งนี้ คำแนะนำจากงานวิจัยดังกล่าวก็คือ TikTok ควรเปิดเผยอัลกอริธึมที่ใช้ในการนำเสนอคอนเทนต์ของแพลตฟอร์มเพื่อความโปร่งใส หรืออาจให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามากำกับดูแล ขณะที่คำแนะนำจาก The American Psychological Association แนะนำว่า พ่อแม่ผู้ปกครองควรเข้ามาดูแลการใช้งานโซเชียลมีเดียของลูกให้มากขึ้น โดยเฉพาะคอนเทนต์ที่กระตุ้นให้เด็ก ๆ ทำร้ายตัวเอง
“ถ้าบริษัทเทคโนโลยีไม่สามารถลบคอนเทนต์เหล่านี้ออกจากแพลตฟอร์มได้ ก็ไม่ควรสร้างอัลกอริธึมที่ส่งคอนเทนต์เหล่านี้ไปให้เด็ก ๆ ดู” Arthur C. Evans Jr. ผู้อำนวยการ the American Psychological Association กล่าวปิดท้าย
2 ฟีเจอร์คุมการใช้งานในเด็ก
ขณะที่ในมุมของแพลตฟอร์ม ทาง TikTok มีฟีเจอร์จำกัดเวลาการเล่นในกลุ่มผู้ใช้งานที่อายุต่ำกว่า 18 ปี โดยจะถูกล็อกให้ใช้งาน TikTok ได้เพียง 60 นาทีต่อวันเท่านั้น ส่วนใครที่เล่นถึง 60 นาทีแล้วอยากจะเล่นต่อ พวกเขาจะต้องใส่พาสโค้ด ซึ่ง TikTok บอกว่า เป็นการเตือนสติให้ผู้ใช้งานคิดก่อนด้วยว่าต้องการเล่นต่อจริงไหม
ส่วนผู้ใช้ที่อายุต่ำกว่า 13 ปีนั้น TikTok ระบุว่า คนที่ใส่พาสเวิร์ดต้องเป็นพ่อแม่ผู้ปกครอง และเวลาที่เพิ่มให้นั้นเท่ากับ 30 นาที
นอกจากนั้น หาก TikTok พบว่า ผู้ใช้งานมีอายุ 13 – 15 ปี ระบบจะเซ็ทค่าแอคเคาน์นั้นให้เป็นไพรเวทโดยอัตโนมัติ (ตั้งค่าให้บุคคลอื่นไม่สามารถเข้ามาดูได้) ส่วนการรับส่งข้อความหรือ Direct Messaging นั้นจะเปิดให้ผู้ใช้งานอายุตั้งแต่ 16 ปีขึ้นไปเท่านั้น และต้องอายุ 18 ปีขึ้นไปจึงจะสามารถจัด Live ได้
อีกหนึ่งฟีเจอร์ที่ครอบครัวน่าจะต้องการก็คือ Family Pairing ที่ TikTok บอกว่า ผู้ปกครองสามารถปรับเวลาในการใช้งาน TikTok ในเครื่องของลูกได้ (สามารถตั้งค่าการเล่น TikTok ให้แตกต่างกันได้ในวันต่าง ๆ เช่น วันที่ต้องไปโรงเรียน กับวันหยุดเสาร์อาทิตย์) และจะมี Dashboard แสดงผลให้ทราบว่า เด็ก ๆ ใช้เวลาไปเท่าไรกับ TikTok ทั้งในช่วงกลางวัน – กลางคืน นอกจากนั้น ตัวระบบยังสามารถ “ปิดการแจ้งเตือน” ในช่วงที่เด็ก ๆ ต้องนอนได้ด้วย เพื่อไม่ให้เป็นการรบกวน เช่น ในเด็ก 13- 15 ปี ระบบจะหยุดส่ง Notification ตอน 21.00 น. แต่ถ้าเด็กอายุ 16 -1 7 ปีจะปิด Notification ตอน 22.00