เป็นอีกหนึ่งยักษ์ใหญ่ที่มาเปิดสำนักงานในไทยอย่างเต็มรูปแบบสำหรับ อะโดบี (Adobe) กับการเปิดออฟฟิศที่ปาร์ค เวนเจอร์ อาคารสำนักงานสุดหรูย่านเพลินจิต พร้อมประกาศแผนรับพนักงานคนไทยเพิ่มรับยุค Generative AI ครองเมือง ด้านผู้บริหารชี้เทรนด์ “ความต้องการคอนเทนต์” จะเพิ่มขึ้น 5 เท่าภายใน 2 ปีนับจากนี้ และการมี Generative AI จะเข้ามาเติมเต็มความต้องการเหล่านั้นได้
นอกจากเข้ามาตั้งออฟฟิศอย่างเป็นทางการในประเทศไทยเมื่อ 10 พฤษภาคม ที่ผ่านมา คุณไซมอน เดล รองประธานบริหาร และกรรมการผู้จัดการประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (SEA) และเกาหลีของอะโดบี ยังได้จัดเซสชั่นพิเศษอธิบายความตั้งใจของบริษัทในการเปิดตัวสำนักงานครั้งนี้ด้วย โดยเขาระบุว่า การมาตั้งออฟฟิศในไทยครั้งนี้จะทำให้ Adobe เข้าใจความต้องการของธุรกิจในไทยมากขึ้น โดยเฉพาะการสร้างประสบการณ์ดิจิทัลซึ่งเป็นสิ่งที่ผู้บริโภคทุกวันนี้ให้ความสำคัญ และ Adobe ก็มีตัวอย่างที่ทำงานกับแบรนด์และประสบความสำเร็จในไทยแล้วมากมาย เช่น กรณีของเซ็นทรัลรีเทลที่ใช้เทคโนโลยีของ Adobe ในการสร้างแพลตฟอร์ม The1 และ สยามพิวรรธน์ เป็นต้น
“ประเทศไทยเป็นตลาดที่สำคัญสำหรับอะโดบีมาโดยตลอด และเรามีแผนที่จะเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับธุรกิจของเราด้วยการเปิดสำนักงานแห่งใหม่ที่นี่ อีกทั้งประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่มีระบบเศรษฐกิจดิจิทัลที่เติบโตเร็วที่สุดในภูมิภาคนี้ และการมีสำนักงานในไทยนับเป็นก้าวที่สำคัญที่ช่วยให้เราสนับสนุน ลูกค้าและพาร์ทเนอร์ในอุตสาหกรรมต่างๆ ได้ดียิ่งขึ้น ควบคู่ไปกับการรักษาสายสัมพันธ์อันแน่นแฟ้นกับทีมของเรา”
ใช้ Generative AI อย่างมีจริยธรรม
นอกเหนือจากการเข้ามาเปิดออฟฟิศเพื่อเจาะธุรกิจไทยแล้ว ในด้านการใช้งาน Generative AI ที่หลาย ๆ บริษัททั่วโลกรวมถึงไทยมีการตื่นตัวและให้ความสนใจอย่างมากนั้นก็มีความเคลื่อนไหวด้วยเช่นกัน โดยทางผู้บริหาร Adobe เผยว่า ที่ผ่านมา บริษัทมีการใช้ Generative AI อยู่แล้วในชื่อ Sensei และ Firefly พร้อมระบุว่า Gen AI ทั้งสองตัวคือสิ่งที่ช่วยสร้างคอนเทนต์ในรูปแบบต่าง ๆ สำหรับแบรนด์ในอนาคต โดยจุดเด่นของ Gen AI ของ Adobe ก็คือ การเทรนโดยใช้ข้อมูลอย่างมีจริยธรรม และไม่ละเมิดกฎหมายลิขสิทธิ์
ล่าสุด ทาง Adobe ยังประกาศความสามารถใหม่ของ Sensei ในการเข้าถึงไฟล์ PDF เพื่อปรับแต่ง หรือทำงานต่าง ๆ ได้มากขึ้น โดย API ที่ Adobe พัฒนาขึ้นนี้จะช่วยให้องค์กรต่าง ๆ ประหยัดเวลาในการทรานสฟอร์มคอนเทนต์ต่าง ๆ ลงได้กว่า 70%
Adobe เผยด้วยว่า ปัจจุบันโลกออนไลน์มีเอกสาร PDF อยู่มากกว่า 3 ล้านล้านชิ้น แต่กว่า 90% ของเอกสาร PDF ทั่วโลกไม่รองรับการใช้งานสำหรับบุคคลที่มีความทุพพลภาพ นอกจากนี้ยังพบปัญหาอื่น ๆ เช่น หน้าเปล่า ข้อความไม่ชัด บรรทัดบิดเบี้ยว หรือแม้แต่ตำแหน่งของตัวอักษร สระ วรรณยุกต์ ที่ผิดเพี้ยนไป
ทางบริษัทจึงได้พัฒนา Adobe PDF Accessibility Auto-Tag API เพื่อทำให้เอกสาร PDF สามารถเข้าถึงได้มากขึ้น และพบว่าผู้ทดลองใช้ Adobe PDF Accessibility Auto-Tag API กลุ่มแรก ๆ สามารถดำเนินการได้เอง และทำงานได้เร็วขึ้น 70%
นอกจากนี้ การใช้ Adobe Sensei ในการขับเคลื่อน API ดังกล่าวยังทำให้มีการแท็กโครงสร้างเนื้อหา PDF แบบอัตโนมัติ เช่น หัวเรื่อง ย่อหน้า รายการ และตาราง ซึ่งการติดแท็กนี้ช่วยให้แน่ใจว่าจะสามารถจัดลำดับการอ่านได้อย่างเหมาะสม เช่น โปรแกรมอ่านหน้าจอที่รองรับการใช้งานสำหรับบุคคลทุพพลภาพ ฯลฯ เป็นต้น ซึ่งกการเคลื่อนไหวรอบนี้ของ Adobe รวมถึงการรุกตลาดในไทยอย่างเต็มตัวก็อาจเป็นอีกหนึ่งสัญญาณที่แสดงให้เห็นว่า เราจะได้เห็นการผนวกความสามารถของ Gen AI อีกหลายรูปแบบลงในแอปพลิเคชันที่เราคุ้นเคย รวมถึงใช้ในการสร้างคอนเทนต์รูปแบบต่าง ๆ อีกมากมายในอนาคตด้วยนั่นเอง