สมาคมผู้ค้าปลีกไทย ร่วมกับ ธนาคารแห่งประเทศไทย เผยผลสำรวจความเชื่อมั่น (Retail Sentiment Index – RSI) ของผู้ประกอบการค้าปลีกประจำไตรมาส 2 พบว่าลดลงมาที่ 47 จุด ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยกลางที่ระดับ 50 จุดทุกองค์ประกอบครั้งแรกในรอบ 15 เดือน เหตุปัจจัยลบรุมเร้ารอบด้าน
ทั้งความล่าช้าในการจัดตั้งรัฐบา ค่าครองชีพ–หนี้ครัวเรือนสูง เศรษฐกิจชะลอตัว มาตรการกระตุ้นการใช้จ่ายภาครัฐเดิมหมดลง ภาครัฐชะลอการเบิกจ่ายเพื่อรอรัฐบาลใหม่ ช่วงโลว์ซีซั่นของการท่องเที่ยว ขณะที่ดัชนี RSI ระยะ 3 เดือนข้างหน้า (ก.ค.-ก.ย.) คาดว่าจะยังทรงตัว เนื่องจากความไม่มั่นใจในสถานการณ์หลังจัดตั้งรัฐบาลและนโยบายเศรษฐกิจจากรัฐบาลชุดใหม่ที่อาจส่งผลให้ธุรกิจต้องมีการปรับตัวครั้งใหญ่
ดร.ฉัตรชัย ตวงรัตนพันธ์ รองประธานสมาคมผู้ค้าปลีกไทย กล่าวว่า “ผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่น ผู้ค้าปลีกทั่วประเทศ (Retail Sentiment Index – RSI) ในภาพรวมพบว่า ดัชนี RSI (QoQ) ไตรมาส 2/2566 เมื่อเทียบกับไตรมาส 1/ 2566 มีความ “น่ากังวล” เนื่องจากปรับลดลงต่ำกว่าค่าเฉลี่ยกลางที่ระดับ 50 จุดทุกองค์ประกอบเป็นครั้งแรกในรอบ 15 เดือน ทั้งดัชนียอดขายสาขาเดิม ยอดใช้จ่ายต่อครั้ง และ ความถี่ในการจับจ่าย
สะท้อนถึงกำลังซื้อของผู้บริโภคฐานรากยังอ่อนแอ ภาระค่าครองชีพที่เพิ่มขึ้นทั้งค่าสาธารณูปโภค ค่าโดยสาร กดดันให้ผู้บริโภคมุ่งเน้นซื้อสินค้าที่จำเป็น รวมทั้งยังไม่มีมาตรการใหม่จากรัฐในการกระตุ้นการจับจ่าย
ทั้งนี้การลดลงของดัชนีตามภูมิภาคต่างๆ บ่งบอกถึงธุรกิจยังคงไม่ฟื้นตัว แม้ว่าจะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาในช่วงครึ่งปีแรกราว 12.4 ล้านคนก็ตาม ทั้งนี้หากจำแนกตามประเภทร้านค้า พบว่าความเชื่อมั่นในปัจจุบันปรับลดลงในทุกประเภทร้านค้าโดยร้านค้าส่ง ไฮเปอร์มาร์เก็ตยังคงไม่ฟื้นตัว ยกเว้นซูเปอร์มาร์เก็ตและร้านสะดวกซื้อ เนื่องจากผู้บริโภคยังคงเลือกซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็นรวมทั้งสินค้าที่มีการจัดโปรโมชั่น เพื่อลดค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน
ทำให้ภาพรวมค้าปลีกครึ่งปีแรกยังไม่สดใสเท่าที่ควร เนื่องจากภาคธุรกิจยังคงต้องเผชิญกับต้นทุนสูงจากทั้งค่าพลังงาน ค่าสาธารณูปโภค และอื่นๆ ขณะที่กำลังซื้อของผู้บริโภคยังอ่อนแอ ทางสมาคมฯ จึงขอนำเสนอ “ข้อเสนอแนะต่อรัฐบาลใหม่ชุดใหม่” ในประเด็นต่างๆ ดังนี้
- สนับสนุนให้มีการจัดตั้งรัฐบาลใหม่โดยเร็วและราบรื่นเพื่อให้ประเทศชาติเดินไปข้างหน้า
- จัดสรรงบประมาณรายจ่ายภาครัฐ ด้วยมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่เน้นไปที่แต่ละกลุ่มเป้าหมาย และไม่ซับซ้อน โดยเพิ่มกำลังซื้อให้กลุ่มฐานรากและเพิ่มการใช้จ่ายในกลุ่มที่มีกำลังซื้อสูง รวมทั้งลดขั้นตอนให้สามารถเข้าถึงได้สะดวก
- ส่งเสริมภาคท่องเที่ยวภายในประเทศเพื่อดึงดูดชาวต่างชาติและคนไทยท่องเที่ยวเมืองไทย เช่นการขยายเวลา Visa on Arrival ให้ต่างชาติพำนักในไทยได้นานขึ้น การเพิ่มความถี่เที่ยวบินมาประเทศไทย รวมถึงมุ่งสร้างความเชื่อมั่นด้านความปลอดภัยเมื่อมาเที่ยวเมืองไทย เป็นต้น