HomePR Newsเปิดเส้นทางพัฒนาชุมชนปากพูนสู่หมุดหมายท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ ผ่านเทศกาล “ล่องเรือ กินปู ดูหิ่งห้อย”

เปิดเส้นทางพัฒนาชุมชนปากพูนสู่หมุดหมายท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ ผ่านเทศกาล “ล่องเรือ กินปู ดูหิ่งห้อย”

แชร์ :

“จากจุดเริ่มต้นเพื่อฟื้นฟูธรรมชาติ กลายเป็นจุดแข็งที่เชื่อมโยงให้ชุมชนปากพูนกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ โดยเทศกาลล่องเรือ กินปู ดูหิ่งห้อยที่เราได้จัดทุกปีนั้น ถือเป็นหมุดหมายสำคัญที่ได้รวมวิถีชีวิตชุมชนของเราให้เป็นหนึ่งเดียว” เสียงสะท้อนจาก นายกวี หมั่นถนอม สมาชิกวิสาหกิจชุมชนท่องเที่ยวปากพูน เผยให้เห็นการเชื่อมโยงระหว่างการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมกับการท่องเที่ยวเชิงนิเวศที่ได้สร้างชื่อเสียงให้ชุมชนปากพูนกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญของจังหวัดนครศรีธรรมราชในทุกวันนี้ โดยเทศกาล “ล่องเรือ กินปู ดูหิ่งห้อย” ที่ได้จัดขึ้นเมื่อวันที่ 14-15 กรกฎาคมที่ผ่านมา ถือเป็นหนึ่งในเทศกาลสำคัญประจำปีที่ได้นำเสนอตัวตนที่แตกต่าง พร้อมสะท้อนวิถีชีวิตที่แข็งแกร่งของชุมชนปากพูนได้อย่างแท้จริง

ADFEST 2024

Santos Or Jaune

หากย้อนกลับไปเมื่อครั้งอดีต หลายคนอาจนึกไม่ถึงว่าตำบลปากพูนที่มีชื่อเสียงในปัจจุบัน กลับเป็นที่รู้จักในฐานะ “ทางผ่าน” ในการเดินทางเท่านั้น เนื่องจากอยู่ใกล้ที่ตั้งของสนามบินประจำจังหวัดนครศรีธรรมราช โดยแม้จะอบอวลไปด้วยกลิ่นอายของวิถีชีวิตชุมชนดั้งเดิม แต่จากการใช้ทรัพยากรที่มากเกินไปในช่วงหลายสิบปีก่อนทำให้เสน่ห์ของตำบลปากพูนที่โอบล้อมด้วยความสมบูรณ์ของธรรมชาติเริ่มจางหายไป ดังนั้นเพื่อฟื้นเสน่ห์ของชุมชนให้กลับมาอีกครั้ง บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด และบริษัทผู้ร่วมทุน ประกอบด้วย บริษัท มิตซุยออยล์ เอ็กซพลอเรชั่น จำกัด บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) และบริษัท พลังโสภณ จำกัด จึงได้ทำงานร่วมกับภาครัฐและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สนับสนุนการพัฒนาโครงการฟื้นฟูระบบนิเวศป่าชายเลน และส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ ตั้งแต่ปีพ.ศ. 2553 อย่างต่อเนื่อง เพื่อพลิกบทบาทของชุมชนปากพูนจาก “ทางผ่าน” สู่หมุดหมายการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์สำคัญของจังหวัดนครศรีธรรมราชที่นักท่องเที่ยวต้องมาเยือน

นายกวี กล่าวเสริมว่า “ถึงแม้ผมจะไม่ใช่คนปากพูน แต่ผมใช้ชีวิตอยู่ที่ปากพูนมานานและได้เห็นถึงช่วงเปลี่ยนผ่านตั้งแต่สมัยที่เริ่มเสื่อมโทรม จนถึงวันที่เชฟรอนและเทศบาลได้เข้ามาทำโครงการเพื่อปลูกป่าและฟื้นฟูระบบนิเวศน์ให้สมบูรณ์อีกครั้ง ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาทางโครงการฯ ได้ส่งเสริมการท่องเที่ยวมากขึ้นทำให้นักท่องเที่ยวแวะเวียนเข้ามาอย่างต่อเนื่อง ชาวบ้านอย่างเช่นผม ที่กำลังทำศูนย์เรียนรู้การทำน้ำตาลมะพร้าว สวนแม่ทองพริ้ง ก็ต้องพัฒนาสินค้าพื้นบ้านให้ดีขึ้น ผ่านนวัตกรรมวิจัยต่างๆ ให้คนที่มาซื้อเชื่อถือผลิตภัณฑ์ และสิ่งเหล่านี้ได้ต่อเติมรากฐานที่แข็งแกร่งหล่อเลี้ยงรายได้ให้ชุมชนชาวปากพูนของเรา โดยสำหรับงานเทศกาลประจำปีที่จัดขึ้นเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา ถือได้ว่ามีจุดเริ่มต้นสำคัญจากโครงการฯ ดังกล่าว ซึ่งหากใครได้มาเที่ยวชมก็จะได้เห็นไฮไลท์กิจกรรมท่องเที่ยวปากพูนผ่านวิถีดั้งเดิมที่ผสานกับนวัตกรรมที่พัฒนาจากรุ่นสู่รุ่น พร้อมได้สัมผัสธรรมชาติแบบที่ไม่เหมือนที่ไหน”

เทศกาล “ล่องเรือ กินปู ดูหิ่งห้อย” ถือเป็นหนึ่งในกิจกรรมภายใต้โครงการฟื้นฟูระบบนิเวศป่าชายเลน และส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ ที่ทางเทศบาลเมืองปากพูนได้จัดขึ้นร่วมกับภาคีเครือข่าย ผ่านการสนับสนุนจาก บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด และบริษัทผู้ร่วมทุน โดยงานในปีนี้ ได้จัดขึ้นภายใต้ธีม “วิถีชาวเล เสน่ห์ ปากพูน” ซึ่งได้รวบรวม “เสน่ห์” ที่โดดเด่นของการท่องเที่ยวตำบลปากพูนไว้ด้วยกัน อาทิ กิจกรรมล่องเรือชมอุโมงค์อเมซอนที่โอบล้อมด้วยป่าโกงกาง กิจกรรมเวิร์กช็อปการทำเหนียวห่อกล้วย สูตรโรงเหนียวยายศรี และการร้อยลูกปัดมโนราห์เป็นพวงกุญแจ ไปจนถึงได้เรียนรู้การทำน้ำตาลแท้ๆ ซึ่งเป็นอาชีพดั้งเดิมของชาวปากพูน และกิจกรรมปล่อยพันธุ์สัตว์น้ำบริเวณสามแยกปากอ่าว โดยกิจกรรมที่ได้รวบรวมมาในเทศกาลดังกล่าว ได้ตอกย้ำยุทธศาสตร์ของพื้นที่ในการเชื่อมโยงระหว่างการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมและเชิงอนุรักษ์เข้าไว้ด้วยกันอย่างลงตัว

ด้าน นางสาวพรทิพย์ ชุนเชย เจ้าหน้าที่ส่งเสริมการท่องเที่ยวของเทศบาลเมืองปากพูน กล่าวเสริมว่า “ปัจจุบันเรามุ่งอนุรักษ์ธรรมชาติเต็มรูปแบบ ทำให้นักท่องเที่ยวหลั่งไหลเข้ามาสัมผัสธรรมชาติของเรา ซึ่งพื้นที่ของปากพูนมีเสน่ห์ที่น่าสนใจและมีกลิ่นอายวิถีชีวิตดั้งเดิมที่หาดูได้ยาก โดยหลังจากทางโครงการฯ ได้เริ่มส่งเสริมการท่องเที่ยว ทำให้แต่ละวันเรารับนักท่องเที่ยวเยอะขึ้น ซึ่งเราออกเรือพานักท่องเที่ยวไปชมอุโมงค์สัปดาห์หนึ่งได้มากถึง 15 ลำ ยิ่งไปกว่านั้นในช่วงเทศกาล “ล่องเรือ กินปู ดูหิ่งห้อย” ที่เพิ่งจัดขึ้นนี้ เราก็ได้พานักท่องเที่ยวไปดูหิ่งห้อยถึง 40-50 ลำต่อคืนเลยทีเดียว”

นอกจากหัวใจหลักของการพัฒนาพื้นที่ปากพูนผ่านชุมชนที่เข้มแข็งและธรรมชาติที่สมบูรณ์แล้ว ความร่วมมือร่วมใจระหว่างหน่วยงานถือเป็นอีกหนึ่งกุญแจที่ช่วยผลักดันเศรษฐกิจในพื้นที่ให้เติบโตยิ่งขึ้น นายธนาวุฒิ ถาวรพราหมณ์ นายกเทศมนตรีเมืองปากพูน กล่าวว่า “การที่ภาคเอกชน ดังเช่นเชฟรอนได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของการฟื้นฟูและพัฒนาพื้นที่ปากพูนให้เป็นแหล่งท่องเที่ยงเชิงอนุรักษ์ที่สำคัญของจังหวัดนครศรีธรรมราช และร่วมสนับสนุนจนถึงปีที่ 14 นี้ ถือเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญอย่างมากในการต่อยอดสู่โมเดลต้นแบบในพื้นที่อื่นๆ โดยในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา เชฟรอนได้ต่อยอดกิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์มากมายภายใต้โครงการฯ ไม่ว่าจะเป็น การเปิดตัว “ปากพูน Feel Good Station ศูนย์รวมจุดเช็คอิน กินเที่ยวที่เดียวครบ” การพัฒนาพื้นที่เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ การปรับปรุงศูนย์นิทรรศการความหลากหลายทางพันธุกรรมระบบนิเวศป่าชายเลน การปรับปรุงห้องสุขาสำหรับต้อนรับนักท่องเที่ยว การปล่อยพันธุ์สัตว์น้ำ และปลูกป่าชายเลน พร้อมทั้งสนับสนุนกิจกรรมเทศกาลประจำปี “ล่องเรือ กินปู ดูหิ่งห้อย” อย่างที่ได้จัดขึ้นเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา โดยจากความสำเร็จของโครงการนี้ เรามีแผนมุ่งสร้างความสมดุลระหว่างการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและการท่องเที่ยวควบคู่กันเพื่อเสริมแกร่งจังหวัดนครศรีธรรมราชในทุกมิติ”

นางสาวพรสุรีย์ กอนันทา รองประธานกรรมการบริหาร ฝ่ายกิจการองค์กร บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด ได้กล่าวย้ำถึงความมุ่งมั่นของเชฟรอนว่า “จังหวัดนครศรีธรรมราช เปรียบเสมือนเป็นบ้านอีกหนึ่งหลังของเรา โดยตั้งแต่ปีพ.ศ. 2553 จนถึงปัจจุบัน เราได้มอบเงินสนับสนุนพื้นที่ชุมชนปากพูนภายใต้ภายใต้โครงการฟื้นฟูระบบนิเวศป่าชายเลน และส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ด้วยงบประมาณรวม 4.7 ล้านบาท และสำหรับเทศกาล “ล่องเรือ กินปู ดูหิ่งห้อย” ในปีนี้ ถือเป็นการต่อยอดอีกหนึ่งความสำเร็จครั้งใหญ่ ที่จะขับเคลื่อนการท่องเที่ยวเชิงเกษตร ส่งเสริมแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ  อุโมงค์อเมซอน โบราณสถาน และผลิตภัณฑ์เด่นในตำบลปากพูนให้เป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวาง เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของชุมชนตามพันธกิจที่บริษัทเชฟรอนยึดมั่นและถือปฏิบัติอย่างต่อเนื่องตลอดมา โดยทางบริษัทฯ หวังว่าโครงการฯ ดังกล่าว จะช่วยเสริมสร้างความเข้มแข็งของเศรษฐกิจชุมชน พร้อมทั้งสร้างความเชื่อมั่นแก่นักท่องเที่ยวที่จะเข้ามาเยือนจังหวัดนครศรีธรรมราชและชุมชนปากพูนต่อไป”

จึงเห็นได้ว่า กว่าตำบลปากพูนจะพัฒนามาเป็นโมเดลต้นแบบการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ของจังหวัดนครศรีธรรมราชนั้น เป้าหมายสำคัญที่ชุมชน และภาคเอกชนอย่างเชฟรอน ไปจนถึงภาคีเครือข่ายต่างๆ ได้ยึดโยงเป็นหมุดหมายเดียวกันคือการได้เห็น “บ้าน” อันอุดมสมบูรณ์ สามารถหล่อเลี้ยงคนในพื้นที่จากรุ่นสู่รุ่นต่อไปอย่างยั่งยืน


แชร์ :

You may also like