HomeBrand Move !!“อธิพล ตีระสงกรานต์” ทายาทเจน 2 ฟู้ดแลนด์ เล่าความท้าทายธุรกิจ “ซูเปอร์มาร์เก็ต” ท่ามกลางปัจจัยลบ ‘ต้นทุน-บุคลากร’

“อธิพล ตีระสงกรานต์” ทายาทเจน 2 ฟู้ดแลนด์ เล่าความท้าทายธุรกิจ “ซูเปอร์มาร์เก็ต” ท่ามกลางปัจจัยลบ ‘ต้นทุน-บุคลากร’

แชร์ :

Gen2 foodland

ท่ามกลางสมรภูมิธุรกิจรีเทลโดยเฉพาะซูเปอร์มาร์เก็ตที่มีการแข่งขันสูง “ฟู้ดแลนด์”  (Food Land) คือซูเปอร์มาร์เก็ต 24 ชั่วโมงรายแรกของไทยที่ประสบความสำเร็จมากว่า 51 ปีแล้ว ด้วยเอกลักษณ์ที่เน้นสินค้าพรีเมี่ยมจากหลากหลายสัญชาติทั้งอาหารสด แห้ง เครื่องดื่ม ที่หลากหลาย และยังมีร้าน “ถูกและดี” เป็นคีย์ไฮไลท์สำคัญ

ADFEST 2024

Santos Or Jaune

ตลอดเส้นทางที่ผ่านมา “ฟู้ดแลนด์” มีบททดสอบให้ได้พิสูจน์อย่างต่อเนื่องแทบทุกปีทั้งภาวะต้นทุน การแข่งขัน การระบาดของโควิด-19 ไปจนถึงวิกฤติภายนอกต่างๆที่ยากเกินจะควบคุม แต่ก็สามารถผ่านบททดสอบมาได้ทุกครั้ง โดยมีเบื้องหลังความสำเร็จคือ “คุณอธิพล ตีระสงกรานต์” ทายาทเจน 2 ในฐานะรองกรรมการผู้จัดการ บริษัท ฟู้ดแลนด์ซุปเปอร์มาร์เก็ต จำกัด ที่ทำหน้าที่กุมทัพใหญ่ฝ่าฟันอุปสรรคมาระลอกแล้วระลอกเล่า 

 

“กลุ่มลูกค้าปัจจุบันอายุ 30 ปีปลายๆขึ้นไปเกือบทั้งหมด ความท้าทายของผมจากนี้คือจะหาลูกค้าใหม่ที่มีอายุต่ำกว่า 30 ปีลงมา ให้เข้ามาจับจ่ายซื้อสินค้า เพราะต้องการกำลังซื้อใหม่ๆ เพิ่มเติมจากกลุ่มลูกค้าเดิมที่มีอยู่ และนั่นคือสิ่งที่ยากมากท่ามกลางการแข่งขันในปัจจุบัน” คุณอธิพล ตีระสงกรานต์ กล่าวถึงเป้าหมายของฟู้ดแลนด์ภายใต้การกุมทัพในยุคของตัวเอง

ยืนหนึ่งในซูเปอร์มาร์เก็ตสัญชาติไทยที่เติบโต ท่ามกลางสมรภูมิรีเทลแข่งเดือด

คุณอธิพล ตีระสงกรานต์  เล่าถึงแนวคิดการทำธุรกิจซูเปอร์มาเก็ตในปัจจุบันว่า นับตั้งแต่วันแรกที่ก่อตั้งฟู้ดแลนด์ ในปี พ.ศ. 2515  โดย  “คุณสมศักดิ์ ตีระพัฒนกุล” (ผู้เป็นพ่อ) ภายใต้แนวคิดการทำธุรกิจที่ไม่ได้มุ่งหวังเพียงกำไร แต่ต้องคำนึงถึงสิ่งดีๆ และต่อยอดสู่สังคมได้ นั้นคือสิ่งที่เรายึดมั่นมาตลอด จวบจนปัจจุบันการแข่งขันในธุรกิจซูเปอร์มาร์เก็ตเมืองไทยปัจจุบันต้องยอมรับว่ารุนแรงชนิดดุเดือดเลือดพล่าน มีจำนวนผู้เล่นมากมาย แต่หากวัดจำนวนซูเปอร์มาร์เก็ตที่เป็นสัญชาติไทยจริงๆ มีเพียง “ฟู้ดแลนด์” และ “วิลล่า มาร์เก็ต” (ไม่นับรีเทลยักษ์ใหญ่ที่เข้ามาเล่น) ที่ยังคงสามารถรักษาการเติบในตลาดนี้ได้ 

หัวใจหลักที่ทำให้ “ฟู้ดแลนด์” ยังคงรักษาการเติบโตได้ท่ามกลางการแข่งขัน Red Ocean นั่นคือ “ความจริงใจ” ไม่ว่าจะกับพนักงาน ลูกค้า หรือแม้กระทั่งคู่ค้า และมองว่าทักคนคือคนในครอบครัว เพราะทุกอย่างต้อง Win-Win ด้วยกันทั้งสองฝ่าย ซึ่งตรงนี้เป็นส่วนที่สำคัญมาก เพราะว่าจะมีใครมีความสุขหรือได้รับประโยชน์อยู่ฝ่ายเดียวไม่ได้ แน่นอนการอยู่อย่างเที่ยงธรรมคือหัวใจสำคัญของเรา อย่างฟู้ดแลนด์เวลาทำโปรโมชั่น 1 แถม 1 เราจะย้ำกับพนักงานเลยว่า ของที่เรานำมาทำเป็นโปรโมชั่นส่วนลดนั้น จะต้องเป็นของใหม่ทั้งหมด เพราะการให้ส่วนลดกับลูกค้าเพื่อคืนกำไร ไม่ใช่เพื่อลดสต็อกแต่อย่างใด

 

คุณอธิพล ตีระสงกรานต์ 

คุณอธิพล ตีระสงกรานต์

 

“ทุกวันนี้เราไม่ได้มองว่าเราแข่งขันกับใคร เราเพียงแต่สู้กับตัวเองในการสร้างการเติบโตอย่างต่อเนื่อง ผ่านเรื่องความจริงใจที่มีต่อลูกค้า โดยเรามีแผนกที่ QC ที่คอยตรวจสอบมาตรการสินค้า โปรโมชั่น และการบริการอยู่เสมอ ยกตัวอย่างแคมเปญ 1 แถม 1 ของเราไม่เคยเอาสินค้าเก่ามาลดราคาอยู่แล้ว เราเอาสินค้าใหม่มาจัดโปรโมชั่นเสมอ นั่นคือสิ่งที่เราให้ความสำคัญผ่านแคมเปญที่เราจัดมาต่อเนื่องยาวนาน”

สูตรสำเร็จประการต่อมาของของฟู้ดแลนด์ คือ การทำธุรกิจให้ “ง่ายต่อลูกค้า ง่ายต่อพนักงาน” คือหัวใจสำคัญของการแข่งขัน “คุณอธิพล” บอกว่า  ในส่วนของ CRM โดยการเพิ่มสิทธิประโยชน์ต่างๆ ให้กับสมาชิกฟู้ดแลนด์ที่ปัจจุบันมีอยู่ 4 แสนคน ให้ได้มากและง่ายที่สุด เช่น การสะสมแต้ม การแลกเปลี่ยนพ้อยท์ จะต้องทำให้เข้าใจง่ายและมีกระบวนการที่ไม่ซับซ้อนให้มากที่สุด เพื่อให้สะดวกต่อการใช้งาน เช่น พ้อยท์ 1 แต้มก็จะเท่ากับจำนวนเงิน 1 บาทในทันที โดยที่ลูกค้าจะต้องไม่ยืนงงหน้าแคชเชียร์ว่าแต่ละแต้มมีมูลค่าเท่าไร และนั่นคือการแสดง “ความจริงใจ” ผ่านงานด้านการตลาดที่ฟู้ดแลนด์ใช้มาอย่างยาวนาน

 

food land at park Silom

ฟู้ดแลนด์ สาขาล่าสุดที่ พาร์ค สีลม

 

วัดขุมกำลังฟู้ดแลนด์” 10 ปี ต้องมีเพิ่ม 20 สาขา เน้นเจาะโซนรถไฟฟ้าในกรุงเทพฯ

แม้ตลาดซูเปอร์มาร์เก็ตแข่งขันรุนแรง แต่ “ฟู้ดแลนด์” ยังเดินหน้าขยายสาขาต่อเนื่อง ด้วยจุดแข็งเปิดให้บริการ 24 ชั่วโมง และสินค้าหลากหลายแตกต่างเพื่อเข้าถึงลูกค้ามากขึ้น โดย “ฟู้ดแลนด์” ได้วางแผนขยายสาขาเฉลี่ย 2 แห่งต่อปี ตลอดช่วง 10 ปีนับจากนี้  เฉลี่ยการลงทุน 60 ล้านบาทต่อสาขา หรือคิดเป็นเงินลงทุนเฉพาะการขยายสาขาคร่าวๆก็ราว 1,200 ล้านบาท (10 ปี) 

สำหรับการขยายสาขาในอนาคตจะเน้นทำเลหลัก คือทำเลโซนรถไฟฟ้า เพราะมีความสะดวกและเป็นย่านศักยภาพ และอาจจะมีการพัฒนาโปรเจกต์ร่วมกับคอมมูนิตี้มอลล์ต่างๆในกรุงเทพฯ เป็นหลัก ส่วนต่างจังหวัดนั้นยังไม่มีแผนขยายเพิ่มแต่อย่างใด เนื่องจากมองว่าเรื่องของกำลังซื้อและพฤติกรรมลูกค้ายังไม่ใช่กลุ่มลูกค้าของฟู้ดแลนด์

โดยปี 2566 นี้จะมีการขยายสาขาทั้งสิ้น 2 แห่ง แห่งแรกคือที่ “ฟู้ดแลนด์ สาขา พาร์ค สีลม”  ซึ่งเปิดให้บริการอย่างเป็นทางการเมื่อ 20 กรกฎาคมที่ผ่านมาเป็นการกลับมาขยายสาขาในรอบ 3 ปี (หลังการระบาดของโควิดผ่านพ้นไป)  ถือเป็นสาขาลำดับที่ 24 ของบริษัท บนพื้นที่ 1,750 ตารางเมตร ตั้งอยู่ทำเลกลาง CBD แห่งใหม่ของบริษัท มาพร้อมความเป็น Modern Luxury ชูความทันสมัยที่มาพร้อมความหรูหรา

 

buy 1 get 1

 

ภายใต้คอนเซ็ปต์ “Sophisticated Shopping Experience” เพื่อตอบสนองไลฟ์สไตล์ลูกค้าที่อยู่ใจกลางเมือง  ยกระดับประสบการณ์การช้อปตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์คนเมือง และคนรุ่นใหม่ โดยเน้นเจาะกลุ่มเป้าหมายพนักงานออฟฟิศ ประชากรในย่านสีลม ซึ่งเป็นย่านที่มีกำลังซื้อสูงอีกแห่งในรัศมี 1 กิโลเมตร ให้สามารถเดินมาได้ ก่อนจะเปิดสาขาถัดไปใน เดือนสิงหาคม 2566 ที่จะถึงนี้ กับ ฟู้ดแลนด์ในโครงการ Icon 56 ย่านสายไหม 56 บนพื้นที่ 1,500 ตร.ม. ภายใต้งบลงทุน 50 ล้านบาท ในสไตล์ โทนสีธรรมชาติ ขาวดำ เทา เข้ามาเพิ่มเติม

ขณะที่ในปีหน้า (2667) นอกจากจะมีแผนเปิด 2 สาขาใหม่แล้ว ยังเตรียมรีโนเวต 2 สาขา ได้แก่ ฟู้ดแลนด์ สาขาลาดพร้าว และ ฟู้ดแลนด์ สาขาหัวหมาก เพื่อรองรับการเข้ามาของรถไฟฟ้าสายสีเหลือง ซึ่งจะมีการปรับให้ทันสมัยมากขึ้น นอกจากนี้ยังจะปรับ “ถูกและดี” ในคอนเซ็ปต์ใหม่ทั้งหมด โดยใช้งบประมาณเฉลี่ย 20 ล้านบาทต่อสาขา

“หลังจากโควิด ต้องยอมรับว่าสถานการณ์วัตถุดิบและต้นทุนที่พุ่งสูงขึ้นหลายรายการ แม้บริษัทจะสามารถพยุงและบริหารจัดการในการจำหน่ายสินค้าเพื่อให้ผ่านวิกฤติมาได้ แต่ในส่วนของการขยายสาขาต้องยอมรับว่ามีผลต่องบลงทุนเพิ่มขึ้น จากที่เคยลงทุนในสาขาใหม่ราว 50 ล้านบาทต่อสาขา ก็เพิ่มเป็น 60-70 ล้านบาทต่อสาขา แต่เราก็ยังเชื่อว่าจะสามารถบริหารจัดการได้” 

นอกจากนี้ยังเตรียมผุดโมเดลใหม่ “ฟู้ดแลนด์ โกเซอรองส์” ซึ่งมีที่มาจาก Grocery+ Restaurant พื้นที่ในระดับ 1,000 ตร.ม. แบ่งเป็นพื้นที่ของร้านถูกและดี 50% และร้านสะดวกซื้ออีก 50% เน้นขยายในทำเลที่มีศักยภาพ ย่านชุมชน หรือพื้นที่คอนโดที่มีจำนวนประชากรอาศัยอยู่หนาแน่นในการเปิดตัวโมเดลดังกล่าว ซึ่งเตรียมเปิดตัวในช่วงปลายปี 2566 นี้  โดยในปีนี้ “ฟู้ดแลนด์” ตั้งเป้าเติบโต 5% หรือประมาณ 6,000 ล้านบาท จากยอดขายกว่า 5,800 ล้านบาทปีที่ผ่านมา ซึ่งเป็นตัวเลขที่น่าพอใจเมื่อเทียบกับสถานการณ์ในปัจจุบันที่มีปัจจัยลบรอบด้าน

 

“ถ้าฟู้ดแลนด์ไปที่ไหน ต้องเป็นกลุ่มลูกค้ากลาง-บน ไม่เช่นนั้นกำลังซื้อจะไม่ได้ เพราะว่าของสดเราแพงกว่าตลาด 20-30% แน่นอน ส่วนปัจจัยที่ทำให้สินค้าเรามีราคาแพงกว่า ก็เพราะเรามีการคัด มีการส่งพนักงานไปดูแหล่งผลิต ว่าได้มาตรฐานหรือไม่ การตรวจสอบตั้งแต่ต้นทางถึงปลายทาง ส่งผลให้ราคาและต้นทุนสูงตามไปด้วย ทำให้เราขายในตลาดแมสไม่ได้อยู่แล้ว”

 

เพิ่มฐานเงินเดือน-สวัสดิการ สร้างแรงจูงใจคนทำงาน

อีกประการสำคัญที่ “คุณอธิพล” บอกว่าคือฟันเฟืองชิ้นสำคัญที่ทำให้ “ฟู้ดแลนด์” เติบโตมาได้ถึงทุกวันนี้คือ “พนักงาน” หรือเรื่องของ “ทรัพยากรมนุษย์” ที่เป็นหัวใจสำคัญในการให้บริการที่ทำให้ฟู้ดแลนด์ครองใจลูกค้านานกว่า 5 ทศวรรษ 

ทว่าตลอดช่วงที่ผ่านมาสิ่งหนึ่งที่ท้าทายความสามารถในฐานะทายาทเจน 2 คือเรื่องของบุคลากรที่ยังขาดแคลนอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในช่วงโควิดที่ทางค่ายต้องเผชิญวิกฤติหนักในเรื่องของการขาดกำลังคนมากพอสมควร เพราะนอกจากการทำงานที่หนักแล้ว อุปสรรคสำคัญของงานบริการในภาครีเทลคือการทำงาน 6 วัน แน่นอน หลายๆคนโดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ อาจจะอยากทำงาน 5 วัน เพื่อมีวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ ทำให้การทำงานตลอด 6 วันไม่เป็นที่ตอบโจทย์คนทำงานรุ่นใหม่มากนัก 

 

foodland

 

ทำให้เจ้าตัวเลือกให้ความสำคัญกับเรื่องนี้เป็นอย่างมาก โดยเลือกที่จะเพิ่มฐานเงินเดือนและรายได้ให้แก่พนักงานเริ่มต้นที่ 14,000 บาท (วุฒิเริ่มต้น ม.3) จากเดิมที่มี 12,500 บาท โดยเริ่มตั้งแต่เดือนกรกฏาคม 2566 เป็นต้นมา พร้อมปรับเพิ่มสวัสดิการต่างๆที่มากขึ้น  นอกจากนี้ยังมีการ SWAP และตรวจสุขภาพพนักงานทุกเดือน ไม่ว่าจะเป็น การตรวจผิวหนัง สุขภาพ หรือส่วนที่ต้องสัมผัสการทำงานบ่อยๆ เพื่อเพิ่มความมั่นใจด้านสุขภาพให้แก่พนักงาน และลูกค้าที่มาใช้บริการ

“ฟู้ดแลนด์เติมคนเข้ามาในบริษัทหลักร้อยคนทุกปี และตอนนี้เรารับพนักงานเพิ่ม 500-600 คน เพื่อมาเติมเต็มในสาขาที่ขาดแคลนและรองรับการเปิดสาขาใหม่ โดยการเปิดฟู้ดแลนด์แต่ละแห่งจะใช้พนักงานราว 70-80 คนต่อสาขา ซึ่งจำนวนดังกล่าวนับว่ามากเมื่อเทียบกับบุคลากรในอุตสาหกรรมที่ยังขาดแคลนแต่เราก็ยังยึดมั่นในหัวใจหลักของการบริการที่ดีในการดึงดูดลูกค้า”

อย่างไรก็ตามแม้ต้องเผชิญปัญหาเรื่องบุคลากรที่ขาดแคลน แต่แม่ทัพฟู้ดแลนด์ กลับบอกว่า ยังไม่มีแผนนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้แทนแรงงานคนแต่อย่างใด เพราะมองว่าหัวใจสำคัญของงานบริการคือการ “ปฏิสัมพันธ์” กับลูกค้า ที่ช่วยสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจจนเกิดเป็นฐานลูกค้าประจำในที่สุด  

 

อ่านเพิ่มเติม

เปิดแล้ว Food Land คอนเซ็ปต์ใหม่ Modern Luxury ที่ พาร์ค สีลม เน้นสินค้าพรีเมี่ยม-ข้อมูลเชิงลึก ตอบโจทย์ลูกค้ากลางกรุง


แชร์ :

You may also like