เศรษฐกิจไทยจะก้าวไปในทิศทางใดในวันที่ทั่วโลกให้ความสนใจกับอาเซียน รวมถึงพฤติกรรมของผู้บริโภคในโลกดิจิทัลจะเปลี่ยนไปในทิศทางใด สองสิ่งนี้ถือเป็นเรื่องสำคัญอันดับต้น ๆ ของนักการตลาดและแบรนด์ ซึ่งมีการเปิดเผยถึงอินไซต์ดังกล่าวจาก Bain & Company ในงาน Meta Marketing Summit ไว้อย่างน่าสนใจ
สิ่งที่ Bain & Company นำมาเปิดเผยก็คือ โครงสร้างทางเศรษฐกิจของภูมิภาคอาเซียนอยู่ในตำแหน่งที่เป็นบวก โดยคุณดิเรก เกศวการุณย์ Managing Partner ประจำประเทศไทยของ Bain & Company กล่าวในภาพรวมว่า สิ่งที่ทำให้อาเซียนน่าสนใจสำหรับนักลงทุนทั่วโลกในเวลานี้ก็คือ การมีประชากรที่มีกำลังซื้อสูง (ส่งผลให้เป็นภูมิภาคที่มีการจับจ่ายใช้สอยสูง) และต่างชาติมองเห็นโอกาสในการเข้ามาลงทุนเพื่อผลิตและส่งออก รวมถึงอาเซียนยังเป็นตลาดท่องเที่ยวที่มีขนาดใหญ่มาก
ส่วนปัจจัยที่เป็นความเสี่ยงของอาเซียนคือ ประเด็นด้านความยั่งยืน เช่น การจัดการขยะพลาสติกที่ไม่มีประสิทธิภาพ หรือปัญหาด้านความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับสหรัฐอเมริกาที่อาจทำให้การลงทุนจากต่างชาติชะงักได้
“ไทย” อาจเติบโตช้าที่สุด
จากข้อมูลของ Bain & Company ยังเผยถึงตัวเลขคาดการณ์การเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในปี 2030 โดยพบว่า ประเทศเวียดนามจะมีโอกาสเติบโตมากที่สุดที่ 5 – 7% รองลงมาคืออินโดนีเซีย 4 – 5% สิงคโปร์ 3 – 5% ฟิลิปปินส์ 4 – 5% มาเลเซีย 3- 5% และไทย 2 – 3%
อย่างไรก็ดี ในทัศนะของคุณดิเรก มองว่า ผลการศึกษาดังกล่าวเป็นการคาดการณ์ แต่ประเทศไทยสามารถเปลี่ยนแปลงให้ดีกว่านี้ได้ โดยปัจจัยที่จะสร้างการเติบโตก็คือการมีนโยบายที่ส่งเสริมการพัฒนาด้านนวัตกรรม และการส่งเสริมการศึกษาให้มีประสิทธิภาพ รองรับทักษะที่โลกในอนาคตต้องการมากขึ้น
8 เทรนด์การจับจ่ายใช้สอย
อีกสิ่งหนึ่งที่ Bain & Company มองว่าแบรนด์และนักการตลาดควรให้ความสำคัญก็คือ พฤติกรรมการจับจ่ายใช้สอยของผู้บริโภคในยุคต่อไป เห็นได้จากรายงานเรื่อง Future of consumption in Asean 2024 into 2030 ที่พบว่า จะมีความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นถึง 8 ธีม ได้แก่
1. การเติบโตของผู้บริโภคกลุ่ม Middle-Class การเพิ่มขึ้นของผู้บริโภคกลุ่มดังกล่าวจะทำให้การใช้จ่ายในภูมิภาคอาเซียนเติบโตขึ้นอีกเท่าตัว โดยข้อมูลจาก Bain & Company พบว่า ภายในปี 2030 ผู้บริโภค 70% ของภูมิภาคนี้จะเป็นคนกลุ่ม Middle-Class (ปัจจุบันอยู่ที่ 60%)
2. เส้นแบ่งของสินค้าพรีเมียมกับสินค้าที่เน้น Valued จะเริ่มจางลง
3. ดิจิทัลจะมีความสำคัญเพิ่มขึ้นไม่ต่างจากคู่ชีวิตคนที่สอง โดยทาง Bain & Company คาดการณ์ว่า ใน 2030 อาเซียนจะมีผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตประมาณ 575 ล้านคน ซึ่งในจำนวนนี้ ใช้อินเทอร์เน็ตในการค้นหาสินค้า โดย 70% ไม่รู้ว่าตนเองต้องการอะไร และ 65% อาจเกิดการเปลี่ยนแบรนด์ได้
4. เทคโนโลยีจะทลายกำแพงทางเศรษฐกิจและสังคม
5. อาจมีการแข่งขันที่ไม่คาดคิดเกิดขึ้นได้
6. ความคาดหวังต่อธุรกิจค้าปลีกจะเพิ่มขึ้นอย่างมาก ผู้บริโภคจะย้ายจาก Omni-Channel ไปสู่ Omni-Presence นั่นคือลูกค้าต้องการ Engage กับเราในหลาย ๆ ช่องทาง และการที่เรามีข้อมูล มีความเข้าใจลูกค้ามากขึ้นจะทำให้เราเข้าไปอยู่กับลูกค้าในทุกจุด
7. ผู้บริโภคจะให้ความสำคัญกับความสะดวกสบายมากขึ้น โดยผู้บริโภค 2 ใน 3 จะยอมแลกความเป็นส่วนตัว (Privacy) เพื่อความสะดวกสบายดังกล่าว
8. ประเด็นด้านความยั่งยืนจะเป็นสิ่งที่แบรนด์ไม่อาจต่อรองได้อีกต่อไป คนจะยอมจ่ายมากขึ้นเพื่อสิ่งแวดล้อม แบรนด์ควรจะมองว่า เราจะมีโอกาสทำอะไรใหม่ ๆ อีกบ้างในเรื่องสิ่งแวดล้อม และความยั่งยืน
“สำหรับแบรนด์ นักการตลาด และธุรกิจค้าปลีก ถ้าเรารู้ว่านี่คือสิ่งที่กำลังเปลี่ยนแปลง สิ่งที่แบรนด์ควรทำก็คือ การลงมือทำอะไรสักอย่างเพื่อรับเทรนด์นั้น” โดยคุณดิเรกยกตัวอย่างว่า หากนึกไม่ออกให้สมมติตัวเองลองไปยืนในอนาคต 5 – 10 ปีข้างหน้า แล้วมองย้อนกลับมาก็ได้
“เหตุที่ต้องทำเช่นนี้ เพราะหากแบรนด์ยังทำอะไรเดิม ๆ วันหนึ่งเมื่อผู้บริโภคเปลี่ยนไป เราก็อาจไม่สามารถตอบโจทย์ผู้บริโภคได้อีกนั่นเอง”
“สองคือการเข้าใจว่าแต่ละพื้นที่มีความต้องการที่แตกต่างกัน เราจะตอบโจทย์ความต้องการนั้นได้ไหม หรือเราจำเป็นต้องมีโปรดักส์หลาย ๆ ตัวเพื่อรองรับความต้องการเหล่านั้น และสุดท้ายคือ การมี Insurgent Mindset หรือความรู้สึกของการเป็นน้องใหม่ไฟแรง”
“ประเทศไทยถือว่ามีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 3 ในแง่ของ GDP เมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียน เรามีกำลังซื้อที่เยอะกว่า และคนไทยยังใช้ชีวิตบนดิจิทัลมากเป็นอันดับสองของอาเซียน แบรนด์ที่หาทางสร้างความสัมพันธ์กับผู้บริโภคได้ดีจะได้ประโยชน์จากจุดนี้” คุณดิเรกกล่าวปิดท้าย