HomeBrand Move !!‘การบินไทย’ โชว์กำไรไตรมาส 2 เพิ่มขึ้น 171% สูงสุดในรอบ 20 ปี คาดออกจากแผนฟื้นฟูเร็วขึ้น 

‘การบินไทย’ โชว์กำไรไตรมาส 2 เพิ่มขึ้น 171% สูงสุดในรอบ 20 ปี คาดออกจากแผนฟื้นฟูเร็วขึ้น 

แชร์ :

หลังเข้าสู่แผนฟื้นฟูกิจการ และภาพรวมเศรษฐกิจ การท่องเที่ยวฟื้นตัวดีขึ้น “การบินไทย” สายการบินแห่งชาติ กลับมาโชว์ผลงานได้อีกครั้ง ด้วยการทำ “กำไร” 4 ไตรมาสต่อเนื่อง

ADFEST 2024

Santos Or Jaune

– สรุปไตรมาส 2 ปี 2566 บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) และบริษัทย่อยมีรายได้รวม (ไม่รวมรายการที่เกิดขึ้นครั้งเดียว) จำนวน 37,381 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 73.7% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งมีรายได้รวม 21,526 ล้านบาท

– ตัวเลขรายได้ที่ดีในไตรมาส 2 มาจากการเพิ่มความถี่เที่ยวบินในเส้นทางที่เป็นที่นิยมและมีจุดบินเพิ่มขึ้น จำนวน 7 จุดบิน ได้แก่ ปักกิ่ง เซี่ยงไฮ้ คุนหมิง กวางเจา เฉิงตู ฮาเนดะ และฟุกุโอกะ โดยมีผู้โดยสารรวมทั้งสิ้น 3.35 ล้านคน และมีอัตราการบรรทุกผู้โดยสาร (Cabin Factor) เฉลี่ย 79.2% เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนซึ่งเฉลี่ย 60.3%

– ส่วนค่าใช้จ่ายรวม (ไม่รวมรายการที่เกิดขึ้นครั้งเดียว) อยู่ที่ 28,805 ล้านบาท สูงกว่าปีก่อนซึ่งมีค่าใช้จ่าย 22,825 ล้านบาท ส่วนใหญ่เกิดจากค่าใช้จ่ายที่ผันแปรตามปริมาณการผลิตและปริมาณการขนส่งที่เพิ่มขึ้น

“ไตรมาส 2 ปีนี้ การบินไทย มีกำไรสุทธิ 2,273 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 171% ขณะที่ปีก่อน ขาดทุน 3,213 ล้านบาท ถือเป็นไตรมาส 2 ที่การบินไทยมีกำไรจากการดำเนินงานสูงสุดในรอบ 20 ปี” 

ครึ่งปีแรกรายได้  78,889 ล้าน 

– สำหรับงวด 6 เดือนแรก ปี 2566 การบินไทยและบริษัทย่อย มีรายได้รวม (ไม่รวมรายการที่เกิดขึ้นครั้งเดียว) ทั้งสิ้น 78,889 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 141% จากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนซึ่งมีรายได้รวม 32,706 ล้านบาท

– ขณะเดียวกันมีค่าใช้จ่ายรวม (ไม่รวมรายการที่เกิดขึ้นครั้งเดียว) 57,280 ล้านบาท สูงกว่าปีก่อนซึ่งมีค่าใช้จ่ายรวม 37,175 ล้านบาท

– มีกำไรสุทธิ 14,795 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 329% จากปีก่อน ที่ขาดทุน 6,457 ล้านบาท

อัตราบรรทุกผู้โดยสาร 81%

– ปัจจุบันการบินไทยมีเครื่องบินที่ใช้ทำการบินทั้งสิ้น 67 ลำ ประกอบด้วยเครื่องบินลำตัวแคบ 20 ลำ และเครื่องบินลำตัวกว้าง 47 ลำ การบินไทยเพิ่งรับเครื่องบินลำตัวกว้างจากการเช่าดำเนินการเข้ามาในฝูงบินในไตรมาส 2 จำนวน 2 ลำ

– ช่วง 6 เดือนแรกปีนี้ การบินไทยมีอัตราการใช้เครื่องบินเฉลี่ย 12 ชั่วโมงต่อวัน โดยเป็นส่วนของการบินไทย 14 ชั่วโมงต่อวัน

– อัตราส่วนการบรรทุกผู้โดยสาร (Cabin Factor) เฉลี่ย 81.4% สูงกว่าปีก่อนซึ่งเฉลี่ยที่ 49.2% และมีจำนวนผู้โดยสารที่ทำการขนส่ง รวมทั้งสิ้น 6.87 ล้านคน เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 126.7%

– ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2566 การบินไทยและบริษัทย่อยมีสินทรัพย์รวมจำนวน 223,318 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากวันที่ 31 ธันวาคม 2565 จำนวน 25,140 ล้านบาท หรือ 12.7%

– มีหนี้สินรวมจำนวน 279,571 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจาก ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2565 จำนวน 10,369 ล้านบาท หรือ 3.9%

– ส่วนของผู้ถือหุ้นของการบินไทยและบริษัทย่อยติดลบจำนวน 56,253 ล้านบาท ติดลบลดลงจากวันที่ 31 ธันวาคม 2565 จำนวน 14,771 ล้านบาท

– จากแนวโน้มผลประกอบการที่เป็นบวก การบินไทยจึงมีเงินสดคงเหลือจำนวน 51,153 ล้านบาท ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2566 เพิ่มขึ้น 16,613 ล้านบาท จากวันที่ 31 ธันวาคม 2565 ขณะที่ปี 2567 มีกำหนดต้องใช้หนี้ราว 10,000 ล้านบาท

ออกจากแผนฟื้นฟูเร็วขึ้น

คุณชาย เอี่ยมศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.การบินไทย (THAI) กล่าวว่าตามแผน การบินไทยจะออกจากแผนฟื้นฟูกิจการในไตรมาส 4 ปี 2567 แต่จากแนวโน้มผลประกอบการทำกำไรได้ต่อเนื่อง 4 ไตรมาส คาดว่ามีโอกาสที่จะออกจากแผนฟื้นฟูได้เร็วกว่ากำหนดราว 1 ไตรมาส หรือในไตรมาส 3 ปี 2567 และหุ้น THAI น่าจะกลับมาซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ได้ช่วงปลายปี 2567

“ไตรมาส 2 ทำได้ดีกว่าเป้าหมาย จากการปรับตัวด้านการแข่งขันและลดต้นทุน รวมทั้งการปรับโครงสร้างหนี้  ทั้งปีนี้จะทำตัวเลขผู้โดยสารได้ 9 ล้านคน และรายได้ 1.6 แสนล้านบาท ตามเป้าหมาย” 

สำหรับแผนปรับโครงสร้างธุรกิจการบินของการบินไทยและไทยสมายล์  ช่วงไตรมาส 2 ได้รับโอนเครื่องบิน A320-200 จากไทยสมายล์มาแล้ว 4 ลำ และอีก 16 ลำ จะทยอยรับโอนหลังจากได้รับการอนุญาตจากภาครัฐภายในสิ้นปีนี้ รวมทั้งรับโอนพนักงาน ลูกเรือ นักบินของไทยสมายล์ตามจำนวนเครื่องบินที่โอนมา เพื่อเสริมเส้นทางบินในกลุ่ม CLMV และในประเทศไทย ให้กับการบินไทย

อ่านเพิ่มเติม


แชร์ :

You may also like