การตัดสินใจซื้อของชิ้นใหญ่ราคาแพงมักทำให้เกิดคำถามตามมา ทั้งจากตัวคนซื้อเอง และคนรอบข้างว่าสิ่ง ๆ นั้นคุ้มค่าแค่ไหนที่เราจะจ่ายเงินก้อนโตออกไป เพื่อเป็นทางออกของนักช้อป บางที แนวคิดแบบ Girl Math อาจช่วยฮีลใจและทำให้เรารู้สึกผิดได้น้อยลง
แนวคิดแบบ Girl Math คืออะไร
ส่วนหนึ่งของแนวคิดนี้คือการหารราคาของสินค้าโดยใช้ “จำนวนครั้ง” ในการใช้งาน เช่น ถ้าเราอยากซื้อกระเป๋าราคาแพงสักใบ เพื่อให้รู้สึกผิดน้อยลง เราอาจจะลองหารจำนวนวันที่ใช้งานดู เช่น ถ้าเราใช้งานทุกวันต่อเนื่องเป็นเวลาหลาย ๆ ปี ราคาเฉลี่ยต่อวันของกระเป๋าใบนี้ก็อาจลดลงเหลือแค่หลักร้อย หลักสิบ จนเราไม่รู้สึกผิดที่จะควักเงินซื้อ เป็นต้น หรือในกรณีที่เราซื้อสินค้าลดราคา เงินส่วนต่างที่เราประหยัดได้จากการนี้ หากมองในมุม Girl Math ก็ถือเป็น “เงินได้” และสามารถนำไปใช้ประโยชน์ในมุมอื่น ๆ ได้อีกต่อด้วย
อีกหนึ่งตัวอย่างของ Girl Math ที่น่าสนใจ คือกรณีที่เราซื้อเสื้อผ้ามาหนึ่งชุด ราคา 300 บาท ใส่ไปสามครั้ง เสื้อผ้าชุดนั้นก็ควรจะถูกประเมินว่ามีราคา 100 บาท แถมหากนำไปขายต่อในราคา 100 บาทแล้วบังเอิญขายได้ แนวคิดแบบ Girl Math ก็จะมองว่าเราได้เสื้อผ้าชุดนั้นมาใส่ฟรี ๆ นั่นเอง
Girl Math กลับมาเป็นกระแสอีกครั้งบน TikTok
แม้แนวคิดเกี่ยวกับ Girl Math จะมีมายาวนานแล้ว แต่สิ่งที่ทำให้ Girl Math กลับมาเป็นกระแสในวงกว้างคือแพลตฟอร์ม TikTok โดยมีอินฟลูเอนเซอร์จำนวนไม่น้อยโพสต์คลิปเกี่ยวกับ Girl Math ของตัวเอง และก็มีคนนำคลิปดังกล่าวไปตัดต่อ รวมถึงเกิดเป็นกระแสล้อเลียนทั้งในทางบวกและลบเป็นจำนวนมาก
@chicks Girl. Math. @shsu.chicks ♬ original sound – Chicks
แต่ในอีกมุมหนึ่ง ตรรกะแบบ Girl Math ก็มีข้อดี โดย Christine Benz ผู้เชี่ยวชาญด้านการเงินส่วนบุคคลจาก Morningstar มองว่า Girl Math ช่วยให้มนุษย์ได้วางอารมณ์ และความอยากได้เอาไว้ก่อน และมองการซื้อนั้น ๆ ในมุมความคุ้มค่า โดยเฉพาะการซื้อของชิ้นใหญ่ ที่เราอาจไม่สามารถซื้อได้บ่อยนักนั่นเอง