ยอด ชินสุภัคกุล ผู้บริหารจาก LINE MAN Wongnai และ ดร.พิเชษฐ ฤกษ์ปรีชา จาก LINE ประเทศไทย ออกมาแถลงอีกครั้งเกี่ยวกับการซื้อกิจการ Rabbit LINE Pay หรือ RLP คืนจากผู้ถือหุ้นเดิมอย่าง แรบบิทเพย์ ซิสเทม จำกัด และบริษัท แอดวานซ์ เอ็มเปย์ จำกัด ว่าจะเป็นส่วนสนับสนุนสำคัญใน Ecosystem ของ LINE ด้านบริการเพย์เมนต์ที่พบการเติบโตอย่างสูง พร้อมย้ำยังไม่มีแผนให้บริการสินเชื่อผ่าน Rabbit LINE Pay ใน 1 – 1.5 ปีข้างหน้าแน่นอน
สำหรับการซื้อกิจการคืนครั้งนี้ เป็นผลมาจากการร่วมลงทุนที่เกิดขึ้นในปี 2018 ของ แรบบิทเพย์ ซิสเทม จำกัด และบริษัท แอดวานซ์ เอ็มเปย์ จำกัด ในอัตราส่วนเท่า ๆ กัน และเกิดเป็นแบรนด์ใหม่ภายใต้ชื่อ Rabbit LINE Pay เพื่อตอบโจทย์รูปแบบการชำระเงินในระบบดิจิทัลที่ได้รับความนิยมมากขึ้นในขณะนั้น
ซึ่งผลจากการร่วมลงทุนดังกล่าวทำให้เกิดการผูกบัตร Rabbit ของผู้ให้บริการระบบขนส่งมวลชนอย่างบีทีเอส เข้ากับแอป LINE ในโทรศัพท์มือถือ และทำให้ผู้บริโภคสามารถเติมเงินลงในแอปพลิเคชัน และสามารถเชื่อมโยงไปยังบัตร Rabbit เพื่อใช้งานระบบขนส่ง BTS รวมถึงมีการเชื่อมต่อบนแอป myAIS โดย Rabbit LINE Pay จะเป็นแพลตฟอร์มการชำระเงินบนมือถือเจ้าเดียวบนแอพ my AIS เพื่อให้ผู้ใช้สามารถชำระบิลต่าง ๆ ผ่านทาง Rabbit LINE Pay โดยไม่ต้องกรอกข้อมูลบัตรเครคิตหรือบัตรเดบิตของผู้ใช้
ตลาดอีเพย์เมนต์ไทยโตต่อเนื่อง
ส่วนเหตุผลที่มีการซื้อกิจการคืนครั้งนี้ คุณยอด ชินสุภัคกุล เผยว่า มาจากตลาดอีเพย์เมนต์ไทยมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง และ LINE MAN Wongnai มองว่า หากมีบริการของ RLP เข้ามาเติมเต็มจะทำให้ Ecosystem ของ LINE เช่น บริการ Food Delivery, LINE Shopping, LINE Taxi ฯลฯ สมบูรณ์มากขึ้น ทาง LINE จึงเป็นฝ่ายยื่นขอซื้อหุ้นจาก แรบบิทเพย์ ซิสเทม จำกัด และบริษัท แอดวานซ์ เอ็มเปย์ จำกัด คืนกลับมาทั้งหมด
LINE MAN Wongnai ถือหุ้นใหญ่ RLP
อย่างไรก็ดี สิ่งที่ไม่มีการเปิดเผยในครั้งนี้คือสัดส่วนการถือหุ้นของ RLP ของผู้ถือหุ้นใหม่อย่าง LINE MAN Wongnai และ LINE ประเทศไทย โดยบอกแต่เพียงว่า LINE MAN Wongnai เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของ RLP รวมถึงมูลค่าในการขายหุ้นของผู้ถือหุ้นเดิมอย่าง แรบบิทเพย์ ซิสเทม จำกัด และบริษัท แอดวานซ์ เอ็มเปย์ จำกัด ก็ไม่มีการเปิดเผยแต่อย่างใด
ทั้งนี้ สองผู้บริหารจาก LINE ระบุว่า ผู้ใช้งานจะไม่ได้รับผลกระทบใด ๆ จากการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างผู้ถือหุ้น โดยสามารถเชื่อมต่อระบบตั๋วรถไฟฟ้า BTS และชำระค่าบริการ AIS ได้เช่นเดิม ส่วนในแง่ของการบริหารนั้น พบว่า ผู้บริหารใหม่ของ RLP ประกอบด้วย
- คุณยอด ชินสุภัคกุล เป็นประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (CEO)
- คุณชอง อิน ยัง เป็นประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการเงิน (CFO)
- คุณณหทัย ภูพิชญ์พงษ์ เป็นประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการ (COO)
ในส่วนของผู้ใช้บริการ คุณยอด ชินสุภัคกุล เผยว่า ปัจจุบัน LINE MAN Wongnai มีผู้ใช้งาน 10 ล้านคนบนแพลตฟอร์ม และมีร้านค้าอีกกว่า 5 แสนร้าน และไรเดอร์อีกมากกว่า 1 แสนคน การซื้อกิจการครั้งนี้ถือเป็นครั้งที่ 2 ของปี โดยครั้งแรกเป็นการซื้อกิจการ FoodStory ผู้ให้บริการธุรกิจ POS เมื่อช่วงปลายเดือนกรกฎาคมนี้นั่นเอง
ด้าน ดร.พิเชษฐ ฤกษ์ปรีชา ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของ LINE ประเทศไทย เผยถึงการซื้อกิจการดังกล่าวด้วยว่า ปัจจุบัน มีความต้องการใช้แพลตฟอร์มสำหรับทำธุรกรรมใน Ecosystem ของ LINE สูงมาก และการซื้อกิจการครั้งนี้ จะทำให้การผลักดัน LINE Shopping และบริการอีคอมเมิร์ซต่าง ๆ เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้นด้วย โดย ดร.พิเชษฐ ได้กล่าวไว้ในตอนหนึ่งของการแถลงข่าวด้วยว่า “น่าจะเป็นเรื่องดี ถ้าคนสามารถวิ่งมาที่แพลตฟอร์มของเราแล้วทำได้ทุกอย่างตั้งแต่สั่งอาหารจนถึงกู้เงิน”
ทั้งนี้ ข้อมูลปัจจุบันของ LINE MAN Wongnai พบว่าเป็นเทคสตาร์ทอัพที่มีมูลค่ามากกว่า 1 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ หลังการระดมทุนซีรีส์บีที่นำโดย GIC และ LINE โดยพบว่า บริษัทมีบริการที่หลากหลาย ตั้งแต่ การส่งอาหารและสินค้า บริการแท็กซี่ โซลูชันสำหรับร้านอาหาร บริการเมสเซนเจอร์ รีวิวสำหรับธุรกิจท้องถิ่น
ส่วน RLP นั้น ปัจจุบันเป็นผู้ให้บริการระบบการชำระเงินทั้งแบบออฟไลน์และออนไลน์ สามารถจ่าย โอนเงิน เติมเงิน และรองรับระบบขนส่งมวลชน การชำระค่าสาธารณูปโภคต่าง ๆ ได้ด้วย แต่ผลประกอบการ RLP ในปีที่ผ่านมาพบว่ายังไม่มีกำไรแต่อย่างใด