กระแสความนิยมในการดูแลสุขภาพกำลังเป็นที่มาแรงในทุกอุตสาหกรรมไม่เว้นแม้แต่ “ตลาดเบียร์” มูลค่ากว่า 2.6 แสนล้านบาทเมืองไทย ที่มีการปรับรูปแบบการแข่งขัน สินค้าต่างๆ เพื่อให้สอดคล้องกับไลฟ์สไตล์ผู้บริโภคยุคใหม่มากขึ้น
โดยในช่วงหลายปีที่ผ่านมาตลาดเบียร์โลก รวมถึงในประเทศไทยเริ่มเปลี่ยนทิศ ผู้บริโภครุ่นใหม่นิยมเบียร์ที่ดื่มง่าย ขมน้อย ทำให้ผู้ประกอบการหลายรายในตลาดเบียร์ทั่วโลก รวมถึงเมืองไทยต่างก็ทยอยปรับสูตร ลดปริมาณความขมลง เพื่อตอบรับเทรนด์ผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป ไม่ว่าจะเป็น ไฮเนเก้น ที่เปิดตัว “ไฮเนเก้น ซิลเวอร์” (Heineken Silver) เบียร์ขมน้อย ออกมาจับเทรนด์ผู้บริโภคยุคใหม่ตั้งแต่ช่วงกลางปีที่ผ่านมา
สิงห์ฯ กับเบียร์น้องใหม่ “Singha 89 Cals”
ล่าสุด “สิงห์” อีกหนึ่งผู้เล่นหลักในตลาด ก็ขยับตัวครั้งสำคัญ เพื่อรองรับเทรนด์การดื่มรูปแบบใหม่และในช่วงหน้าขายปลายปี ด้วยการเปิดเบียร์เซ็กเมนต์ใหม่ในกลุ่มแคลอรี่ต่ำในชื่อ “Singha 89 Cals” ที่มีปริมาณแอลกอฮอล์เพียง 3.2% และแคลอรี่ 89 Cals กับรูปแบบแพ็คเกจจิ้งและโลโก้เลข 89 Cals สีฟ้า-ขาวแบบทันสมัย เพื่อรองรับตลาดเบียร์ในกลุ่มนี้ที่มีแนวโน้มเติบโตเพิ่มขึ้นทุกปีตามเทรนด์ผู้บริโภคในตลาด โดยคาดว่าจะเริ่มวางจำหน่ายอย่างเป็นทางการในสัปดาห์หน้า หรือราวสิ้นเดือนกันยายน 2566 เป็นต้นไป
สำหรับเบียร์ใหม่ “Singha 89 Cals” นี้จะวางจำหน่ายทั้งรูปแบบกระป๋องและขวดเล็ก ขนาด 330 มล. ได้แก่
- ขวดเล็ก ขนาด 330 มล. จำหน่ายราคาส่งลังละ 835 บาท (24ขวด/ลัง) หรือ เฉลี่ยขวดละ 35 บาท
- แบบแคน (กระป๋อง) เล็ก ขนาด 330 มล. จำหน่ายราคาส่งแพคละ 820 บาท (24กระป๋อง/แพค) หรือ เฉลี่ยกระป๋องละ 35 บาท
อย่างไรก็ตามก่อนหน้าค่ายสิงห์ฯ มีพอร์ตโฟลิโอเบียร์ในกลุ่มแคลอรี่ต่ำออกมาวางตลาดอยู่แล้วในชื่อ “สิงห์ไลท์” (Singha Light) ซึ่งเป็น Light Beer มีจำหน่ายเฉพาะขวดเล็กกับกระป๋องเท่านั้น (เช่นเดียวกับ Singha 89 Cals) โดยเป็นเบียร์ที่มีปริมาณแอลกอฮอล์-คาร์โบไฮเดรต-แคลอรี่น้อยลงกว่าเบียร์ปกติ ออกมาจับกลุ่มลูกค้าวัย 20-30 ปลายๆอยู่แล้ว
ดังนั้นการเปิดตัว Singha 89 Cals ในครั้งนี้ อาจจะมีความเป็นไปได้ทั้งการเติมพอร์ตโฟลิโอของค่ายในกลุ่มตลาดเบียร์แคลอรี่ต่ำ ให้มีความหลากหลาย เพื่อสร้างความแข็งแกร่งมากยิ่งขึ้น หรือจะเป็นการเข้ามาแทนที่ “สิงห์ไลท์” ในอนาคตก็เป็นได้
ตลาดเบียร์ปรับรูปแบบการแข่งขัน เน้น “ดื่มชิล” มากกว่า “ดื่มเมา”
ด้วยพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไปของผู้บริโภคนี้ ทำให้ช่วงที่ผ่านมาได้เห็นผู้เล่นหลักในตลาดมีการปรับรสชาติเพื่อรองรับแนวโน้มดังกล่าวมากขึ้น ไล่เรียงมาตั้งแต่ “ไฮเนเก้น” ได้เปิดตัว “ไฮเนเก้น ซิลเวอร์” (Heineken Silver) เบียร์ขมน้อย ออกมาจับเทรนด์ผู้บริโภคยุคใหม่ตั้งแต่ช่วงกลางปีที่ผ่านมา
ขณะที่ค่าย “ช้าง” แม้จะมี “ช้าง โคลด์ บรูว์” ที่มีเอกลักษณ์หอมกลิ่นมอลต์ และมีการปรับรสชาติให้ดื่มง่ายอยู่แล้ว แต่ในช่วงปลายปีที่ผ่านมา ก็ได้เปิดตัว “ช้าง อันพาสเจอไรซ์” เพื่อต่อยอดแบรนด์ในเซกเมนต์เบียร์แบบดื่มง่ายและมีความพรีเมี่ยมทันสมัย ออกมารองรับเทรนด์เบียร์ขมน้อยที่มาแรง และพฤติกรรมผู้บริโภคยุคปัจจุที่นิยมการดื่มเบียร์ที่รสชาติอ่อนลง มีปริมาณแอลกอฮอลล์ต่ำหรือมีความขมน้อยลง สามารถดื่มได้ยาวๆ อีกด้วย
ทั้งหมดคือความเคลื่อนไหวในตลาดเบียร์เมืองไทยที่น่าจับตา ที่นอกจากจะรองรับไลฟ์สไตล์แล้ว ยังเป็นการสร้างภาพลักษณ์แบรนด์ให้ดูสดใหม่ ทันสมัย มากขึ้น อีกทั้งยังเป็นการรองรับหน้าขายในช่วงปลายปีและผู้เล่นหน้าใหม่อย่าง “คาราบาว” ที่กำลังจะเปิดตัวเบียร์ใหม่อย่างเป็นทางการในช่วงต้นเดือนพฤศจิกายน 2566 นี้ อีกด้วย