HomeSponsoredเจาะลึกเทรนด์ความ “ยั่งยืน” ภารกิจสำคัญที่สตาร์ทอัพไทยต้องใส่ใจตั้งแต่ Day 1

เจาะลึกเทรนด์ความ “ยั่งยืน” ภารกิจสำคัญที่สตาร์ทอัพไทยต้องใส่ใจตั้งแต่ Day 1

แชร์ :

นอกจากการมีไอเดียเปลี่ยนโลกที่ต้องทำให้สำเร็จแล้ว ปฏิเสธไม่ได้ว่า ยังมีอีกหลายประเด็นที่สตาร์ทอัพยุคใหม่ต้องให้ความสำคัญก่อนจะเริ่มต้นธุรกิจ หนึ่งในนั้นคือเรื่องของ “ความยั่งยืน” (Sustainability) ในการทำธุรกิจ เนื่องจากทุกวันนี้ สตาร์ทอัพไม่เพียงเผชิญการแข่งขันที่รุนแรงจากผู้ประกอบการด้วยกัน แต่ยังมีปัญหา Climate Change ที่เริ่มส่งผลกระทบต่อทุกภาคส่วน และกลายเป็นความท้าทายของสตาร์ทอัพในการรับมือกับปัญหาดังกล่าวไม่ต่างจากธุรกิจขนาดใหญ่

ADFEST 2024

Santos Or Jaune

ทางออกของสตาร์ทอัพอาจต้องเริ่มจาก การให้ความสำคัญกับ ESG ตั้งแต่ Day 1 (ESG คือแนวคิดการดำเนินธุรกิจที่ไม่หวังผลกำไรแต่เพียงอย่างเดียว แต่มุ่งเน้นความยั่งยืนร่วมด้วย)  โดยหากขยายความให้ชัดเจนมากขึ้น ESG ย่อมาจาก Environmental (สิ่งแวดล้อม) Social (สังคม) และ Governance (ธรรมาภิบาล) และปัจจุบัน ESG ได้กลายเป็นสิ่งที่ทุกองค์กร – ทุกประเทศให้ความสำคัญ และมีการออกมาตรการต่าง ๆ เพื่อสนับสนุนแนวคิดนี้กันมากมาย เช่น การกำหนดเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (ปริมาณการปล่อยเท่ากับการดูดซับ/กักเก็บ) มาตรการเก็บค่าธรรมเนียมคาร์บอนข้ามพรมแดนของสหภาพยุโรป การใช้กลไกอัตราภาษีต่อการผลิตสินค้าและบริการอย่างภาษีสรรพสามิตหรือภาษีคาร์บอน ฯลฯ

แม้ว่ามาตรการที่กล่าวไปข้างต้นอาจเป็นข้อกำหนดที่ทำให้การดำเนินงานของสตาร์ทอัพรุ่นใหม่ซับซ้อนไปบ้าง แต่ในอีกฟากหนึ่งก็มีผลสำรวจออกมามากมายว่า เทรนด์ ESG นั้นเป็นสิ่งที่ผู้บริโภคยุคใหม่ให้ความสำคัญ และยินดีจ่ายเงินเพิ่มขึ้นเพื่อซื้อสินค้าหรือบริการจากบริษัทที่ใส่ใจเรื่องความยั่งยืน เช่น ผลสำรวจจาก  Booking.com ในปี 2565 ที่พบว่า 52% ของนักท่องเที่ยวยินดีจ่ายเงินเพิ่มเพื่อการท่องเที่ยวแบบยั่งยืน (อ่านเพิ่มเติมได้ที่ https://www.brandbuffet.in.th/2022/06/booking-com-travel-confidence-index-apac-2022/) หรือผลสำรวจของ NielsenIQ ในปี 2566 เกี่ยวกับพฤติกรรมผู้บริโภคในเอเชียแปซิฟิก ที่พบว่า 77% จะไม่ซื้อสินค้าจากบริษัทที่มีพฤติกรรมไม่เหมาะสม และ 46% ของผู้บริโภคเลือกซื้อสินค้าจากแบรนด์ที่สร้างความเป็นผู้นำในเรื่องความยั่งยืน

ไม่เพียงเท่านั้น การตอบรับเทรนด์ ESG ยังส่งผลดีในแง่ผลประกอบการ เห็นได้จากสถิติของ  S&P500 ที่พบว่า กว่า 90% ของบริษัทใน S&P500 มีการเปิดเผยรายงานความยั่งยืนแล้ว และบริษัทที่มีการเปิดเผยรายงานความยั่งยืนอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2550 – 2564  มีแนวโน้มที่จะให้ผลตอบแทนสูงกว่าบริษัทที่ไม่ได้มีการเปิดเผยอย่างมีนัยสำคัญขึ้นเรื่อย ๆ ด้วยเช่นกัน เช่นเดียวกับผลวิจัยของ McKinsey & Company ที่พบว่า บริษัทที่มีนโยบายด้าน ESG สามารถเข้าถึงตลาดใหม่ ๆ ได้ดีขึ้น เช่น สหภาพยุโรป แถมยังป้องกันการโดนแบน หรือโดนลงโทษจากกฎหมายประเทศต่าง ๆ ได้อีกทางหนึ่ง

“นักลงทุน” เมื่อคนสำคัญใส่ใจ “ESG”

นอกจากตลาดและผู้บริโภคจะให้ความสำคัญกับ ESG มากขึ้นเรื่อย ๆ แล้ว อีกหนึ่งภาคส่วนที่ใส่ใจในเรื่องนี้ก็คือ “นักลงทุน” (Investor) โดยปัจจุบัน การที่นักลงทุนจะเลือกลงทุนในกองทุนใด หรือบริษัทใด นอกจากจะพิจารณาจากผลประกอบการขององค์กรนั้นว่า เติบโตดีหรือไม่แล้ว ยังมีการขอข้อมูล Environmental Data, Social Data และ Governance Data ร่วมด้วย ซึ่งข้อมูลเหล่านี้จะระบุถึง สถิติการปล่อยก๊าซเรือนกระจก การบริหารจัดการ Supplier ของบริษัท การบริหารจัดการขยะ ฯลฯ เพื่อนำมาประกอบการตัดสินใจด้านการลงทุน

ข้อมูลของ EY ในปี 2565 ยังพบว่า มีนักลงทุนถึง 26% ปฏิเสธการลงทุนในบริษัทที่ไม่มีนโยบายด้าน ESG ที่ชัดเจน ขณะที่ Hedge funds/ Private Equity ถึง 56% และ Venture Capital ถึง 20% ก็ให้ความสำคัญกับการนำเกณฑ์ ESG มาประกอบการพิจารณาลงทุนด้วยเช่นกัน

นั่นจึงทำให้สตาร์ทอัพที่กำลังมองหาการลงทุนจากนักลงทุนต่าง ๆ ต้องให้ความสำคัญกับเทรนด์ ESG ตั้งแต่ตอนนี้ เพราะในอนาคต สตาร์ทอัพอาจถูกขอให้มีการลงนามรับรองและรับประกันเกี่ยวกับการปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ด้าน ESG ในทุกมิติก่อนที่จะมีการลงทุนเกิดขึ้นก็เป็นได้

เริ่มต้นอย่างไร กับ “ESG”

สำหรับสตาร์ทอัพที่ไม่มั่นใจว่าจะเริ่มต้น – ปรับใช้นโยบายด้าน ESG จากจุดไหน อาจพิจารณาจากสิ่งรอบตัว รวมถึงอุตสาหกรรมที่ตนเองแข่งขันอยู่ก็ได้ โดยหนึ่งในคำแนะนำที่น่าสนใจมาจากงานเสวนา ESG A Lasting Game Changer Exclusive Startup Meetup By KATALYST โดยคุณอัจฉรา ปู่มี ซีอีโอ บริษัท แพค คอร์ปอเรชั่น (ประเทศไทย) จำกัด ได้กล่าวถึงประสบการณ์ของทางแบรนด์ว่า

“การเริ่มต้นนโยบาย ESG อาจศึกษาจากคนที่อยู่ใน Ecosystem เดียวกันว่าทำอะไรอยู่บ้าง เราสามารถศึกษา Best practice เพื่อเป็นแนวทางและนำมาปรับใช้กับธุรกิจของตัวเองได้เช่นกัน เช่น การดูแลสวัสดิการพนักงาน การเปิดรับทุกเพศสภาพ ฯลฯ ”

“SME และสตาร์ทอัพสามารถศึกษาว่า ESG คืออะไร แล้วเริ่มจากเรื่องง่าย ๆ ที่เหมาะสมกับความเป็นองค์กรเล็ก ๆ ใช้เงินไม่มาก หลายคนได้เงินสนับสนุนจากเรื่องนี้ ได้รับการพีอาร์ และโอกาสต่าง ๆ ในการทำเรื่อง ESG ต่อไปด้วย”

นอกจากนั้น บทความเรื่องทางเลือกภาคธุรกิจรับมือประเด็นความยั่งยืนจากศูนย์วิจัยกสิกรไทย ก็มีการนำเสนอในจุดนี้เช่นกัน โดยระบุว่า ภาคธุรกิจมีทางเลือกในการดำเนินการเพื่อรับมือต่อประเด็นความยั่งยืนที่แตกต่างกันไป โดยอาจต้องทราบก่อนว่ากิจการของตนปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเท่าใด และจะมีปัจจัยหนุนหรือถูกกระทบจากมาตรการทั้งในและต่างประเทศอย่างไร จากนั้น แต่ละธุรกิจคงต้องศึกษาทุกปัจจัยแวดล้อมที่เกี่ยวข้องอย่างละเอียดรอบคอบ เพื่อตัดสินใจเลือกแนวทางที่เหมาะสมที่สุดในแต่ละช่วงเวลา โดยบางทางเลือกสามารถรอจังหวะในการดำเนินการได้ ขณะที่ บางทางเลือก ปรับเปลี่ยนไปเลยจะเหมาะสมกว่า ซึ่งในบทความได้มีการยกตัวอย่างการปรับเปลี่ยนที่สามารถทำได้ เช่น

– การแยกขยะและนำวัสดุอุปกรณ์เหลือทิ้งมาใช้ซ้ำ/รีไซเคิล

– การเลือกใช้วัสดุ/วัตถุดิบที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

–  การประหยัดไฟฟ้าและน้ำ

– การใช้ไฟฟ้าช่วง Off-Peak ที่ค่าไฟต่อหน่วยต่ำ

– การเปลี่ยนมาใช้พลังงานหมุนเวียนผ่านการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ในโรงงาน

– การออกแบบเส้นทางการใช้รถยนต์

– การเปลี่ยนรถยนต์น้ำมันเป็นรถยนต์ไฟฟ้า

– การลดการขนส่งเที่ยวเปล่า

– การใช้โซลูชั่นหรือเทคโนโลยีเพื่อลดความสิ้นเปลือง

สถาบันการเงิน กับบทบาทสำคัญ “ผู้สนับสนุนสตาร์ทอัพ”

แน่นอนว่า การเริ่มต้นด้าน ESG ของสตาร์ทอัพและภาคธุรกิจจะไม่สูญเปล่า โดยคุณขัตติยา อินทรวิชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกสิกรไทย ได้กล่าวในงานสัมมนา EARTH JUMP 2023 : New Frontier of Growth ว่า การพัฒนาธุรกิจให้เติบโตแบบก้าวกระโดดอย่างยั่งยืนนั้นยังต้องการการสนับสนุนอีกมาก โดยเฉพาะเรื่องเงินลงทุนจำนวนมหาศาลจากนักลงทุนทั่วไป, Venture Capital, ธนาคาร และสถาบันการเงิน ที่ในอนาคตจะเข้ามามีส่วนช่วยเหลือให้ธุรกิจสีเขียวเหล่านี้เติบโตได้เต็มศักยภาพ และธนาคารกสิกรไทยได้เตรียมสินเชื่อแก่ธุรกิจด้านความยั่งยืน 1 – 2 แสนล้านบาท รวมถึงทาง Beacon VC ซึ่งเป็นบริษัทในเครือก็มีการจัดตั้งกองทุน Beacon Impact Fund สำหรับลงทุนโดยตรงในบริษัทสตาร์ทอัพ หรือผ่านกองทุนเงินร่วมลงทุนที่แสวงหาผลกำไร เพื่อการพัฒนาโซลูชั่นสร้างผลกระทบเชิงบวกในมิติ ESG เช่นกัน

ด้านคุณธนพงษ์ ณ ระนอง กรรมการผู้จัดการ Beacon VC กล่าวเสริมว่า “ESG ถือเป็นเทรนด์ ที่นักลงทุนเริ่มให้ความสำคัญ อย่าง Beacon VC ที่ลงทุนกับสตาร์ทอัพ ก็เริ่มมองหาบริษัทสตาร์ทอัพที่สามารถสร้าง Positive Impact ในวงกว้างได้ และที่ผ่านมา เราได้ให้ความรู้เรื่อง ESG ผ่านการจัดงานสัมมนาและหลักสูตรอบรมเข้มข้นประจำปี KATALYST Startup Launchpad 2023 ที่บรรจุหัวข้อเกี่ยวกับการจัดการธุรกิจเรื่อง ESG และ sustainability สำหรับสตาร์ทอัพที่เข้าร่วมโครงการด้วย”

“แต่เพื่อให้การสนับสนุนนี้เข้มข้นขึ้น เราได้จัดตั้ง Beacon Impact Fund และ ร่วมสร้าง community Climate Tech Club เพื่อตอบรับเทรนด์ดังกล่าวด้วย”

Beacon Impact Fund คือใคร

สำหรับ Beacon Impact Fund เป็นกองทุนที่มุ่งเน้นการลงทุนในบริษัทสตาร์ทอัพที่อยู่ในช่วง Post-revenue หรือสามารถสร้างรายได้แล้ว และมีการพัฒนาโซลูชั่นเพื่อแก้ปัญหาหรือสร้างผลกระทบเชิงบวกในมิติต่าง ๆ ของ ESG โดยจัดตั้งขึ้นเมื่อต้นปี 2023 พร้อมเงินลงทุนเริ่มต้นราว 30 ล้านเหรียญสหรัฐฯ สำหรับการลงทุน 3 ปี

ปัจจุบัน Beacon Impact Fund ได้ร่วมลงทุนโดยตรงกับธุรกิจสตาร์ทอัพและผ่านกองทุนเงินร่วมลงทุนเพื่อสนับสนุนธุรกิจสตาร์ทอัพทั่วโลก ไปแล้ว 4 ราย ได้แก่ Algbra ธุรกิจสตาร์ทอัพด้านการเงิน (Financial Service) จากสหราชอาณาจักร ผู้พัฒนา Platform เพื่อให้ผู้ที่นับถือศาสนาอิสลามในประเทศอังกฤษสามารถเข้าถึงบริการทางการเงินที่สอดคล้องกับหลักทางศาสนาได้ Wavemaker Impact ธุรกิจเงินร่วมลงทุนที่มีเป้าหมายในการลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั่วโลก (Global Carbon Emission) ลงร้อยละ 10 Quona Opportunity Fund ธุรกิจเงินร่วมลงทุน (Venture Capital) ที่มีพันธกิจในการแก้ปัญหา ลดความเหลื่อมล้ำและยกระดับการเข้าถึงบริการทางการเงินสำหรับกลุ่มที่ยังไม่ได้รับการตอบสนอง (Unserved Segment) และกลุ่มที่บริการทางการเงินยังตอบสนองได้ไม่เต็มที่ (Underserved Segment) ในทวีปเอเชีย แอฟริกา และอเมริกาใต้ และกองทุน Siam Capital กองทุนที่ตั้งขึ้นโดย คุณสิตา จันทรมังคละศรี ที่มีวัตถุประสงค์ส่งเสริมการบริโภคอย่างยั่งยืน

ภาพรวมด้านการลงทุนของ Beacon Impact Fund ในครึ่งปีแรกของปี 2566 พบว่า ให้เงินลงทุนเพื่อความยั่งยืนไปแล้วรวมทั้งสิ้น 9 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือประมาณ 320 ล้านบาท จากที่ตั้งเป้าหมายการลงทุนทั้งปี 2566 ตั้งไว้ที่ 400 ล้านบาท

Climate Tech Club ภารกิจสู่สังคม Net Zero

ธนาคารกสิกรไทย โดย Beacon VC ยังได้ร่วมมือกับพันธมิตรจากหลายภาคส่วน ได้แก่ NIA, สวทช. TGO, KBank (Beacon VC), Wastech Exponential, Builk One Group, PAC Energy, cWallet และ New Energy Nexus จัดตั้ง Climate Tech Club เพื่อร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการผลักดันให้ประเทศไทยก้าวสู่ Net Zero ภายในปี 2608  โดยภารกิจของ Climate Tech Club คือ

– สร้างความตระหนักถึงความสำคัญของ Climate Tech การสร้าง Awareness สร้างการมีส่วนร่วม มีเวทีให้โชว์ของ เพื่อให้เกิด Community ที่ทำให้ทุกคนได้เข้ามาเจอกัน หากันง่ายขึ้น สามารถ Discuss กันได้ว่าจะทำอย่างไรให้ดีขึ้น

– ส่งเสริมการพัฒนาผู้ประกอบการด้าน Climate Tech รวมถึงคนคิดค้นนวัตกรรมที่อยากพัฒนาธุรกิจ เพราะธุรกิจแบบนี้มีความไม่แน่นอนค่อนข้างสูง จึงอยากเชิญชวนทุกคนมารวมกลุ่มกันทั้งในไทยและต่างประเทศ

– สร้างและพัฒนาตลาด Climate Tech ทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ

– ส่งเสริมการเข้าถึงแหล่งเงินทุนและการลงทุนสำหรับ ธุรกิจ Climate Tech

– สนับสนุนและส่งเสริมการพัฒนากลไกจากภาครัฐ ข้อกำหนดจากภาครัฐ Incentive ต่างๆ เพื่อช่วยให้การขับเคลื่อนของอุตสาหกรรมนี้ หรือ Climate Tech Club สามารถเดินหน้าต่อไปได้

“จะเห็นได้ว่า การแก้ปัญหาเรื่องความยั่งยืนเป็นสิ่งที่ต้องร่วมมือกันทั้งภาครัฐ หน่วยงานกำกับดูแล นักลงทุน ภาคธุรกิจ ผู้บริโภค และสถาบันการเงิน ทุกฝ่ายล้วนมีส่วนสำคัญในการช่วยให้โลกใบนี้เปลี่ยนผ่านไปได้ จึงอยากเชิญชวนให้ทุกภาคส่วนมาร่วมกันลงมือทำอย่างจริงจัง” คุณขัตติยากล่าว และนี่อาจเป็นการสะท้อนว่า ทุกภาคส่วนในไทยนั้นพร้อมแล้วกับการสนับสนุนเทรนด์ ESG ให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม รวมถึงสตาร์ทอัพ ที่จะเข้ามามีบทบาทในโลก ESG ด้วยฐานะผู้ขับเคลื่อนนวัตกรรมที่มีความคล่องตัวสูงนั่นเอง


แชร์ :

You may also like