G4S เปิดผลสำรวจ ชี้ประเทศไทยเสี่ยงเกิดภัยคุกคามจากอาชญากรรมทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น จากปัจจุบันอยู่ที่ 46% เป็น 65% ในปีหน้า แซงค่าเฉลี่ยของภูมิภาคที่อยู่ที่ 51% และค่าเฉลี่ยทั่วโลกที่ 49% พร้อมชี้เทรนด์การป้องกัน พบประเทศเบอร์ต้นในภูมิภาคใช้ AI และบล็อกเชนในการเฝ้าระวัง – ตรวจจับภัยคุกคาม
ตัวเลขดังกล่าวมาจากรายงานชื่อ รายงานความปลอดภัยโลก ซึ่งเป็นการศึกษาจากผู้บริหารระดับสูงด้านความปลอดภัยขององค์กรภาคประชาสังคม (Civil Society Organization: CSO) จำนวน 1,775 คน ในกว่า 30 ประเทศทั่วโลก ซึ่งผลการตอบแบบสำรวจในประเทศไทยคาดการณ์ว่า ภัยคุกคามที่เกิดจากอาชญากรรมทางเศรษฐกิจจะเพิ่มขึ้นจากปัจจุบันที่ 46% เป็น 65% ในปีหน้า ซึ่งถือได้ว่าประเทศไทย มีภัยคุกคามทางเศรษฐกิจเพิ่มสูงขึ้นเป็นอันดับสองของโลก
อาชญากรรมไทยสูง ภัยคุกคามบริษัทยักษ์ใหญ่
สำหรับภัยคุกคามภายนอกที่มีผลกระทบมากที่สุดในปีหน้า คาดว่าจะเป็นการขโมยทรัพย์สินทางกายภาพของบริษัท โดย 39% ขององค์กรภาคประชาสังคม (Civil Society Organization: CSO) กล่าวว่า แนวโน้มปัญหาก่ออาชญากรรมในไทยสูงกว่าประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาค ทั้งนี้เมื่อเปรียบเทียบแล้ว ค่าเฉลี่ยของภูมิภาคอยู่ที่ 24% และค่าเฉลี่ยทั่วโลกอยู่ที่ 23%
ส่วนการโจรกรรมทรัพย์สินทางปัญญา ยังถือเป็นภัยคุกคามที่ส่งผลกระทบทั้งภายในและภายนอกของประเทศไทยมากกว่าประเทศอื่น ๆ ในแถบภูมิภาคเช่นกัน โดย 46% ระบุว่า ปัญหาดังกล่าวเป็นภัยคุกคามภายในอย่างแท้จริง ซึ่งสูงแซงหน้าค่าเฉลี่ยระดับภูมิภาคที่ 29% และค่าเฉลี่ยทั่วโลกถึง 27%
คุณณัฐณิชา สุวรรณศักดิ์สิน กรรมการผู้จัดการ จี4เอส ประเทศไทย ให้ความเห็นว่า “อัตราค่าครองชีพที่สูงขึ้น อาจเป็นปัจจัยที่ก่อให้เกิดเหตุการณ์ความเสี่ยงด้านความปลอดภัย อย่างปัญหาการโจรกรรม แต่เราก็ได้เห็นบริษัทต่าง ๆ กระตือรือร้นในการพัฒนาและนำเทคโนโลยีใหม่ ๆ เข้ามาปรับใช้ในการป้องกันและรับมือกับภัยคุกคามดังกล่าว”
ด้านคุณซานเจย์ เวอร์มา ประธานเจ้าหน้าที่บริหารจี4เอส ประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก กล่าวว่า “เอเชียแปซิฟิกเป็นภูมิภาคที่มีความสำคัญอย่างยิ่งในการขับเคลื่อนธุรกิจที่ใหญ่ที่สุดของโลก ในขณะเดียวกันก็เป็นศูนย์กลางของความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ที่เพิ่มมากขึ้น ซึ่งในปีหน้าจะเป็นปีแห่งความท้าทาย เพราะภูมิภาคนี้จะได้รับผลกระทบอย่างหนักจากเหตุการณ์ความไม่สงบทางเศรษฐกิจ
ดึงAI – บล็อกเชนรับมือภัยคุกคาม
ทั้งนี้ ทิศทางการรับมือกับปัญหาดังกล่าวมีตั้งแต่การนำระบบ AI เข้ามาปรับใช้เพื่อตรวจสอบภัยคุกคามได้โดยอัตโนมัติ ส่วนประเทศในลำดับรองลงมาของแต่ละภูมิภาค ผลการสำรวจชี้ว่า พวกเขาจะใช้ระบบเฝ้าระวังและติดตามที่ขับเคลื่อนด้วย AI (AI-powered surveillance and monitoring systems ) ในอีกห้าปีข้างหน้าเช่นกัน แต่หากเป็นประเทศที่อยู่ในอันดับต้น ๆ ของภูมิภาค พบว่าจะใช้เทคโนโลยีบล็อกเชนและการประมวลผลและจัดเก็บข้อมูลแบบกระจายศูนย์ (Distributed Ledger Technology หรือย่อว่า DLT) ในอีกห้าปีข้างหน้ามากถึง 50%