ต่อไปนี้ การติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์จะมีข้อจำกัดน้อยลงไปอีกขั้น เมื่อบริษัทญี่ปุ่นเตรียมส่งแผงโซลาร์เซลล์ที่สามารถดัดงอได้มาชิงส่วนแบ่งตลาดในปี 2026 ซึ่งทำให้การติดตั้งโซลาร์เซลล์ทำได้หลากหลายมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นบนแท็งค์น้ำ ผนังอาคาร บ้านเรือน ฯลฯ
สำหรับแผงโซลาร์เซลล์แบบโค้งงอได้นี้ผลิตจาก Perovskite ซึ่งเป็นการพัฒนาร่วมกันของบริษัท JGC และ EneCoat สตาร์ทอัพจากมหาวิทยาลัยเกียวโต และมีน้ำหนักแค่ 1 ใน 10 ของแผงโซลาร์เซลล์ที่ทำจากซิลิคอน โดยบริษัทมีแผนทดสอบแผงโซลาร์เซลล์ดังกล่าวในคลังสินค้าที่ Tomakomai จังหวัดฮอกไกโดในช่วงต้นปีหน้า และจะเริ่มใช้ในการผลิตกระแสไฟฟ้าอย่างเต็มตัวในปี 2026 โดยคาดว่าจะมีรายได้จากยอดขายราว 10,000 ล้านเยนในปี 2030
นอกจากนี้ บริษัท JGC ยังทำการเช่าพื้นที่คลังสินค้าของบริษัทต่าง ๆ เพื่อติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์นี้ด้วย โดยกระแสไฟฟ้าที่ผลิตได้จะทำสัญญาขายกลับไปให้โรงงาน – คลังสินค้านั้น ๆ ต่อไป หรือถ้าหากไม่ใช้ ก็จะส่งผ่านเข้ากริด (Grid) แทน โดยบริษัทคาดว่าแผงโซลาร์เซลล์ที่สามารถโค้งงอได้จะเป็น Game-Changer ของธุรกิจดังกล่าว เพราะลดข้อจำกัดด้านพื้นที่ในการติดตั้งไปได้อย่างมากนั่นเอง
อย่างไรก็ดี สิ่งที่เป็นความท้าทายของการทำตลาดคือเรื่องราคา เพราะโซลาร์เซลล์จาก Perovskite ยังมีราคาค่อนข้างแพง ทำให้ทาง JGC ตั้งเป้าว่าจะทำให้ต้นทุนการผลิตของแผงโซลาร์เซลล์ดังกล่าวให้ถูกกว่าแผงโซลาร์เซลล์แบบที่ใช้งานอยู่ในปัจจุบันให้ได้ภายในปี 2028
นอกจาก JGC แล้ว ยังมีอีกหลายบริษัทที่เร่งพัฒนาโซลาร์เซลล์แบบ Perovskite อยู่ ซึ่งคาดว่าหากมีการทำตลาดในเชิงพาณิชย์จริง จะทำให้ธุรกิจต่าง ๆ ในญี่ปุ่นให้ความสนใจการผลิตกระแสไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์กันมากขึ้น จากเดิมที่มีสัดส่วนอยู่ที่ 8% ของการผลิตกระแสไฟฟ้าทั้งหมด