อาจกล่าวได้ว่าปี 2023 ไปจนถึงปี 2024 เป็นปีแห่งความท้าทายของทุกธุรกิจที่ต้องรับมือกับสถานการณ์โลกที่มีความไม่แน่นอนในด้านต่าง ๆ สูงมาก ทั้งในประเด็นการกีดกันทางการค้า ปัญหาด้านซัพพลายเชน ปัญหาด้านพลังงาน ไปจนถึงเรื่องของเงินเฟ้อ และอัตราดอกเบี้ยที่เพิ่มสูง ซึ่งแน่นอนว่า ผู้ให้บริการโทรคมนาคมยักษ์ใหญ่อย่าง AIS ก็อยู่ภายใต้ความท้าทายนี้เช่นกัน
การประกาศ THE NEXT EVOLUTION ของ AIS จึงเกิดขึ้น และนี่อาจเป็นอีกหนึ่งเข็มทิศสำหรับผู้ประกอบการไทย ในการก้าวสู่ความท้าทายรอบใหม่ในปีหน้าก็เป็นได้ โดยเราขอสรุปความเปลี่ยนแปลง และกลยุทธ์ที่จะเกิดขึ้นภายใต้การให้บริการของ AIS ใน 10 ประเด็น ดังนี้
1. ก้าวสู่การเป็น Living Network
คุณ Mark Chong Chin Kok รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารของ AIS กล่าวถึงการเป็น Living Network หรือ เครือข่ายที่ทำได้มากกว่าการสื่อสาร ว่า เป็นการเปิดโอกาสให้ลูกค้าสามารถเป็นผู้ควบคุม สามารถเลือกและออกแบบการใช้งาน Data ได้เองตามไลฟ์สไตล์ เช่น สามารถปรับการใช้งานเป็น 5G Boost Mode, Game Mode หรือ Live Mode ได้ ในเวลาที่ต้องการประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น (มีค่าใช้จ่ายเพิ่ม และมีระยะเวลาในการใช้งาน) โดยฟีเจอร์นี้จะพร้อมให้บริการในเดือนธันวาคม 2023
ขณะที่คุณสมชัย เลิศสุทธิวงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร AIS กล่าวเสริมว่า “สิ่งที่ AIS เชื่อมั่นเสมอมาก็คือ โครงข่ายโทรคมนาคมไม่ได้ทำหน้าที่เป็นเพียง Dumb Pipe หรือท่อส่งเพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่สามารถยกระดับเพิ่มความอัจฉริยะและสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ผู้ใช้งานได้อย่างไม่มีขีดจำกัด”
2. เปิดตัว WiFi 7 เน็ตบ้านความเร็วสูง
อีกหนึ่งเทคโนโลยีที่เริ่มมีการใช้งานกันแล้วในระดับโลกก็คือ WiFi7 ซึ่งสำหรับประเทศไทย AIS มีการจับมือกับ TP-Link ให้บริการเราท์เตอร์มาตรฐาน WiFi7 แล้วเช่นกัน โดยข้อดีของ WiFi7 คือสามารถรองรับการเชื่อมอุปกรณ์ IoT ได้มากขึ้น อีกทั้งยังลดปัญหาเกี่ยวกับช่องสัญญาณที่แออัด หรือการสตรีมคอนเทนต์วีดีโอแบบ 8K ตลอดจนการใช้งาน VR ก็ทำได้ดีกว่า WiFi6 ด้วยนั่นเอง
3. ร่วมมือ NT – 3BB
สำหรับความร่วมมือกับ NT คือการที่ NT และ AWN ได้ลงนามสัญญาในโครงการเช่าใช้บริการอุปกรณ์โครงข่ายเพื่อให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ 4G/5G บนคลื่น 700 MHz และสัญญาการใช้บริการข้ามโครงข่ายโทรคมนาคมภายในประเทศ (Roaming) โดยภายใต้สัญญาฯ ดังกล่าว AIS โดย AWN จะจัดทำโครงข่าย 4G/5G บนคลื่นความถี่ 700 MHz จำนวน 13,500 สถานีฐาน ภายในระยะเวลา 2 ปี เพื่อให้ NT ใช้ในการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ทั้ง 4G/5G แก่ลูกค้าผู้ใช้บริการตลอดอายุใบอนุญาตใช้งานคลื่นความถี่ 700 MHz ซึ่งจะสิ้นสุดในปี พ.ศ. 2579 หรือ ค.ศ. 2036 ซึ่งผู้บริหารเอไอเอสเผยว่า จะทำให้ลูกค้าของ NT และ AIS รวมถึงคนไทยได้รับประสบการณ์ดิจิทัลที่ดีขึ้น
ขณะที่ความร่วมมือกับ 3BB จะทำให้การเข้าถึงอินเทอร์เน็ตของคนไทยขยายวงกว้างมากขึ้นถึงกว่า 13 ล้านครัวเรือน และธุรกิจเน็ตบ้านของ AIS จะก้าวสู่การเป็นผู้เล่นหลักของตลาด
4. เปิดตัว AIS Paragon Platform
อีกหนึ่งวิธีการให้บริการคือการพัฒนาสู่แพลตฟอร์ม ซึ่ง AIS ได้เปิดตัวแพลตฟอร์มชื่อ AIS Paragon สำหรับเป็นศูนย์รวมแอปพลิเคชัน, คลาวด์, เทคโนโลยี 5G เพื่อให้ธุรกิจค้าปลีก ภาคการผลิต ฯลฯ เข้าถึงและเลือกใช้งานได้สะดวกขึ้น
5. เปิดตัวแพลตฟอร์มการสื่อสาร AIS CPaaS
สำหรับ AIS CPaaS เป็นแพลตฟอร์มด้านการสื่อสาร (ย่อมาจาก Communications Platform-as-a-Service) โดยจะให้บริการการสื่อสารขององค์กรในรูปแบบของ Cloud-based
6. เปิดตัว MS Teams Phone ครั้งแรกใน SEA
นอกจากการเปิดตัวแพลตฟอร์มต่าง ๆ ที่กล่าวไปข้างต้นแล้ว AIS ยังได้จับมือกับยักษ์ใหญ่ด้านเทคโนโลยีโลกอย่างไมโครซอฟท์ (Microsoft) เปิดตัวบริการ Microsoft Teams Phone ขึ้นเป็นครั้งแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยผู้ที่ใช้บริการดังกล่าวจะสามารถโทรออกและรับสายผ่าน Microsoft Teams ไปยังเบอร์ต่าง ๆ ทั่วโลกได้และมีต้นทุนในการสื่อสารที่ลดลง
7. ส่ง Microsoft 365 Copilot for Enterprise สู่ภาคธุรกิจไทย
8. ส่ง Cloud PC ตอบโจทย์สถาบันการเงิน
อีกหนึ่งบริการสำหรับกลุ่มลูกค้าองค์กรคือการเปิดตัว Cloud PC โดยเป็นการจับมือกับ ZTE เพื่อให้บริการทรัพยากรในรูปแบบ Desktop as a Service (DaaS) บนระบบคลาวด์ที่องค์กรสามารถจัดสรรได้ตามความเหมาะสม ซึ่งปัจจุบัน พบว่า Cloud PC เป็นตลาดที่สถาบันการเงินให้ความสนใจพอสมควรด้วย
9. เปิดตัว Point Platform ทำให้การแลกพอยต์สะดวกขึ้น
ที่ผ่านมา การใช้ AIS Point มีอย่างต่อเนื่อง แต่ในยุคต่อไป การได้มาและการใช้จ่ายของ AIS Point จะเกิดขึ้นได้อย่างหลากหลายมากขึ้น จากการสร้างเป็นแพลตฟอร์มและทำให้สามารถเชื่อมต่อกับพาร์ทเนอร์ยักษ์ใหญ่ต่าง ๆ ได้ นอกจากนี้ บนแอปพลิเคชันของ AIS ยังเชื่อมโยงกับร้านค้าถุงเงิน ร้านธงฟ้า ร้านค้ารายย่อย โชว์ห่วย ร้านสตรีทฟู้ด รวมกว่า 1.8 ล้านร้านค้า รวมถึงห้างสรรพสินค้าชั้นนำ และร้านค้าพาร์ทเนอร์ทั่วประเทศกว่า 30,000 แห่ง จึงคาดว่าจะได้เห็นการแลกพอยต์ที่กระจายไปทั่วประเทศมากขึ้น
10. เป้าหมายด้านความยั่งยืน
ในเป้าหมายด้านความยั่งยืน ผู้บริหาร AIS อย่างคุณสมชัยได้เล่าถึงสิ่งที่ทางบริษัทได้ทำไปแล้ว ว่ามีตั้งแต่การเปลี่ยนอุปกรณ์ของโครงข่ายเพื่อให้ประหยัดพลังงานได้มากขึ้น การหันไปใช้พลังงานแบบ Renewable Energy ฯลฯ
ซึ่งการนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยบริหารพลังงานที่กล่าวมานั้น คุณสมชัยระบุว่า AIS สามารถลดการปล่อย CO2 ได้ 131,725 ตันในหนึ่งปี หรือการใช้ Renewable Energy ก็ทำให้ AIS ลดการปล่อย CO2 ได้ 16,159 ตันในหนึ่งปี และสุดท้าย การ Digitalization การให้บริการ เช่น การพัฒนาใบแจ้งหนี้อิเล็กทรอนิกส์ ก็ทำให้ AIS ลดการปล่อย CO2 ได้ 14,994 ตันต่อปีด้วยเช่นกัน (เทียบเท่ากับการปลูกต้นไม้ 17 ล้านต้น) โดยตลอด 30 กว่าปีที่ AIS ให้บริการ พบว่ามีการลงทุนเครือข่ายไปแล้ว 1 ล้านล้านบาท
“ในอีกด้าน เราได้ชวนให้คนไทยมีส่วนร่วมในภารกิจนี้ด้วยการปลูกจิตสำนึกและการตระหนักถึงความสำคัญของการแยกขยะอิเล็กทรอนิกส์ หรือ E-Waste ตามเป้าหมายในการจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์อย่างถูกวิธีแบบปราศจากการฝังกลบหรือ Zero e-waste to landfill โดยเราพร้อมเป็น HUB of e–waste ที่จะเป็นแกนกลางรวมทุกภาคส่วนมาร่วมกัน ขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาขยะอิเล็กทรอนิกส์อย่างยั่งยืน” คุณสมชัยกล่าวปิดท้าย
ทั้งหมดนี้ จะเห็นได้ว่า รูปแบบการให้บริการ กลยุทธ์ที่จะใช้สร้างความแตกต่างในวงการโทรคมนาคม ตลอดจนนโยบายด้านความยั่งยืน ส่วนใหญ่เกิดจากการจับมือกับพาร์ทเนอร์ทั้งรายใหญ่และรายย่อย ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ที่มีความเชี่ยวชาญในแต่ละอุตสาหกรรมทั้งสิ้น ซึ่งอาจเป็นการส่งสัญญาณว่า ภายใต้สถานการณ์ The Next Evolution นั้น ไม่ว่าจะเป็นผู้เล่นรายใหญ่หรือรายเล็ก การจับมือ – ทำงานร่วมกันอาจทำให้แบรนด์มีโอกาสมากกว่าในการเติบโตก็เป็นได้