HomeDigitale-Conomy SEA 2023 ชี้เศรษฐกิจดิจิทัลไทยขับเคลื่อนโดยอีคอมเมิร์ซ

e-Conomy SEA 2023 ชี้เศรษฐกิจดิจิทัลไทยขับเคลื่อนโดยอีคอมเมิร์ซ

คาดแตะ 5 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐในปี 2568

แชร์ :

google sea economy report 2023 01

Google, Temasek และ Bain & Company ได้เผยแพร่รายงานเศรษฐกิจดิจิทัลเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ฉบับที่ 8 (e-Conomy SEA 2023 Report – Reaching new heights: Navigating the path to profitable growth) โดยรายงานฉบับนี้ระบุว่าเศรษฐกิจดิจิทัลไทยจะมีมูลค่าสินค้ารวม (Gross Merchandise Value: GMV) สูงถึง 3.6 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐในปี 2566 โดยมีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 2 ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และคาดว่าจะแตะประมาณ 5 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐในปี 2568 นอกจากนี้ยังคาดว่าจะมีมูลค่าประมาณ 1-1.65 แสนล้านเหรียญสหรัฐในปี 2573 โดยตลาดอีคอมเมิร์ซยังคงเติบโตอย่างแข็งแกร่งและเป็นแรงขับเคลื่อนที่สำคัญของเศรษฐกิจดิจิทัลไทยอย่างต่อเนื่อง
สำหรับภาพรวมของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ คาดว่ามูลค่าสินค้ารวมของเศรษฐกิจดิจิทัลในภูมิภาคฯ จะสูงถึง 2.18 แสนล้านเหรียญสหรัฐในปี 2566 หรือโตขึ้น 11% จากปีที่ผ่านมา ในขณะที่รายได้เศรษฐกิจดิจิทัลของภูมิภาคฯ จะแตะ 1 แสนล้านเหรียญสหรัฐในปีนี้ ซึ่งมีอัตราการเติบโตที่เร็วกว่ามูลค่าสินค้ารวมของภูมิภาคฯ ถึง 1.7 เท่า

ADFEST 2024

Santos Or Jaune

เปิด 5 ข้อมูลเชิงลึกเศรษฐกิจดิจิทัลไทย

1. เพื่อดึงดูดการลงทุน ธุรกิจจำเป็นต้องมีแนวทางในการทำกำไรที่ชัดเจน และพิสูจน์ให้นักลงทุนเห็นว่าบริษัทมีทางออกสำหรับธุรกิจที่ทำได้จริง

การลงทุนจากภาคเอกชนในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ลดลงมาอยู่ที่ระดับต่ำสุดในรอบ 6 ปีหลังจากที่แตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ ซึ่งสอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงทั่วโลกในเรื่องของต้นทุนของเงินลงทุนและประเด็นปัญหาเกี่ยวกับวงจรการระดมทุน ซึ่งแนวโน้มที่ถดถอยนี้เกิดขึ้นทั่วทั้งภูมิภาคฯ รวมถึงประเทศไทย โดยมูลค่าการลงทุนจากภาคเอกชนในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2566 กลับมาสู่ระดับปกติหลังจากพุ่งสูงขึ้นในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา

เพื่อให้สามารถหลุดจากภาวะการลงทุนที่ยากลำบากนี้ ธุรกิจดิจิทัลในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ต้องมีแนวทางที่ชัดเจนในการสร้างการเติบโตควบคู่ไปกับการสร้างผลกำไร ซึ่งหมายความว่าต้องแสดงให้นักลงทุนที่มุ่งเน้นเรื่องแผนทางออกสำหรับธุรกิจและผลตอบแทนจากการลงทุนเห็นว่ามีมูลค่าประเมินราคาเข้าสู่ตลาดที่สอดคล้องกับความเป็นจริง โมเดลการสร้างรายได้ที่พิสูจน์แล้วว่าได้ผล และแผนทางออกสำหรับธุรกิจที่สามารถทำได้จริง

2. การเติบโตของไทยขับเคลื่อนโดยการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจจากการบริโภคภาคเอกชนที่เพิ่มขึ้นและการฟื้นตัวของการท่องเที่ยวระหว่างประเทศ

การท่องเที่ยวออนไลน์: การท่องเที่ยวออนไลน์ของไทยมีอัตราการเติบโตเร็วเป็นอันดับ 2 ในภูมิภาคฯ และเป็นตัวขับเคลื่อนหลักในการเติบโตของเศรษฐกิจดิจิทัลไทยในปี 2566 โดยคาดว่าจะเติบโต 85% จากปีที่ผ่านมา โดยคาดว่ามูลค่าสินค้ารวมจะแตะ 5 พันล้านเหรียญสหรัฐ แต่ยังไม่กลับสู่ระดับก่อนสถานการณ์โควิด-19 ที่สูงถึง 7 พันล้านเหรียญสหรัฐในปี 2562 การท่องเที่ยวในประเทศไทยขาเข้าฟื้นตัวช้ากว่าที่คาดการณ์ไว้ โดยเฉพาะการเข้ามาของนักท่องเที่ยวชาวจีนที่ยังคงอยู่ในระดับต่ำกว่าช่วงก่อนเกิดการระบาดใหญ่ ทั้งนี้ คาดว่าการประกาศใช้นโยบายใหม่ของรัฐบาล เช่น การยกเว้นวีซ่าสำหรับนักท่องเที่ยวชาวจีน และโครงการอื่น ๆ ของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย จะช่วยปูทางไปสู่การฟื้นตัวอย่างเต็มรูปแบบภายในปี 2567

อีคอมเมิร์ซ: อีคอมเมิร์ซยังคงเป็นแรงขับเคลื่อนหลักที่สำคัญของเศรษฐกิจดิจิทัลไทย โดยคิดเป็น 61% ของมูลค่าสินค้ารวมในปี 2566 ภาคธุรกิจอีคอมเมิร์ซเติบโตขึ้น 10% จากปี 2565 โดยมีมูลค่าสินค้ารวม 2.2 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ และคาดว่าจะแตะ 3 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐในปี 2568 ด้วยอัตราการเติบโตเฉลี่ยต่อปี (Compounded Annual Growth Rate: CAGR) อยู่ที่ 16% แม้ว่าผู้ประกอบการจะลดการจัดโปรโมชั่นและปรับส่วนลดเพื่อสร้างความสมดุลระหว่างการเติบโตและการสร้างผลกำไร ทั้งนี้ คาดว่ามูลค่าสินค้ารวมของภาคธุรกิจอีคอมเมิร์ซจะมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง และมีโอกาสที่จะแตะ 6 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐในปี 2573

สื่อออนไลน์ (บริการวิดีโอออนดีมานด์ เพลงออนดีมานด์ เกม): ไทยครองตลาดบริการวิดีโอสตรีมมิ่งที่เรียกเก็บค่าสมาชิกที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และคาดว่าไทยจะเป็นหนึ่งในตลาดสื่อออนไลน์ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในภูมิภาคฯ ในช่วงปี 2566-2573 แม้ว่าจะมีข้อจำกัดทางด้านคอนเทนต์ที่เป็นภาษาท้องถิ่น แต่ผู้บริโภคชาวไทยก็เต็มใจที่จะสมัครใช้บริการวิดีโอและเพลงแบบออนดีมานด์ ภาคธุรกิจสื่อออนไลน์ของไทยคาดว่าจะมีมูลค่าสินค้ารวมอยู่ที่ 5 พันล้านเหรียญสหรัฐในปีนี้ โดยเพิ่มขึ้น 12% จากปีที่ผ่านมา นอกจากนี้ยังคาดว่าจะมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยต่อปีอยู่ที่ 16% มีมูลค่าสินค้ารวม 7 พันล้านเหรียญสหรัฐในปี 2568 และจะแตะ 1.5 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐในปี 2573

การขนส่งและบริการส่งอาหารออนไลน์: ผู้ประกอบการด้านการขนส่งและบริการส่งอาหารออนไลน์มีกลยุทธ์ที่คล้ายคลึงกับธุรกิจอีคอมเมิร์ช โดยลดจำนวนโปรโมชั่นและแคมเปญจูงใจลูกค้าเพื่อสร้างความสมดุลระหว่างการเติบโตและการสร้างผลกำไร แม้ว่าจะมีการยกเลิกข้อจำกัดที่เกี่ยวข้องกับโควิด-19 และผู้คนกลับมาใช้ชีวิตได้ตามปกติแล้ว แต่พฤติกรรมการสั่งอาหารออนไลน์ยังคงเหมือนเดิมหลังการระบาดใหญ่ ในขณะที่ความต้องการเดินทางคืนสู่ระดับก่อนเกิดสถานการณ์โควิด-19 โดยรวมแล้วคาดว่าภาคธุรกิจการขนส่งและบริการส่งอาหารออนไลน์จะมีมูลค่าสินค้ารวมอยู่ที่ 3 พันล้านเหรียญสหรัฐในปี 2566 เพิ่มขึ้น 1% จากปี 2565

3. บริการด้านการเงินดิจิทัล (Digital financial services: DFS) เติบโตแข็งแกร่ง โดยบริการสินเชื่อผ่านช่องทางดิจิทัลในไทยเติบโตเร็วที่สุดในภูมิภาคฯ ในปี 2566

นโยบายของรัฐที่มุ่งเน้นให้การสนับสนุนกลุ่มที่ยังเข้าไม่ถึงบริการทางการเงินจะช่วยส่งเสริมการเติบโตของภาคการบริการด้านการเงินดิจิทัลต่อไป ในขณะเดียวกัน ธนาคารแห่งประเทศไทยก็มีแผนที่จะออกใบอนุญาตประกอบการธนาคารดิจิทัลใหม่ในปี 2567 ที่ออกแบบมาเพื่อมอบประสบการณ์ที่ดียิ่งขึ้นให้กับลูกค้าและช่วยให้คนไทยทั่วประเทศเข้าถึงบริการด้านการเงินได้มากขึ้น การขยายระบบผูกบัญชีพร้อมเพย์จะเข้ามารองรับในเรื่องนี้ โดยจะช่วยให้คนไทยเข้าถึงโครงสร้างพื้นฐานทางการเงินได้มากขึ้น

  • บริการสินเชื่อผ่านช่องทางดิจิทัลมีการเติบโตเร็วที่สุดถึง 65% โดยมียอดสินเชื่อสูงถึง 1.2 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2566 และยังเป็นอัตราการเติบโตที่เร็วที่สุดในภูมิภาคฯ ด้วย
  • บริการด้านความมั่งคั่งทางดิจิทัลคาดว่าจะมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยต่อปีเร็วที่สุดถึง 39% และจะมีมูลค่าสินทรัพย์ภายใต้การจัดการอยู่ที่ 2.3 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2568 โดยคาดว่าบริการด้านการเงินดิจิทัลของไทยจะมีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 2 ของภูมิภาคฯ ในปี 2573

4.ผู้ใช้ที่มีมูลค่าสูงยังคงช่วยขับเคลื่อนหน่วยเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน แต่โอกาสในการเติบโตของไทยต้องอาศัยการมีส่วนร่วมทางดิจิทัลมากขึ้น

กว่า 70% ของมูลค่าการทำธุรกรรมออนไลน์ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มาจากผู้ใช้จ่ายออนไลน์สูงสุด 30% แรก สำหรับประเทศไทย ผู้ใช้ที่มีมูลค่าสูง (High-value users: HVUs) มีการใช้จ่ายสูงกว่าผู้ใช้ที่มีมูลค่าไม่สูง (Non-HVUs) โดยเฉลี่ยถึง 7 เท่า โดยเฉพาะการใช้จ่ายในส่วนของเกม การขนส่ง และการท่องเที่ยว ทั้งนี้ คาดว่า HVUs ในไทยจะมีการใช้จ่ายเพิ่มขึ้นถึง 64% ในอีก 12 เดือนข้างหน้า นับเป็นอัตราการเติบโตที่สูงที่สุดในภูมิภาคฯ

แม้การมีส่วนร่วมของกลุ่ม HVUs เป็นสิ่งที่สำคัญอย่างมากสำหรับการสร้างผลกำไรของธุรกิจ แต่กลุ่ม Non-HVUs ในภูมิภาคฯ มีโอกาสในการเติบโตมากกว่ากลุ่ม HVUs ถึง 1.9 เท่า ดังนั้น การขจัดอุปสรรคต่อการมีส่วนร่วมในเศรษฐกิจดิจิทัลของกลุ่ม Non-HVUs จึงมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการเติบโตอย่างยั่งยืนของเศรษฐกิจดิจิทัลในระยะยาว

5. การขยายตัวของเศรษฐกิจดิจิทัลในอนาคตจำเป็นต้องอาศัยการยกระดับการมีส่วนร่วมทางดิจิทัลที่ลึกซึ้งขึ้น

แม้ว่าความเท่าเทียมทางดิจิทัลในประเทศไทยจะคืบหน้าอย่างต่อเนื่องในช่วงหลายปีที่ผ่านมา แต่ผู้บริโภคที่อยู่ในพื้นที่เขตนอกเมืองยังมีความเสี่ยงที่จะเผชิญหน้ากับความเหลื่อมล้ำทางดิจิทัลที่เพิ่มขึ้นในแง่ของการมีส่วนร่วมทางดิจิทัล ซึ่งหมายถึงการมีส่วนร่วมอย่างตื่นตัวในเศรษฐกิจดิจิทัลผ่านการใช้ผลิตภัณฑ์หรือบริการดิจิทัลในภาคธุรกิจต่าง ๆ

การแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำนี้ถือเป็นความรับผิดชอบร่วมกันของผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในเศรษฐกิจดิจิทัลทุกฝ่าย การขจัดอุปสรรคในด้านต่างๆ เช่น อุปทาน และประเด็นด้านความปลอดภัย สามารถช่วยส่งเสริมการมีส่วนร่วมของกลุ่ม Non-HVUs ได้ นอกจากนี้ยังช่วยให้เศรษฐกิจดิจิทัลไทยเติบโตได้อย่างเต็มศักยภาพอีกด้วย

Jackie Wang, Country Director, Google Thailand (1)

คุณแจ็คกี้ หวาง

คุณแจ็คกี้ หวาง Country Director, Google ประเทศไทย กล่าวว่า “เศรษฐกิจดิจิทัลของไทยยังคงแสดงให้เห็นถึงความสามารถในการฟื้นตัวอย่างน่าทึ่ง และคาดว่ามูลค่าสินค้ารวมจะก้าวสู่ระดับ 5 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐในปี 2568 แม้จะต้องเผชิญกับความไม่แน่นอนด้านเศรษฐกิจมหภาคก็ตาม

การให้ความสำคัญกับการลดช่องว่างด้านการมีส่วนร่วมทางดิจิทัล โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มที่อยู่นอกเขตกรุงเทพฯ และการขจัดอุปสรรคต่างๆ อย่างจริงจังเพื่อให้ผู้คนสามารถเข้าถึงผลิตภัณฑ์และบริการดิจิทัลได้มากยิ่งขึ้นจะช่วยให้ประเทศไทยสามารถปลดล็อกศักยภาพเพื่อการเติบโตต่อไปในทศวรรษแห่งดิจิทัล

ทั้งนี้ Google จะยังคงเดินหน้าให้การสนับสนุนในด้านต่างๆ และสานต่อความมุ่งมั่นของเราในการส่งเสริมการเติบโตในระยะยาวของเศรษฐกิจดิจิทัลไทยผ่านโครงการต่างๆ เช่น “Samart Skills” ซึ่งเป็นโครงการที่อยู่ภายใต้ Grow with Google ที่ริเริ่มขึ้นสำหรับประเทศไทยโดยเฉพาะ”

ด้านคุณ Willy Chang, Associate Partner, Bain & Company กล่าวให้ความเห็นเกี่ยวกับรายงานฉบับนี้ว่า “การเติบโตอย่างแข็งแกร่งในระดับเลขสองหลักของมูลค่าสินค้ารวมและรายได้ของเศรษฐกิจดิจิทัลในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ทะลุถึง 1 แสนล้านเหรียญสหรัฐในปี 2566 นับเป็นสิ่งที่น่าทึ่ง และแสดงให้เห็นถึงความสามารถในการฟื้นตัวของเศรษฐกิจดิจิทัลในภูมิภาคนี้ ผู้นำในภาคธุรกิจต่าง ๆ ก็มีความก้าวหน้าในการพัฒนาหน่วยเศรษฐกิจและโมเดลธุรกิจที่มั่นคงและมีเสถียรภาพมากยิ่งขึ้น การมีส่วนร่วมทางดิจิทัลในประเทศไทยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่เกิดการระบาดใหญ่ นอกจากนี้ การผลักดันกฎระเบียบการออกใบอนุญาตธนาคารดิจิทัลจะช่วยสร้างโอกาสใหม่ ๆ ในการเติบโตของบริการด้านการเงินดิจิทัล ขณะเดียวกันก็ช่วยเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงบริการทางการเงินให้กับคนไทยมากขึ้นอีกด้วย”

สามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมจากรายงานเศรษฐกิจดิจิทัลประเทศไทยได้ที่นี่


แชร์ :

You may also like