แจ่มจรัส บริษัทในเครือ YDM Thailand เปิดอินไซต์ค่านิยมการสื่อสารทางวัฒนธรรมท้องถิ่น หรือ ซอฟต์พาวเวอร์ (Soft Power) คือจุดแข็งกระตุ้นการท่องเที่ยว-กำลังซื้อ คาดช่วงเทศกาลส่งท้ายปีตลาดภูธรมีแนวโน้มเติบโต มองภาคอีสานคือพื้นที่ศักยภาพดึงดูดการลงทุน ด้วยพื้นที่ 1 ใน 3 ของประเทศ มีประชากรกว่า 22 ล้านคน
คุณธนพล ทรัพย์สมบูรณ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท วายดีเอ็ม (ไทยแลนด์) จำกัด กล่าวว่า ปัจจุบันสื่อออนไลน์มีบทบาทสามารถเข้าถึงบริโภคได้ครอบคลุมทั่วประเทศ สอดคล้องกับข้อมูลรวบรวมพฤติกรรมทางดิจิทัลที่เจาะจงเฉพาะ ‘คนไทย’ ในปี 2565 – 2566 โดย We Are Social และ Meltwater พบว่าคนไทยกว่า 71.75 ล้านคน ใช้งาน Internet มากถึง 61.21 ล้านคน หรือ 85.3% โดยมีผู้ใช้งานโซเชียลมีเดียที่ Active ถึง 72.8% ของประชากร และมีผู้ใช้มือถือเข้าชมเว็บไซต์สูงสุดเป็นอันดับ 1 มากถึง 68%
“สถิติหล่านี้สะท้อนว่า ผู้บริโภคมีอำนาจสื่อในมือ เพื่อเลือกรับข่าวสาร เลือกซื้อสินค้า และบริการในชีวิตประจำวันมากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มผู้บริโภคในต่างจังหวัด รวมถึงเมืองรองในภูมิภาคต่าง ๆ ซึ่งมีอิทธิผลกับกำลังซื้อต่อแบรนด์ไม่น้อยกว่ากับผู้บริโภคในเมืองหลักหรือหัวเมืองใหญ่ ถือเป็นตลาดสำคัญที่นักการตลาดและแบรนด์ควรเพิ่มโอกาสทางการขายและขยายฐานลูกค้าเข้าไปในกลุ่มนี้”
สำหรับวายดีเอ็มนั้น มีบริษัท แจ่มจรัส เป็นหัวหอกสำคัญในการบุกตลาดดังกล่าว โดยคุณสมยศ ชัยรัตน์ กรรมการผู้จัดการและผู้บริหาร บริษัท แจ่มจรัส จำกัด ในเครือ YDM Thailand กล่าวว่า ช่องโหว่ของนักการตลาด และแบรนด์ปัจจุบันคือการโฟกัส Insight ของผู้บริโภคในเมืองเป็นหลัก และมีแนวคิดเดิม ๆ ที่เข้าใจจะว่าสามารถเข้าถึงจริตคนภูธรได้ด้วยเรื่องราวเดียวกัน ซึ่งแนวคิดดังกล่าวเคยได้ผลในยุคที่สื่อโทรทัศน์ยังเป็นสื่อหลัก
แนะ 4 กลยุทธ์บุกตลาดภูธร
ผู้บริหารแจ่มจรัสเผยด้วยว่า กับดักของแบรนด์ในการบุกตลาดต่างจังหวัดคือไม่สามารถเจาะลึกเข้าถึงกลุ่มผู้บริโภคในแต่ละพื้นที่ได้ ด้วยขาดความชำนาญ ไม่เข้าใจพฤติกรรม รวมถึงไลฟ์สไตล์ ความชื่นชอบผู้บริโภคต่างจังหวัดที่มีความเฉพาะตัวในแต่ละภูมิภาค ทำให้หลายแบรนด์พลาดโอกาสที่จะได้เข้าถึงลูกค้า โดยเฉพาะภาคอีสาน ซึ่งเป็นพื้นที่ทำเลยุทธศาสตร์ประเทศ ซึ่งคำแนะนำจากผู้บริหารแจ่มจรัสในการจับจริตคนต่างจังหวัดสามารถทำได้โดยการโฟกัสใน 4 ข้อหลัก ๆ ได้แก่
1. สัญลักษณ์ (Symbols) ควรใช้การสื่อสารผ่าน Content คำพูด ท่าทาง รูปภาพ และวัตถุที่มีความหมายเฉพาะ เป็นที่ยอมรับของผู้ที่มีวัฒนธรรมเดียวกัน
2. ฮีโร่/ไอคอน (Heroes) นับเป็นหมากตัวสำคัญที่ช่วยดึงความสนใจร่วมกับการสื่อสาร Online และ On-ground โดยจะเน้นใช้บุคคลที่ได้รับการยกย่องจากสังคม
3. พิธีกรรม (Rituals) เป็นวัฒนธรรมท้องถิ่นที่มาพร้อมความเชื่อ ความสนใจ และความสนุกสนานมีอิทธิพลมากกับคนในพื้นที่ นิยมจัดร่วมกับกิจกรรมแบบ Offline เน้นการสร้างการมีส่วนร่วม เช่น งานเทศกาลงานบุญ รถแห่ หรืองานประจําจังหวัด เป็นต้น
4. เป้าหมายการเพิ่มมูลค่า (Value Target) คือการเข้าถึงเอกลักษณ์ของผู้บริโภคในพื้นที่ เช่น ชาวอีสานชื่นชอบกิจกรรมเป็นกลุ่ม สนุกสนาน เสียงหัวเราะ เต้น ร้องเพลง เป็นต้น
“ข้อมูลจำนวนราษฎรทั่วราชอาณาจักรไทย สำนักทะเบียนกลาง ชี้ว่าภาคอีสานติดอันดับจำนวนประชากรสูงสุดปี 2565 ด้วยประชากรกว่า 22 ล้านคน มีพื้นที่คิดเป็น 1 ใน 3 ของประเทศ ซึ่งถือเป็นตลาดต่างจังหวัดที่มีศักยภาพมากที่สุด มีจุดแข็งด้านซอฟต์พาวเวอร์ ถิ่นกำเนิดของศิลปวัฒนธรรม ภูมิปัญญาท้องถิ่น ความเชื่อ ความคิดสร้างสรรค์ ความสนุกสนาน และภาษาที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะ ที่ช่วยกระตุ้นการท่องเที่ยวและกำลังซื้อจากคนในประเทศและต่างประเทศ ซึ่งเศรษฐกิจในภูมิภาคกำลังเริ่มฟื้นตัว ถือเป็นโอกาสที่แบรนด์ไม่ควรมองข้าม ซึ่งจากการนำโมเดลดังกล่าวไปใช้ในการช่วยขับเคลื่อนแบรนด์สู่ขยายตลาดภูธร พบว่าแบรนด์สามารถเพิ่มยอดขายธุรกิจมากถึง 2 เท่า และสามารถบรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้” คุณสมยศ กล่าวทิ้งท้าย