ทุกวันนี้ไม่ว่าธุรกิจอะไรจะเล็กหรือใหญ่ต่างถูกกระทบจากผลของ Digital Disruption ทั้งนั้น…มิหนำซ้ำยุคนี้ยังถูกซ้ำเติมด้วยภาวะวิกฤติเศรษฐกิจทั่วโลกที่กระทบกันเป็นวงกว้าง ใครไม่ปรับตัวก็ต้องล้มหายตายจากไปในที่สุด
SCB หรือ ไทยพาณิชย์ หนึ่งในธนาคารที่พยายามสลัดความเป็น Traditional Bank และปรับตัวเข้าสู่โลกดิจิทัล มาอย่างต่อเนื่อง ตั้งสมัย ซีอีโอ คุณอาทิตย์ นันทวิทยา ที่ได้ทำการสละยานแม่แล้วมาตั้งเป็นโฮลดิ้ง SCBX เพื่อเป็นมากกว่าธนาคาร และมาสู่ยุคของซีอีโอใหม่ไฟแรงอย่าง คุณกฤษณ์ จันทโนท ที่มาพร้อมกลยุทธ์ “Digital Bank with Human Touch” เพียง 1 ปีกว่าก็เริ่มโชว์ผลงานตัวเลขผลการดำเนินงานในช่วง 9 เดือน 2566 ธนาคารมีรายได้ 1.1 แสนล้านบาท เติบโตจาก 9.9 หมื่นล้านบาทในช่วงเดียวกันของปี 2565 และมีกำไรสุทธิ 3.66 หมื่นล้านบาท เติบโต 21% ซึ่งเป็นผลมาจาก 2 ปัจจัยหลัก คือ การควบคุมค่าใช้จ่าย และ การขึ้นของอัตราดอกเบี้ย เป็นต้น
ดันรายได้จากช่องทาง Digital มุ่งสู่ Digital Banking เต็มตัว
ตัวเลขผลดำเนินการ 9 เดือนข้างต้นเป็นเพียงแค่ “น้ำจิ้ม” ภารกิจจานหลักต่อไป คุณกฤษณ์ จันทโนท ซีอีโอฯ อธิบายว่า คือ ต้องผลักดันรายได้จาก Digital เพิ่มมากขึ้น จากปัจจุบัน 7% ให้เป็น 25% ให้ได้ภายในปี 2025 ซึ่งจะทำให้ SCB รุดหน้าไปมากกว่าดิจิทัลแบงก์ใหม่ๆ เพราะการมีรายได้จากช่องทางดิจิทัลเป็น 1 ใน 4 ของรายได้รวมเป็นการสะท้อนให้เห็นถึงว่าช่องทางดิจิทัลมีความมั่นคงสำหรับการเป็น Digital Banking
“รายได้จากดิจิทัลจะต้องเพิ่มเป็น 1 ใน 4 ของรายได้รวม ซึ่งจะทำให้เราก้าวหน้ากว่าดิจิทัลแบงก์รายใหม่ๆ ในตลาด กว่าจะตามเราทันก็คงต้องใช้เวลา 5 ปีหรือ 10 ปี นอกจากนี้ อยากเห็นพนักงานไทยพาณิชย์และผู้บริหาร มองโจทย์ธุรกิจใหม่ว่าจะไปแบบเดิมไม่ได้ ต้องไปดิจิทัลอย่างสุดโต่ง ตอนที่รับตำแหน่งรายได้ดิจิทัลอยู่ที่ 3-4% การที่จะทำเป้าหมายที่ 25%ถือว่าท้าทายมาก แต่เชื่อว่าเราจะทำได้สำเร็จ”
ตอนผมเข้ามาพนักงานไทยพาณิชย์ยังกังวลว่าอนาคตไปยังไงต่อ เพราะมี SCBX ด้วย…. ขอให้มั่นใจธุรกิจธนาคาร SCB อยู่คู่กับคนไทยไปอีกร้อยปีข้างหน้า โลโก้ใบโพธิ์ยังไงก็ไม่หาย แต่ต้องปรับตัวให้สอดคล้องกับความร่วมสมัย ถ้าพนักงานสนุก สามัคคี สำเร็จ ย่อมทำให้ ลูกค้าจะได้รับบริการที่ดี เมือเป็นเช่นนั้นย่อมทำให้ผู้ถือหุ้น ซึ่งเป็นเก้าอี้ขาที่ 3 มีความสุขเพราะได้รับการปันผลที่ดี มีความสุขกับผลประกอบการที่ดีของไทยพาณิชย์
ทุ่ม 8,000 ล้าน ยกเครื่องระบบ Core Banking ให้ล้ำสุดๆ
การที่จะทำให้ไปสู่เป้าหมาย Digital Revenue ถึง 25% ของรายได้รวมได้นั้น ระบบและเทคโนโลยีต่างๆหลังบ้านของธนาคารมีความสำคัญมากที่สุด เพราะเป็นพื้นฐานหลักจึงต้องทันสมัยและมีความชาญฉลาดมาก เพื่อรองรับเทคโนโลยีใหม่ๆที่จะเข้ามาปลั๊กอินด้วย และ ความต้องการของลูกค้าในอนาคตด้วย SCB จึงทุ่มงบในการเปลี่ยนระบบใหม่ 8,000 ล้านบาทสำหรับปีหน้า
ระบบและเทคโนโลยีหลังบ้าน หรือ Core Banking ของ SCB เดิมใช้ Cobalt systems มากว่า 10 ปี ซึ่งเป็นระบบค่อนข้างเก่า และไม่สามารถสร้างเทคโนโลยีใหม่ๆตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้ดีเท่าที่ควร SCB จึงเตรียมยกเครื่องระบบใหม่ครั้งใหญ่ เพิ่มความสามารถและประสิทธิภาพของระบบให้ดียิ่งขึ้น บวกกับสามารถรองรับเทคโนโลยีใหม่ๆในอนาคตด้วย เพื่อให้เป็นไปเป้าหมายสูงสุด คือ Customer Centricity อย่างแท้จริง
ปัญหาของ Core Banking เดิมมีระบบภายใน 764 ระบบที่เชื่อมต่ออย่างซับซ้อน ซึ่งทำให้การพัฒนาบริการใหม่ๆเป็นเรื่องที่ทำได้ยาก หรือ ระบบใดระบบนึงมีปัญหาอาจจะส่งผละกระทบพ่วงไประบบอื่นๆด้วย โดย Core Banking ใหม่จะทำให้ระบบทันสมัยและรวดเร็วมากขึ้น อีกทั้งจะส่งผลให้ลดจำนวนระบบภายในต่างๆได้ลงเหลือ 100 กว่าระบบ นอกจากนี้ Core Banking ใหม่ยังส่งเสริมให้ระบบ AI ฉลาดมากขึ้นในการเข้าใจความต้องการของลูกค้าได้อย่างแม่นยำ และรวมไปถึงสามารถคิดโปรดักท์ใหม่ๆให้เหมาะสมกับลูกค้าแต่ละคนได้เอง
คุณอรพงศ์ เทียนเงิน ผู้จัดการใหญ่ และประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มงาน Technology ธนาคารไทยพาณิชย์ เสริมอีกว่า “ในอดีตที่พื้นฐานของระบบเป็นแบบนั้นทำให้ Customer Centricity ที่เป็นเป้าหมายของเรามันเกิดขึ้นไม่ได้ ดังนั้นการเปลี่ยน Core Bank ตอนนี้มันเป็นโอกาสให้เราทำในสิ่งที่เคยคิดว่าทำไม่ได้ ให้เป็นไปได้ เพราะฉะนั้นในอีก 4 ปีข้างหน้า โลกทั้งหลายที่เราคุยในวันนี้ เป้าหมายของเรา คือ ต้องทำให้มันเกิด”
ปีหน้างบลงทุนด้านไอทีของเราอยู่ที่ 8,000 ล้านบาท และจะต่อเนื่องด้วยระดับนี้ต่อไปอีก 3-4 ปี เราเชื่อว่าสิ่งที่ตั้งเป็น Vision วันนี้ ด้วยการเงินลงทุนที่ดี และด้วยผลกระทบต่อระบบใหญ่ๆ ที่เราจะเปลี่ยน เราเชื่อว่าจะเปลี่ยนโลกธนาคารดังที่เราเคยฝันว่าจะทำแบบนี้มานาน
มุ่งสู่เป้าหมาาย No.1 Wealth Banking
นอกจากลงทุนด้านระบบ Core Banking ให้ทันสมัยแล้ว อีกหนึ่งเป้าหมายใหญ่ คือ ผลักดันให้ SCB กลายเป็นเบอร์หนึ่งของผู้ให้บริการบริหารความมั่งคั่ง หรือ Wealth Banking หากสำเร็จก็จะกลายเป็น Growth Engine สำคัญที่ทำให้ SCB เติบโตได้อย่างมั่นคง
โดยปัจจุบัน Wealth Banking มีลูกค้าอยู่กว่า 500,000 ราย รวมสินทรัพย์ภายใต้บริหารจัดการ (AUM) กว่า 1.6 ล้านล้านบาท ใน SCB PRIVATE BANKING (AUM มากกว่า 50 ล้านบาท) , SCB FIRST (AUM 10-50 ล้านบาท) , SCB PRIME (AUM 2-10 ล้านบาท) และรวมถึงบริษัทร่วมทุนใหม่ที่ให้บริการดูแลนักลงทุนไทยที่ไปลงทุนต่างประเทศ (Offshore) ผ่าน ไทยพาณิชย์ จูเลียส แบร์ (AUM 100 ล้านบาทขึ้นไป)
เพื่อให้ถึงเป้าหมาย No. 1 Wealth Banking ยังเตรียมขยายไปยังลูกค้าที่มีศักยภาพในกลุ่มมั่งคั่ง (Wealth Potential) เพื่อสร้างโอกาสในการเพิ่มพูนความมั่งคั่งในระยะยาวและเป็นไปได้สำหรับทุกคน (Wealth for Everyone) มุ่งเน้นการมอบทางเลือกผลิตภัณฑ์การลงทุนพื้นฐานที่เข้าถึงง่าย ไม่ว่าจะเป็นผลิตภัณฑ์ประกันหรือกองทุน เป็นต้น และจะนำเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาใช้เป็นตัวช่วยในการมอบทางเลือกการลงทุนที่เหมาะสมให้กับลูกค้าในกลุ่มนี้เป็นหลัก
โดยตั้งเป้าหมายความเป็นที่หนึ่งในธุรกิจบริหารความมั่งคั่ง ซึ่ง AUM ต้องเติบโตเฉลี่ยมากกว่า 20% จากปัจจุบันที่เติบโตเฉลี่ย 10%
หมัดเด็ด SCB Julias Biar ยกระดับความมั่งคั่งขั้นกว่า
ไทยพาณิชย์ จูเลียส แบร์ (SCB Julius Baer) จึงกลายเป็นหัวหอกสำคัญในการเจาะกลุ่ม Wealth หรือ ลูกค้า High-net-worth ในไทยที่มีอยู่เป็นจำนวนมาก และ มีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นด้วย SCB Julius Baer เข้ามาให้บริการพร้อมชูจุดเด่นเรื่องบริการครบวงจร Wealth Management ทั้งการลงทุนทั้ง Onshore และ Offshore พร้อมกับเข้าถึงทีมผู้เชี่ยวชาญมืออาชีพระดับสากลจากจูเลียส แบร์ (สวิสเซอร์แลนด์) รวมถึงทีม Estate Planning & Family Office ของธนาคารไทยพาณิชย์ได้อีกด้วย ซึ่งจะยกระดับความมั่งคั่งให้กับลูกค้าไปอีกขั้น
“เพราะจาก Research ทั่วโลกในปี 2022 – 2023 พบว่าคนรวยทั้งโลกจนลง แต่ Southeast Asia หรือประเทศไทย มีคนรวยในประเทศไทยเพิ่มขึ้นในเชิงมูลค่า 4% บวกตัวเลขจำนวนการขอใบอนุญาตของธนาคารต่างชาติเข้ามาทำธุรกิจในไทยก็สูงขึ้นเช่นกัน …เพราะฉะนั้น 1-2 ปีนี้เราจะเห็น House ต่างชาติตบเท้าเข้ามาเพราะว่าคนรวยในประเทศไทยจะ Onshore Wealth เราจะต่างจากอินโดนิเซีย หรือหลายๆ ประเทศที่มีเงินเข้าอยู่ข้างนอก แต่คนรวยในเมืองไทย 80% ของความมั่งคั่งอยู่ในประเทศ เพราะฉะนั้นการทำธุรกิจนี้ยังไงก็ต้องทำในประเทศ” ลลิตภัทร ธรณวิกรัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์ไทยพาณิชย์ จูเลียส แบร์ จำกัด กล่าวเสริม
4 ความท้าทายธุรกิจ “ธนาคาร” ในปี 2024
นอกจากนี้ คุณกฤษณ์ จันทโนท ยังทิ้งท้ายเผยแนวโน้มความท้าทายของธุรกิจธนาคาร ในปี 2024 ได้แก่
- อัตราดอกเบี้ยนโยบายที่คาดว่าจะไม่ขึ้นไปกว่านี้ ไม่เหมือนปี 2023 ทำให้ส่วนต่างของอัตราดอกเบี้ยลดลง จึงต้องหา Growth Engine เพื่อสร้าง Growth Story
- ความเสี่ยงจากหนี้เสีย จากกลุ่มลูกค้าเปราะบาง ทั้งรายย่อย และรายใหญ่ที่จะเพิ่มขึ้น
- เทคโนโลยี ที่เปลี่ยนแปลงไปเยอะจากวันที่รับตำแหน่งจนถึงวันนี้ เชื่อว่า AI ในอีก 12 เดือนจะเห็นก้าวกระโดดมากขึ้น แต่โจทย์ของลูกค้าไม่แคร์เรื่องพวกนี้ สิ่งที่ลูกค้าอยากได้คือ Personalization คือการตอบโจทย์บริการลูกค้าที่เป็นปัจเจกบุคคลซึ่งเป็นโจทย์ท้าทายในทุกอุตสาหกรรม รวมถึงธุรกิจธนาคาร
- การที่ทุกธนาคารต้องหันมามองเรื่อง “ต้นทุน” จะต้องสร้างระบบอัตโนมัติ ที่ไม่ใช้คน มาทำงานแทนคนให้มากขึ้น และหารายได้จากดิจิทัลมากขึ้น เพื่อลดความผันผวน ซึ่งถือเป็นเรื่องท้าทายทุกองค์กรรวมทั้งไทยพาณิชย์