HomeBrand Move !!เปิดเหตุผลทำไม OR ปักหมุด ‘กัมพูชา’ เป็นบ้านหลังที่สอง เส้นทาง 10 ปี Cafe Amazon ครองเบอร์หนึ่งร้านกาแฟ    

เปิดเหตุผลทำไม OR ปักหมุด ‘กัมพูชา’ เป็นบ้านหลังที่สอง เส้นทาง 10 ปี Cafe Amazon ครองเบอร์หนึ่งร้านกาแฟ    

แชร์ :

กลุ่มธุรกิจ Global เป็นหนึ่งในกิจการสร้างรายได้ให้ บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ OR ปัจจุบันมีธุรกิจอยู่ใน 11 ประเทศ เจาะลึกประเทศที่ OR ให้ความสำคัญประกาศให้เป็นบ้านหลังที่ 2 รองจากไทย คือ “กัมพูชา” ที่ได้เข้าไปขยายกิจการตั้งแต่ปี 2535

ADFEST 2024

Santos Or Jaune

เส้นทางกว่า 30 ปี ในกัมพูชา OR ยกโมเดลธุรกิจที่ประสบความสำเร็จในไทยไปต่อยอดสร้างการเติบโตใหม่ ทั้งกลุ่มน้ำมันและค้าปลีก ปัจจุบัน OR ในกัมพูชา มีกิจการหลากหลาย

– คลังน้ำมัน 6 แห่ง

– สถานีบริการน้ำมัน PTT Station 172  สถานี (ลงทุนเอง 12 สถานี ดีลเลอร์ 160 สถานี)

– ร้าน Cafe Amazon 231 สาขา (ลงทุนเอง 20 สาขา แฟรนไชส์ 211 สาขา)

– ร้านสะดวกซื้อ 7-Eleven 49 สาขา ร้าน Jiffy 12 สาขา

– ร้านสะดวกซัก Otteri นำร่องเปิดสาขาแรกในพนมเปญ

– Onion Mobility บริการเปลี่ยนแบตเตอรี่รถตุ๊กตุ๊ก EV 1 สาขา

– EV Station PluZ 3 สาขา

– ในกัมพูชา มีพนักงาน 237 คน พนักงานจ้างเหมา 1,300 คน  สร้างการจ้างงานในเครือข่ายธุรกิจ 8,000 คน

เปิดเหตุผล OR ปักหมุดกัมพูชาบ้านหลังที่สอง

คุณดิษทัต ปันยารชุน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร OR กล่าวว่าภายใต้แผนการลงทุน 5 ปี (ปี 2567-2571) OR วางงบประมาณลงทุนรวมไว้ 70,000 ล้านบาท เฉพาะกลุ่มธุรกิจ Global อยู่ที่ 8,007 ล้านบาท หรือสัดส่วน 12%

วางยุทธศาสตร์ให้ “กัมพูชา” เป็นบ้านหลังที่สอง ขยายเครือข่ายธุรกิจ OR โดยยกโมเดลที่ประสบความสำเร็จจากไทยมาใช้ที่กัมพูชา ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบสถานีบริการน้ำมัน PTT Station ร้าน Cafe Amazon รวมทั้งแบรนด์ธุรกิจค้าปลีกในเครือข่าย OR  ที่จะทยอยมาขยายธุรกิจในกัมพูชา

– เหตุผลที่ OR โฟกัสตลาดกัมพูชา มาจากการเติบโตทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) ปี 2566 อยู่ที่ 6%  มาจากภาคอุตสาหกรรม 37.6%  เติบโต 8.3%  ภาคบริการ 33.7%  เติบโต 4.6% ภาคเกษตร 21.8% เติบโต 0.7%  เป็นประเทศที่ฟื้นตัวเร็วจากโควิด  มีปัจจัยบวกสถานการณ์การเมืองนิ่ง นโยบายเปิดรับการลงทุนจากต่างประเทศ เห็นได้ว่าพนมเปญ มีการลงทุนใหม่ๆ เข้ามาอย่างต่อเนื่อง แสดงให้เห็นถึงความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างชาติในกัมพูชา

– การรับรู้แบรนด์ไทยมีสูง (Brand Perception) เพราะเสพสื่อไทย การขยายสินค้าและบริการจากไทยมากัมพูชาจึงสร้างแบรนด์ได้ง่าย

– ได้เปรียบเรื่องโลจิสติกส์ ขนส่งทางเรือสะดวกใช้เวลาจากไทย 1 วัน

– หลังจาก OR เป็นเบอร์หนึ่งในไทยไม่ว่าจะเป็นธุรกิจ Mobility ร้านกาแฟ Cafe Amazon จึงต้องมองหาโอกาสสร้างเติบโตในต่างประเทศ ซึ่งกัมพูชา เป็นตลาดที่มีศักยภาพสูง ปัจจุบัน PTT Station ในกัมพูชา มีส่วนแบ่งการตลาดอันดับ 2 รองจากแบรนด์ท้องถิ่น Tela (เป็นเบอร์หนึ่งปั๊มน้ำมันแบรนด์ต่างประเทศ)  ส่วนธุรกิจร้านกาแฟ Cafe Amazon เป็นเบอร์หนึ่ง

– กัมพูชา มีประชากร 17 ล้านคน จากแนวโน้มจีดีพี กัมพูชาเติบโตสูง ทำให้ประชากรชนชั้นกลางจะเพิ่มมากขึ้นในอนาคต ซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมายหลักในธุรกิจของ OR ทั้งสถานีบริการน้ำมันและรีเทล

– สิ่งที่จะทำเพิ่มในกัมพูชา  คือการขยายธุรกิจในภาคอุตสาหกรรม เช่น LPG  การหาพาร์ทเนอร์ค้าปลีกท้องถิ่น เพื่อเข้ามาอยู่ในอีโคซิสเต็ม OR ในฝั่งรีเทล เหมือนในประเทศไทย ทั้งรูปแบบ M&A ซื้อกิจการและร่วมทุนเพื่อเติบโตไปด้วยกัน ในปี 2567 วางงบลงทุนในกัมพูชาไว้ 50 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ราว 1,600 ล้านบาท) โดยหลักลงทุนในธุรกิจที่ OR มีจุดแข็งคือ สถานีบริการน้ำมัน ร้าน Cafe Amazon ร้านสะดวกซื้อ

10 ปี Cafe Amazon ครองเบอร์หนึ่งร้านกาแฟกัมพูชา 

หนึ่งในธุรกิจที่ OR ประสบความสำเร็จในกัมพูชา คือ ร้าน Cafe Amazon คุณณัฐพงศ์ แก้วตระกูลพงษ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ปตท. (กัมพูชา) จำกัด (PTTCL) กล่าวว่า Cafe Amazon เข้ามาเปิดสาขาในกัมพูชา ปี 2556 รวมเวลา 10 ปี ปัจจุบันมี 231 สาขา (ลงทุนเอง 20 สาขา หรือคิดเป็นสัดส่วน 9% และแฟรนไชส์ 211 สาขา หรือ 91%)

สาขาส่วนใหญ่อยู่ในพนมเปญ 131 สาขา และจังหวัดอื่น 100 สาขา เปิดทั้งในสถานีบริการน้ำมัน PTT Station และสแตนด์อะโลน ในแหล่งชุมชน แหล่งท่องเที่ยว เปิดไปแล้ว 22 จังหวัด (จาก 25 จังหวัด)

ปัจจุบัน Cafe Amazon เป็นแบรนด์ร้านกาแฟที่มีสาขาอันดับ 1 ในกัมพูชา ทิ้งห่างคู่แข่งแบรนด์ท้องถิ่น Tube Cafe มี 40 สาขา และ Brown Cafe 36 สาขา รวมทั้งแบรนด์อินเตอร์อย่าง Starbucks มี 40 สาขา

กลยุทธ์ของ Cafe Amazon จึงไม่เน้นขยายสาขาเยอะ เฉลี่ยปีละ 20-30 สาขา โดยปี 2567 วางไว้ที่ 31สาขา ในสถานีบริการน้ำมัน PTT Station พร้อมปรับรูปแบบร้านและรีโนเวทสาขาเดิมเพื่อรองรับการแข่งขันธุรกิจ F&B รายใหม่ๆ และตามเทรนด์พฤติกรรมผู้บริโภค

หลังจาก Cafe Amazon เปิด Concept Store ที่ประเทศไทยมาแล้วหลายแห่ง เพื่อเป็นต้นแบบการลงทุนให้กับแฟรนไชส์ จากนั้นได้เปิด Concept Store ในต่างประเทศ เริ่มที่ลาว ในไตรมาส2 ปี 2567 จะเปิด Concept Store ที่พนมเปญ พื้นที่ 2,000 ตารางเมตร (สาขาปกติ 150-200 ตารางเมตร)  เป็นคอนเซ็ปต์จุดนัดพบ แหล่งแฮงเอาท์ ให้กับคนรุ่นใหม่ นักศึกษามหาวิทยาลัย  เป็นการรีเฟรช แบรนด์ ในกลุ่มวัยรุ่นให้รู้จัก Cafe Amazon มากขึ้น จากเดิมกลุ่มหลักวัยทำงานอายุ 30 ปีขึ้นไป

นอกจากนี้ Cafe Amazon จะให้บริการแบบ Full Service บริการมื้ออาหารเที่ยง โดยร่วมมือกับ “ดุสิตฟู้ดส์”  บริษัทที่ OR เข้าไปร่วมถือหุ้นด้วย จะมาพัฒนาเมนูอาหารและเบเกอรี่ เพื่อให้เสิร์ฟใน Cafe Amazon เป็นการเพิ่มโอกาสทางการขายให้กับ Cafe Amazon นอกจากเครื่องดื่ม

พฤติกรรมคนกัมพูชา กินก๋วยเตี๋ยวเป็นอาหารเช้า เริ่มเข้าร้านกาแฟตอนเที่ยง Cafe Amazon จึงต้องปรับมาเสิร์ฟเมนูอาหารเที่ยงด้วย เพื่อดึงลูกค้าให้ซื้อกาแฟ หรือเครื่องดื่มอื่นๆ ต่อจากมื้อเที่ยง

รูปแบบร้าน Cafe Amazon ในกัมพูชา เหมือนกับประเทศไทย บรรยากาศร้าน, การตกแต่ง, บริการ Drive Thru (บางสาขา) สำหรับเมนูเครื่องดื่มเหมือนกับประเทศไทย แต่ราคาเริ่ม 1.2 ดอลลาร์สหรัฐฯ ราคาเฉลี่ยแพงกว่าไทย 20% เนื่องจากต้องนำเข้าวัตถุดิบทุกอย่าง เมนูเครื่องดื่มขายดี คือ ลาเต้ และชาเขียว ทำยอดขายเฉลี่ยวันละ 200 แก้ว ส่วนสาขาใหญ่วันละ 500 แก้ว

ร้าน Cafe Amazon ในกัมพูชา มีสาขาริมพระราชวังหลวง ในพนมเปญ เปิดให้บริการ 24 ชั่วโมง เพราะอยู่ในแหล่งท่องเที่ยว นอกจากนี้ยังมีสาขา Cafe Amazon for Chance ให้บริการด้วย โดยสาขานี้ช่วงเปิดตัวเคยทำโปรโมชันซื้อ 1 แถม 1  ทำสถิติยอดขายวันละ 1,000 แก้ว

PTT Station แบรนด์ต่างชาติเบอร์หนึ่ง 

OR เริ่มเปิดสถานีบริการน้ำมัน PTT Station ในกัมพูชา ปี 2556  ปัจจุบันมีจำนวน 172 สถานี (ลงทุนเอง 12 สถานี ดีลเลอร์ 160 สถานี) ครอบคลุม 22 จังหวัด (จากทั้งหมด 25 จังหวัด) ปี 2567 จะเปิดใหม่อีก 20 สถานี

ธุรกิจน้ำมันในกัมพูชา ทุกแบรนด์เป็นการนำเข้าจากต่างประเทศ 100%  สถานีบริการน้ำมันมีทั้งแบรนด์ท้องถิ่นและแบรนด์ต่างชาติ โดยมี Tela แบรนด์ท้องถิ่น ครองส่วนแบ่งตลาดอันดับหนึ่ง 39.3% ส่วน PTT Station เป็นอันดับสอง 17.3% โดยเป็นแบรนด์ต่างชาติเบอร์หนึ่ง

สถานีบริการน้ำมัน PTT Station วางคอนเซ็ปต์เป็นจุดพักของชุมชน จึงให้บริการด้วยจุดขายห้องน้ำสะอาด บางสถานีขนาดใหญ่ที่เปิดใหม่ติดแอร์ โดยไม่ต้องจ่ายเงินเพื่อใช้บริการ ซึ่งได้รับเสียงตอบรับดีจากลูกค้า

รูปแบบ PTT Station ในกัมพูชา เป็นโมเดลเดียวกับประเทศไทย ที่จะสร้างให้เป็นคอมมูนิตี้ในพื้นที่ชุมชน ดึงร้านค้าต่างๆ มาเป็นแม่เหล็ก ไม่ว่าจะเป็น Cafe Amazon ร้านสะดวกซื้อ Jiffy 12 สาขา ในปี 2564 เริ่มเปิดร้านสะดวกซื้อ 7-Eleven โดยซื้อแฟรนไชส์จาก CPALL (ได้สิทธิ์มาสเตอร์แฟรนไชส์ในกัมพูชา) เปิดสาขาในปั๊ม ปัจจุบันเปิดไปแล้ว 49 สาขา ใน 13 จังหวัด จะเน้นการเปิดในทำเลชุมชนขนาดใหญ่

พาแบรนด์ไทย “Otteri – โอ้กะจู๋” ลุยกัมพูชา 

หลังจาก OR สร้างเครือข่ายสถานีบริการน้ำมัน PTT Station และ Cafe Amazon ครอบคลุมเกือบทั่วประเทศกัมพูชาแล้ว คุณรชา อุทัยจันทร์ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ด้านธุรกิจต่างประเทศ  OR  กล่าวว่าแผนการต่อยอดธุรกิจต่อไป คือ การนำแบรนด์ต่างๆ ที่อยู่ในอีโคซิสเต็มของ OR  ออกมาขยายธุรกิจในกัมพูชา โดยได้เริ่มนำร้านสะดวกซัก Otteri เปิดบริการแล้ว 1 สาขาที่พนมเปญ ซึ่งได้ผลตอบรับดีขึ้น เนื่องจากัมพูชา นิยมซักผ้าจากร้านสะดวกซักอยู่แล้ว

นอกจากนี้ “โอ้กะจู๋” ซึ่ง OR เข้าไปร่วมถือหุ้นด้วย เป็นอีกแบรนด์ที่สนใจขยายธุรกิจกัมพูชา โดยเริ่มมาสำรวจตลาดแล้ว หากเข้ามาลงทุนต้องหาพื้นที่ปลูกผักในกัมพูชาก่อน โดยจะเริ่มเปิดสาขาสแตนด์อะโลน เพื่อสร้างการรับรู้และสร้างแบรนด์ในกัมพูชา รวมทั้งซัพพลายสินค้าพร้อมรับประทานให้กับ Cafe Amazon เหมือนในประเทศไทย

กว่า 30 ปีในกัมพูชา OR ใช้เงินลงทุนไปแล้ว 80 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ปี 2565 OR เป็นผู้เสียภาษีรายใหญ่เป็นอันดับที่ 22 ของกัมพูชา จำนวน 4.1 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ  มีรายได้ปี 2565 อยู่ที่ 460 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ การขยายธุรกิจกัมพูชา บ้านหลังที่ 2 ของ OR ยังมองการทำ M&A กับธุรกิจท้องถิ่น ทั้งซื้อหุ้นหรือซื้อกิจการ เพื่อสร้างการเติบโตไปธุรกิจท้องถิ่น และนำแบรนด์ที่มีศักยภาพไปขยายในต่างประเทศ ที่ OR มีเครือข่าย เพื่อสร้างการเติบโตไปด้วยกัน   


แชร์ :

You may also like