บมจ. เจเคเอ็น โกลบอล กรุ๊ป หรือ JKN ของคุณแอน จักรพงษ์ จักราจุฑาธิบดิ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการ JKN ได้ออกมาชี้แจงความจำเป็นที่ต้องนำ JKN ยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการต่อศาลล้มละลายกลาง เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2566 และศาลมีคำสั่งรับคำร้องขอฟื้นฟูกิจการ เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 2566
ตลอดช่วง 3 ปีที่ผ่านมา JKN ได้ขยายการลงทุนธุรกิจใหม่อย่างต่อเนื่อง เพื่อหาโอกาสและแหล่งรายได้ใหม่ หลังจากธุรกิจคอนเทนต์กำลังถูก Disrupt จากสื่อใหม่และพฤติกรรมผู้ชม ช่วงปี 2563-2565 JKN ได้ลงทุนธุรกิจรวม 6 กิจการ
– ไตรมาส 2 ปี 2563 ลงทุนหุ้นในคอนเทนต์ที่สิงคโปร์ มูลค่า 556 ล้านบาท
– ไตรมาส 1 ปี 2564 ลงทุน เจเคเอ็น ดริงค์ ธุรกิจจำหน่ายเครื่องดื่มเฮาส์แบรนด์ มูลค่า 52 ล้านบาท
– ไตรมาส 2 ปี 2564 ลงทุนซื้อกิจการทีวีดิจิทัล JKN18 มูลค่า 1,046 ล้านบาท
– ไตรมาส 3 ปี 2564 ลงทุนในโรงงานผลิตเครื่องดื่ม เอ็มเอ็น เบฟเวอเรจ (ถือหุ้น 60%) มูลค่า 77 ล้านบาท
– ไตรมาส 2 ปี 2565 ลงทุน Hi Shopping 77 ล้านบาท
– ไตรมาส 4 ปี 2565 ลงทุนซื้อกิจการ Miss Universe Organization (MUO) มูลค่า 541 ล้านบาท มองว่าเป็นกิจการที่จะต่อยอดสร้างรายได้ใหม่ให้ JKN ในอนาคต
รวมมูลค่าเงินลงทุน 2,286 ล้านบาท โดยเงินก้อนนี้ JKN ได้ออกหุ้นกู้จำนวน 3,360 ล้านบาท มาลงทุนและใช้ในการดำเนินกิจการ ต่อมา JKN จัดการสภาพคล่องไม่เป็นไปตามแผน ทำให้ผิดนัดชำระหนี้หุ้นกู้ จนนำไปสู่การยื่นฟื้นฟูกิจการ
ตลอดเวลา 11 ปี การทำธุรกิจคอนเทนต์ JKN ได้ซื้อคอนเทนต์ไปแล้ว 6,000 เรื่อง จำนวน 60,000 ตอน รวมมูลค่าทั้งหมด 12,950 ล้านบาท โดยตัดจำหน่ายไปแล้ว 6,581 ล้านบาท มูลค่าคงเหลือตามบัญชี (ณ เดือนกันยายน 2566) อยู่ที่ 6,277 ล้านบาท
หากดูผลประกอบการ JKN ที่ยังมีกำไร จึงยังไม่ใช่บริษัทที่มีหนี้สินล้นพ้นตัวและยังไม่อยู่ในฐานะล้มละลาย แต่การชำระหนี้อาจมีปัญหาและนำไปสู่การฟ้องร้องเข้าสู่กระบวนการล้มละลายทำให้สินทรัพย์ไม่มีตัวตน (คอนเทนต์) เสื่อมค่าในเวลาอันรวดเร็วได้ ซึ่งจะกระทบและก่อให้เกิดความเสียหายแก่เจ้าหนี้และผู้ถือหุ้น จากมูลค่าทรัพย์สินไม่มีตัวตนเสียหาย จึงจำเป็นต้องยื่นศาลเพื่อเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการ
“ขอยืนยันว่า JKN ตัดสินใจเข้าสู่แผนฟื้นฟูกิจการ เพราะต้องการดูแลทั้งผู้ถือหุ้นและผู้ถือหุ้นกู้ ให้ได้รับประโยชน์สูงสุด ได้รับเงินคืนและได้รับการดูแลจาก JKN อย่างยุติธรรมที่สุด และหมายถึงการยืนหยัดในการทำงานไม่ไปไหน เพื่อคืนเงินให้กับเจ้าหนี้ทุกคน”
โดยในวันที่ 15 ธันวาคมนี้ JKN ได้นัดตัวแทนผู้ถือหุ้นกู้และสถาบันการเงินมาร่วมกันวางแผนการชำระเงินคืนเป็นนัดแรก
แจงเหตุทีซีจีฟ้องคดี MU Coin
นอกจากนี้ JKN ได้ชี้แจงกรณี บริษัท ทีซีจี โซเชียล มีเดีย กรุ๊ป จํากัด ยื่นฟ้องการทําผิดสัญญาเกี่ยวกับโครงการ Miss Universe Coin หรือ MU Coin ดังนี้
1. JKN เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ Miss Universe ทั่วโลก แต่เพียงผู้เดียว
2. JKN และ Miss Universe Organization ยังไม่ได้เกิดภาระผูกพันทางสัญญากับบริษัท ทีซีจี โซเชียล มีเดีย กรุ๊ป จํากัด ในโครงการ MU Coin แต่อย่างใด
3. มีเพียงบันทึกความเข้าใจเบื้องต้น เพื่อจะศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการนี้ ระหว่างทั้ง 2 บริษัท เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2566 ซึ่งบันทึกความเข้าใจนี้ ไม่มีผลผูกพันและไม่มีผลบังคับทางกฎหมายที่บริษัท ทีซีจี โซเชียล มีเดีย กรุ๊ป จํากัด จะนําชื่อ MU ไปใช้ได้
4. ต่อมา มีกลุ่มบุคคล ได้เปิดตัวเหรียญ MU Coin ที่ประเทศฟิลิปปินส์ โดยอ้างชื่อ Miss Universe Coin
5. JKN และ Miss Universe Organization จึงได้ประกาศผ่านสื่อมวลชน ว่า กลุ่มบริษัทที่ออกข่าวดังกล่าวไม่มีความเกี่ยวข้องกับ Miss Universe จึงมิควรนําชื่อ MU มาตั้งชื่อเหรียญเป็น MU Coin ตามที่เป็นข่าวทางสื่อออนไลน์
6. บริษัท ที ซี จี โซเชียล มีเดีย กรุ๊ป จํากัด ได้ยื่นฟ้อง JKN กับกรรมการผู้จัดการ เมื่อวันที่ 25 กันยายน 2566 ซึ่งขณะนี้ศาลยังไม่ได้ประทับรับฟ้อง คงกําหนดเรียกไต่สวนมูลฟ้องในวันที่ 18 ธันวาคม 2566
7. ต่อมา บริษัท ที ซี จี โซเชียล มีเดีย กรุ๊ป จํากัด ได้จัดแถลงข่าว เมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2566 กล่าวหาว่า JKN ผิดสัญญา (โดยข้อเท็จจริงแล้ว ยังไม่เกิดการผูกพันใดๆ ทางกฎหมาย)
อ่านเพิ่มเติม