ปี 2567 เป็นอีกปีที่ยังต้องเผชิญความท้าทายหลายด้านในการทำธุรกิจ ทั้งในระดับโลกและประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็นเศรษฐกิจที่ซบเซา ส่งผลให้กำลังซื้อหดตัว ราคาสินค้าสูงขึ้น ตลอดจนการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี และความไม่แน่นอนต่างๆ ทำให้ธุรกิจต้องปรับตัว เพื่อให้ธุรกิจอยู่รอดและเติบโตต่อไปได้ เช่นเดียวกับ “บริษัท สามารถคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)” หรือ “กลุ่มสามารถ” ที่ปีนี้มีการปรับโมเดลความร่วมมือในรูปแบบใหม่และการสร้างรายได้ระยะยาวให้สอดคล้องกับยุคสมัยมากขึ้น เพื่อให้ธุรกิจกว่า 60 ปี มีความแข็งแรงและเติบโตอย่างมั่นคงต่อไปได้
ปรับกลยุทธ์รับเศรษฐกิจชะลอ มั่นใจปีนี้กลับมา “กำไร” มากสุดในรอบหลายปี
แม้ธุรกิจของ “กลุ่มสามารถ” จะอยู่ในอุตสาหกรรมโทรคมนาคม ซึ่งน่าจะสร้างโอกาสให้ธุรกิจเติบโตรับยุคดิจิทัล แต่เมื่อโลกเทคโนโลยีเปลี่ยนผ่าน ทำให้หลายธุรกิจของกลุ่มสามารถต้องทรานส์ฟอร์มตัวเองให้สอดรับกับโลกยุคใหม่เช่นกัน ส่งผลให้ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา แม้รายได้ของกลุ่มสามารถจะเติบโตไม่ถึงหมื่นล้านบาท แต่ในทุกกลุ่มธุรกิจก็มีการเติบโตที่น่าสนใจ โดยในปี 2566 ที่ผ่านมา คาดว่ารายได้ของกลุ่มสามารถจะอยู่ที่เกือบ 9,000 ล้านบาท
สำหรับในปี 2567 คุณวัฒน์ชัย วิไลลักษณ์ รองประธานกรรมการบริหาร ฝ่ายกลยุทธ์องค์กรและพัฒนาธุรกิจใหม่ บริษัท สามารถคอร์ปอชั่น จำกัด (มหาชน) มองว่า ปีนี้เป็นปีที่ธุรกิจยังต้องเผชิญความท้าทาย ทั้งจากสถานการณ์เศรษฐกิจชะลอตัวจากภาวะสงครามและเงินเฟ้อ อีกทั้งงบประมาณภาครัฐยังตึงตัว เนื่องจากงบประมาณปี 2567 ที่ล่าช้า ทำให้เศรษฐกิจซบเซา รวมถึงการแข่งขันที่รุนแรงขึ้น ส่งผลให้ธุรกิจ SME ต้องหาสิ่งใหม่ๆ เพื่อสร้างความแตกต่าง ขณะที่ธุรกิจสตาร์ทอัพก็ไม่สามารถระดมทุนได้ง่ายเหมือนเดิม ต้องมีเอกลักษณ์และกลุ่มลูกค้าที่ชัดเจน
นั่นจึงทำให้ปีนี้กลุ่มสามารถต้องปรับกลยุทธ์ใหม่ โดยเน้นสร้างการเติบโตอย่างมั่นคงในระยะยาว ผ่านการหาแหล่งเงินทุนใหม่ๆ ทดแทนงบประมาณภาครัฐ เช่น กองทุนดิจิทัล และงบท้องถิ่น เป็นต้น รวมไปถึงปรับโมเดลความร่วมมือรูปแบบใหม่กับ Strategic Business Partner ทั้งการเช่าระยะยาวและผ่อนจ่ายเป็นรายเดือน หรือนำเสนอตาม Transaction ควบคู่ไปกับการมองหาธุรกิจใหม่ๆ ที่มีโอกาสและคู่แข่งในตลาดไม่มาก ทั้งยังสามารถสร้างรายได้ประจำอย่างต่อเนื่องมากขึ้น
“ในช่วง 1-2 ปีนี้เราจะมีโมเดลใหม่ๆ แบบนี้มากขึ้น โดยปีนี้ตั้งเป้ารายได้รวมอยู่ที่ 13,000 ล้านบาท คิดเป็นการเติบโตเพิ่มขึ้น 30% จากปี 2566 ปัจจุบันเรามียอดขายรอรับรู้รายได้ (Backlog) 40% หากไม่มีเหตุการณ์เซอร์ไพร้ส น่าจะเป็นปีที่เราทำกำไรมากสุดในรอบหลายปีที่ผ่านมา และคาดหวังจะสร้างรายได้ประจำมากขึ้นเป็น 50% ของรายได้ทั้งหมด จากปัจจุบันมีสัดส่วนอยู่ที่ 40%”
คุณวัฒน์ชัย ย้ำด้วยความมั่นใจ พร้อมกับบอกว่า รายได้ทั้ง 3 กลุ่มแบ่งเป็นกลุ่ม Digital ICT Solution 5,956 ล้านบาท กลุ่ม Utilities & Transportations 5,557 ล้านบาท และกลุ่ม Digital Communications 1,614 ล้านบาท
สามารถเทลคอม หัวหอกสร้างรายได้หลัก
เมื่อมาดูในแต่ละกลุ่มธุรกิจ จะพบว่า กลุ่มสามารถ เทลคอม (SAMTEL) ยังคงเป็นธุรกิจที่สร้างรายได้หลักแก่กลุ่มสามารถ โดยในปีที่ผ่านมา สามารถ เทลคอมได้เซ็นสัญญาโครงการใหม่ มูลค่ารวมกว่า 2,300 ล้านบาท ส่งผลให้มีมูลค่างานในมือปัจจุบัน รวมประมาณ 4,500 ล้านบาท โดยในปี 2567 บริษัทมีแผนเข้าร่วมประมูลโครงการใหม่มูลค่ากว่า 1 หมื่นล้านบาท และตั้งเป้ารายได้ 6,000 ล้านบาท เติบโต 30 เปอร์เซ็นต์
โดยในปีนี้ กลุ่มสามารถ เทลคอม จะเน้นนำโซลูชั่น และเทคโนโลยีทันสมัยมาช่วยยกระดับการดำเนินการในหน่วยงานลูกค้าทั้งภาครัฐ และเอกชน ตอบรับกระแส Digital Transformation ที่องค์กรทุกภาคส่วนกำลังให้ความสำคัญ พร้อมกับต่อยอดโซลูชันเดิมให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ไม่ว่าจะเป็นดิจิทัลโซลูชันด้านการเงิน การธนาคาร (Digital Banking Solutions) โซลูชันบริหารจัดการองค์กร (Organizational Management Solutions) เช่น ERP (Enterprise Resource Planning), EAM (Enterprise Asset Management), HCM (Human Capital management) หรือ CRM (Customer Relation Management) เป็นต้น ตลอดจนนำ AI มาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพอุปกรณ์ เพื่อสนับสนุนการทำงานของหน่วยงานภาครัฐ เช่น Smart CCTV ด้วย รวมถึงนำเสนอโซลูชันที่ตอบโจทย์สังคมและสิ่งแวดล้อมอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นเทคโนโลยีพลังงานสะอาดอย่าง Solar Energy โซลูชันเฝ้าระวังมลพิษจากภาคอุตสาหกรรม หรือ ระบบบริหารจัดการพลังงาน เพื่อความยั่งยืนของสังคม สิ่งแวดล้อม และความมั่นคงของประเทศชาติอีกด้วย
สร้างรายได้ประจำต่อเนื่อง
ส่วนสายธุรกิจ Utilities & Transportations (U-trans) เป็นกลุ่มธุรกิจที่สร้างรายได้ประจำให้กับกลุ่มสามารถ โดยปีที่ผ่านมามีรายได้ 4,500 ล้านบาท ในปีนี้ตั้งเป้ารายได้ที่ 5,500 ล้านบาท เติบโตขึ้น 23% จากโอกาสทางธุรกิจหลายด้าน โดยเฉพาะจาก บมจ.สามารถ เอวิเอชั่น โซลูชั่น ผู้ให้บริการควบคุมการจราจรทางอากาศในประเทศกัมพูชาภายใต้ CATS คาดว่ารายได้จะเติบโตกว่า 30% จากการเติบโตทางเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวในระดับภูมิภาค ประกอบกับรัฐบาลกัมพูชามีนโยบายสนับสนุนภาคธุรกิจและการท่องเที่ยวอย่างจริงจัง ด้วยการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและการยกระดับสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ล่าสุดมีการเปิดให้บริการสนามบินนานาชาติเสียมราฐอังกอร์แห่งใหม่ ซึ่งมีศักยภาพในการรองรับนักท่องเที่ยวได้สูงสุดถึง 7 ล้านคน และภายในปีนี้จะมีการเปิดสนามบินนานาชาติดาราสาครอีกด้วย นอกจากนี้ บริษัทยังเห็นโอกาสในการขยายธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการบริหารสนามบินและวิทยุการบินในระดับภูมิภาคด้วย
ด้านธุรกิจ Power Construction & Services ดำเนินธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับสถานีและสายส่งไฟฟ้าแรงสูง โดยบริษัทเทด้าและทรานเส็ค ปัจจุบันมีงานในมือรวม 4,000 ล้านบาท และมีแผนที่จะเข้าประมูลในปีนี้อีกกว่า 3,500 ล้านบาท โครงการ Direct Coding ตั้งเป้ารายได้ 981 ล้านบาท เติบโตขึ้น 10% จากการเปิดโรงงานเบียร์แห่งใหม่และการขยายกำลังการผลิตของโรงงานเดิม เพื่อรองรับปริมาณการบริโภคที่มีแนวโน้มสูงขึ้นจากนโยบาย Free VISA และการขยายเวลาเปิดปิดสถานบันเทิง ยิ่งไปกว่านั้น บริษัทยังมีแผนที่จะขยายฐานธุรกิจบริการระบบพิมพ์รหัสควบคุมบนบรรจุภัณฑ์ หรือ Direct Coding ไปสู่การจัดเก็บภาษีสินค้าอื่นๆ อาทิ ยา และ น้ำมันที่ใช้ภายในประเทศอีกด้วย
ธุรกิจน้องเล็ก แต่เติบโตสูง
ขณะที่สายธุรกิจ Digital Communications ในปีที่ผ่านมาธุรกิจ Digital Trunk Radio ที่เติบโตอย่างชัดเจน มีการรับรู้รายได้จากการจำหน่ายเครื่องวิทยุลูกข่ายและค่าใช้บริการ Air Time เพิ่มขึ้น 300% ในปี 2567 บริษัทมีแผนการขยายฐานผู้ใช้บริการให้กว้างขวางและครอบคลุมหน่วยงานผู้ให้บริการประชาชน ทั้งภาครัฐและเอกชน โดยตั้งเป้าจำนวนผู้ใช้บริการไม่ต่ำกว่า 120,000 ราย
ด้านธุรกิจสายมูซึ่งเป็นตลาดที่มีโอกาสเติบโตสูง บริษัท Lucky Heng Heng ในฐานะน้องใหม่ของกลุ่มสามารถ ตั้งเป้าเป็นผู้นำในธุรกิจ Mutech ทั้งในและต่างประเทศ ด้วยบริการครบวงจร 4 รูปแบบ คือ ดูดวง online ภายใต้ Horoworld ผ่าน Application และ Website ที่เป็นศูนย์รวมนักพยากรณ์ในศาสตร์ต่างๆ มากที่สุดกว่า 200 ท่าน พร้อมให้บริการ 24 ชม. ทำบุญ online ภายใต้ Thai Merit ปัจจุบันเป็น Platform การทำบุญสำหรับวัดต่างๆ เช่น วัดเล่งเน่ยยี่ พุทธคยาที่ประเทศอินเดีย และอีกกว่า 100 วัดชื่อดังในประเทศไทย ที่สายบุญสามารถทำบุญออนไลน์ได้อย่างสะดวกและมั่นใจ บริการ Mu Commerce จำหน่ายสินค้าของวัตถุมงคลต่างๆ และ Muketing หรือ Marketing Agency สายมูให้กับลูกค้าองค์กรต่างๆ ในกลุ่มธนาคาร ผู้ให้บริการเครือข่ายมือถือ และธุรกิจค้าปลีกต่างๆ โดยปีนี้บริษัทตั้งเป้าขยายบริการสู่กลุ่มอื่นๆ และมีการเปิดตัวธุรกิจใหม่ของบริษัทในเครืออย่าง Samart Digital Media และ ISPORT ด้วย