เป็นอีกหนึ่งตลาดที่กำลังได้รับความนิยมและเริ่มแข่งขันดันดุเดือดมากขึ้น จากความนิยมของผู้บริโภค ผู้เล่นที่มีมากขึ้น ประกอบกับพฤติกรรมของลูกค้าชาวไทยที่ชื่นชอบรับประทานไอศกรีมในรูปแบบต่างๆ จนทำให้ทำตลาดไอศกรีมขยายตัวเป็นอย่างมากตลอดช่วงที่ผ่านมา
เป็นรู้กันดีว่าในตลาดเมืองไทย “แดรี่ควีน” (Dairy Queen) ครองความเป็นผู้นำตลาดในไอศกรีมแบบซอฟท์เสิร์ฟมานานกว่า 28 ปี โดยปัจจุบันครองส่วนแบ่งการตลาดราว 30-40% จากมูลค่าตลาดรวมไอศกรีมเมืองไทยที่ 2.5 หมื่นล้านบาท แบ่งเป็น ตลาดแพ็กเกจ ที่ขายในช่องทางรีเทล ร้านค้า โมเดิร์นเทรดทั่วไป ราว 15,000 ล้านบาท และ ตลาดอันแพ็กเกจ ที่ซื้อและรับประทานภายในร้าน เช่น Swensen’s, Dairy Queen ,Clod Stone มูลค่า 10,000 ล้านบาท
เมื่อดูภาพรวมในอุตสาหกรรมแล้วจะพบว่าในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ตลาดเริ่มมีการแข่งขันกันมากขึ้น โดยเฉพาะในตลาดอันแพ็กเกจ ที่เร่ิมมีผู้เล่นมากขึ้นโดยเฉพาะยักษ์ใหญ่จากจีน มี่เสวี่ย (Mixue) ที่เติบโตอย่างรวดเร็วทำให้หลายคนมองว่าจะมีผลอะไรกับผู้นำรายเดิมหรือไม่ จำป็นต้องปรับกลยุทธ์หรือรับมืออย่างไร
การเข้ามาของผู้เล่นหน้าในครั้งนี้ “คุณธนกฤต กิตติพนาชนม์” ผู้จัดการทั่วไป บริษัท ไมเนอร์ ดีคิว จำกัด บริษัทในเครือ ไมเนอร์ กรุ๊ป กล่าวว่า เนื่องจากเป็นการเจาะคนละตลาดอยู่แล้ว โดยในส่วนของแดรี่ควีนจะเน้นเจาะกลุ่มลูกค้าที่แตกต่างกันออกไป ซึ่งแน่นอนเรามั่นใจในคุณภาพของเราอยู่แล้ว
“การเข้ามาของไอศกรีมแบรนด์ใหญ่ในช่วงที่ผ่านมา เรามองว่าไม่เป็นการแข่งขันกันโดยตรง เพราะสินค้าและโพซิชั่นของแบรนด์แตกต่างกันอยู่แล้ว แน่นอนอาจจะมีสินค้าบางอย่างที่คล้ายกันเช่น โคน แต่ก็ไม่ใช่สินค้าหลักที่เราทำตลาด ”
แม้จะไม่กระทบต่อยอดขายจากจำนวนผู้เล่นที่เพิ่มมากขึ้น แต่ด้วยพฤติกรรมลูกค้าที่เปลี่ยนแปลงไป กอปรกับเป้าหมายที่ต้องการขยายตลาดให้มากขึ้น จึงนั่นทำให้ แดรี่ควีน (Dairy Queen) งัดไม้ต่ายแห่งความสำเร็จออกมาปูพรมตลาดอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่การเปิดตัวสินค้าใหม่ Limited Time Offer (LTO การออกโปรโมชันส่งเสริมการขายเพิ่มมากขึ้น โดยมีเป้าหมายระยะยาว 1,000 สาขาใน 5 ปี (2024-2028)
“ปัจจุบันแดรี่ควีนส์ประเทศไทยใหญ่เป็นอันดับ 2 รองจากจีนในแง่ของศักภาพการเติบโต แม้ไทยจะมีสาขาเพียง 520 สาขา เมื่อเทียบกับจีนที่มีมากกว่า 1,500 สาขา แต่ในแง่ศักยภาพและแนวโน้มการเติบโตถือว่าเราเป็นประเทศที่มีอัตราเติบโตสูงมาก”
เรียกว่าขายดีจน มีการก่อตั้ง Base Office ในไทย เพื่อใช้เป็นฐานการผลิตและพัฒนาสินค้าเพื่อกระจายไปในภูมิภาคอาเซียนเป็นที่เรียบร้อย
ต่อยอดอินไซต์สู่ความสำเร็จของยอดขายที่ต้องคิดล่วงหน้ามากกว่า 1 ปี
โดยปี 2023 ที่ผ่านมามีสินค้าที่ฮิตเกินเป้าหลายรายการ ได้แก่ เมนูบลิซซาร์ดข้าวเหนียวมะม่วงน้ำกะทิ รสชาติเข้มข้นสร้างการจดจำ เมนูบลิซซาร์ดโอวันตินภูเขาไฟ (ซึ่งเป็นสินค้าที่ขายดีที่สุด 1 ล้านถ้วยใน 1 เดือน เกินเป้า 200% จนขาดตลาดไปนาน 3-4 วัน) ข้าวหลามจักรพรรดิ์ บราวนี่กรอบ ที่ได้รับกระแสตอบรับแบบถล่มทลายจนสามารถทำยอดขายนิวไฮ นำไปสู่กระแสเรียกร้องจากผู้บริโภคให้นำกลับมาวางจำหน่ายอีกครั้ง และรสชาติสุดท้ายส่งท้ายปี 2023 เมนูบลิซซาร์ดปังกรอบชาไทย
ความสำเร็จทั้งหมดทำให้ภาพรวมมีการเติบโตอยู่ที่ 70% เมื่อเทียบกับปี 2564 ที่ฟื้นจากวิกฤตการระบาดของโควิด-19 ซึ่งเป็นการเติบโตเกินกว่าเป้าหมายที่วางไว้ และทำให้ยอดขายเฉลี่ยเติบโตในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา (2021-2023) อยู่ที่ 30% มาต่อเนื่องทุกปี
เมื่อถอดกลยุทธ์ความสำเร็จคือการศึกษาอินไซต์ความชื่นชอบของลูกค้า โดยสินค้าของแดรี่ควีนใช้เวลา 1 ปี 6 เดือนในการพัฒนา และ 6 เดือนกับการยื่นขอบริษัทแม่ในการวางจำหน่าย นั่นทำให้แดรี่ควีนจะมีสินค้าใหม่ ออกมา 7 รายการต่อปี จากข้อจำกัดด้านเวลา และต้องทำงานล่วงหน้าอย่างน้อย 1 ปีเสมอ ขณะที่ความหลากหลายของผลิตภัณฑ์และระดับราคาที่มีตั้งแต่ 12 – 499 บาท ทำให้แดรี่ควีนมีโอกาสทางการตลาดที่จะต่อยอดผลิตภัณฑ์อยู่มาก
“เราไม่ต้องเป็นลีดเดอร์ทุกเรื่อง แต่เราจะต้องเร็วพอที่จะตามเทรนด์ให้ทัน ซึ่งแน่นอนการพัฒนาเมนูใหม่ออกมาจะต้องประสบความสำเร็จ เพราะเราเป็นองค์กรใหญ่ ซึ่งมีแฟรนไชน์เข้ามาเกี่ยวข้องและเขาเหล่านั้นต้องได้กำไรด้วย ดังนั้นเมนูในแต่ละซีซันนอลของเราจะต้องประสบความสำเร็จให้ได้ เพราะเรามีการเรียนรู้จากอินไซต์ผู้บริโภคตลอดเวลา”
กางแผนปี 2024 เปิดเพิ่ม 40 สาขา รีโนเวตอีก 80 สาขา ย้ำผู้นำตลาดต่อเนื่อง
ขณะที่แผนงานในปี 2567 นี้ “แดรี่ควีน” จะเน้นการทำตลาดภายใต้คอนเซ็ปต์ the PlayGround For Sweet Pause โดยจะโฟกัสการเติบโตไปยังสินค้าในกลุ่มเครื่องดื่มมากขึ้น นอกจากรสชาติใหม่ ยังจะมีการสื่อสารผ่านเฟซบุ๊ก เพื่อสร้างเอ็นเกตเมนต์ “สินค้าดี ลูกค้าพูดต่อ” ขณะที่ในส่วนของพนักงานก็จะเน้นกการทำหน้าร้านโชว์ลูกค้า เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือ เช่นการทำเค้กและถ่ายวีดีโอ ส่งให้ลูกค้าในการสร้างความน่าเชื่อถือและมีคุณภาพมากขึ้น
ส่วนในแง่ของการขยายสาขาปีนี้ แดรี่ควีนจะขยายเพิ่ม 40 สาขา แบ่งเป็นสาขาที่ 50% และ แฟรนไชส์ 50% แฟรนไชส์ ในพื้นที่นอกศูนย์การค้ามากขึ้น ไม่ว่าจะเป็น โรงพยาบาล แหล่งชุมชน และมหาวิทยาลัยเป็นต้น ควบคู่กับการรีโนเวตสาขาเดิม 80 สาขา เพื่อเป็นการรีเฟรซแบรนด์ให้ดูสดใหม่ ทันสมัย รองรับการแข่งขันในธุรกิจที่มีมากขึ้น โดยปัจจุบันแดรี่ควีนมีสาขาทั้งหมด 520 สาขา แฟรนไชส์ 290 สาขา แดรี่ควีนลงทุนเอง 230 สาขา
“DQ Lounge” โมเดลใหม่ครั้งแรกที่ เซ็นทรัลเวสต์เกต มีทั้งที่นั่ง-เบเกอรี่-เครื่องดื่ม
ที่น่าสนใจคือการขยายโมเดลใหม่เป็นครั้งแรกในรูปแบบ “DQ Lounge” ซึ่งเป็นการต่อยอดจากรูปแบบคีออสในทำเลที่มีศักยภาพ โดย เลานจ์คอนเซ็ปต์ จะเป็นสาขาที่ 2 ของทำเลนั้นๆเสมอ เนื่องจากการขยายโมเดลดังกล่าวจะมีการวัดยอดขายจากสาขารูปแบบคีออส (ถือเป็นสาขานำร่อง) หากประสบความสำเร็จ และมีพื้นที่ก็จะขยาย DQ Lounge เข้าไปเพิ่มเติม
สำหรับ “DQ Lounge”สาขาแรกตั้งอยู่ที่เซ็นทรัลเวสต์เกต พื้นที่ 50% จะเป็นพื้นที่ให้ลูกค้านั่งพักผ่อนหย่อนใจ 20-30 ที่นั่ง ภายในตกแต่งในรูปแบบเลานจ์ให้ความรู้สึกสบายไม่เร่งรีบเหมือนโมเดลคีออส ที่เป็นรูปแบบ แกร็บ แอนด์ โก นอกจากนี้ยังมีเมนใหม่ๆภายในร้านกับกลุ่ม เบเกอรี่คอนเซ็ปต์ ได้แก่ ขนมปังบริยอช เบเกอรี่ ครัวซองค์ โทสต์ เป็นต้น
“ที่ผ่านมา เราเน้นขยายสาขาในรูปแบบคีออส 19-25 ตร.ม. และน้อยมากที่มีพื้นที่มากกว่า 40 ตร.ม. การเปิดคีออสเป็นการทดลองการขายก่อนจะขยายพื้นที่ในอนาคต ซึ่งการมาของเลานจ์คอนเซ็ปต์คือโมเดลใหม่รองรับการนั่งรับประทานแบบสบายๆภายในร้าน”
ทั้งนี้ได้วางแผนให้ DQ Lounge ให้มีครบทุกจังหวัดทั่วประเทศไทย หรือ 1จังหวัด 1 สาขา โดยในปีนี้จะเพิ่มอีก 10 สาขา แบ่งเป็นสาขาที่เปิดเอง 8 สาขา และแฟรนไชส์ 2 สาขา อยู่ในกรุงเทพฯ และปริมณฑลเป็นหลัก โดยสาขาลำดับที่ 2 จะอยู่ที่ ZPELL (สเปลล์) รังสิต
ลุย EV Truck ร้านแดรี่ควีนเคลื่อนที่ด้วยรถไฟฟ้าคันแรกของโลก
นอกจากนี้ยังอีกมีโมเดลใหม่ที่แดรี่ควีนจะทำเพื่อสร้างการเข้าถึงลูกค้า นั่นคือการเปิดตัวรถ EV Truck ร้านแดรี่ควีนเคลื่อนที่ ซึ่งถือเป็น EV Truck ขายไอศกรีมคันแรกของโลก และของไทยมี (ปกติที่รถ EV Truck เป็นรถดีเซล)โดยปัจจุบันมีอยู่ 1 คัน ซึ่งจะสร้างโอกาสทางการขายในงานคอนเสิร์ต หรืออิเวนต์ต่างๆ อีกทั้งยังเป็นการช่วยพาร์ทเนอร์หรือผู้ซื้อแฟรนไชส์ในการโปรโมทร้าน ก่อนที่ในอนาคตจะพัฒนาเรื่องแพ็กเกตจิ้งรักษ์โลกต่อไป
โดยปีนี้ตั้งเป้าขยายเพิ่มอีก 5 คัน โดยทางจะเป็นการลงทุนเองของแบรนด์ทั้งหมด ก่อนที่ในอนาคตจะวางแผน ขายแฟรนไชส์ต่อไป เบื้องต้นจะเป็นรูปแบบของการวิ่งอยู่ในเขตของตัวเอง ในจังหวัดนั้นๆ เพียงอย่างเดียว (ห้ามข้ามจังหวัด) อย่างไรก็ตามแม้ต้นทุน EV Truck จะแพงกว่า 20% เมื่อเฉลี่ยการลงทุนเท่ากันกับการเปิด 1 สาขา
ท้ายที่สุดปีนี้ แดรี่ควีน มองว่าจะสามารถสร้างการเติบได้ทั้งสิ้น 30% ซึ่งถือว่าเป็นตัวเลขที่น่าพอใจ และจากกลยุทธ์ทั้งหมดจะทำให้แบรนด์สามารถครองแชมป์ในตลาดได้อย่างต่อเนื่อง แม้จะมีผู้เล่นหน้าใหม่เข้ามา
ติดตามพวกเราได้ที่ LINE