Priceza เปิดบทวิเคราะห์ Thailand E-Commerce Landscape 2024 พบสมรภูมิอีคอมเมิร์ซไทยในปี 2024 มีการต่อยอดใช้ Gen AI เพื่อช่วยแบรนด์สร้างยอดขายแบบ Personalization ขณะที่แบรนด์พยายาม “ยืนบนขาตัวเอง” มากขึ้น ด้วยการพัฒนาแอปพลิเคชันสู่การเป็น Super App ที่ครอบคลุมทุกบริการทุกอย่างเข้าไว้ด้วยกัน โดยไม่ต้องออกไปใช้บริการแอปพลิเคชันอื่น ๆ เพิ่มเติม
คาดปี 2023 อีคอมเมิร์ซไทยแตะ 9.32 แสนล้าน
ข้อมูลจาก Priceza Insights ในรายงาน Thailand E-Commerce Landscape 2024 ยังระบุว่า ภาพรวมมูลค่าตลาดอีคอมเมิร์ซประเทศไทยในปี 2023 คาดการณ์ว่าจะไปแตะอยู่ที่ 932,000 ล้านบาท เติบโตประมาณ 14% เมื่อเทียบกับปี 2022 (มูลค่าปี 2022 อยู่ที่ 818,000 ล้านบาท) ซึ่งทาง Priceza ประเมินว่า ประเทศไทยได้เข้าสู่การซื้อขายออนไลน์อย่างเต็มรูปแบบ โดยปัจจุบันคนไทยมากกว่าครึ่งเคยซื้อสินค้า/บริการผ่าน E-Commerce แล้ว
ส่วนความท้าทายในปี 2024 ก็คือการหันมาพึ่งพาตัวเองมากขึ้นของบรรดาผู้ประกอบการค้าปลีกแทนการพึ่งพาแพลตฟอร์ม E-Marketplace เป็นหลัก โดยสิ่งที่พบก็คือ แบรนด์ค้าปลีกต่าง ๆ เริ่มมีการเก็บ First party data เป็นของตัวเองมากขึ้น ซึ่งข้อมูลดังกล่าวสามารถนำไปต่อยอดกับการใช้ Gen AI เพื่อสร้างประสบการณ์แบบ Personalization ได้ รวมถึงการพัฒนาแอปพลิเคชันของตัวเอง สู่การเป็น Super App ที่ครอบคลุมทุกบริการทุกอย่างเข้าไว้ด้วยกัน
เปิด 4 สมรภูมิอีคอมเมิร์ซ
ในรายงานชิ้นนี้ ยังได้แบ่งกลุ่มผู้ให้บริการในสมรภูมิอีคอมเมิร์ซออกเป็น 4 หมวด ได้แก่ กลุ่ม Marketplace & Supporting กลุ่ม E-Commerce Channels กลุ่ม Payment และกลุ่ม Delivery โดยแต่ละกลุ่มมีโฉมหน้าผู้ให้บริการ ดังนี้
กลุ่ม Marketplace & Supporting
กลุ่ม E-Commerce Channels
กลุ่ม Payment
กลุ่ม Delivery
หนุน “ปรับโครงสร้างภาษี” ช่วย SME ไทย
สำหรับปี 2024 สมรภูมิการแข่งขันอีคอมเมิร์ซ มีแนวโน้มดุเดือดยิ่งขึ้น โดยรายงานเศรษฐกิจดิจิทัลเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ฉบับที่ 8 (e-Conomy SEA 2023 Report) จัดทำโดย Google, Temasek และ Bain & Company ฉายภาพมูลค่าอีคอมเมิร์ซ ประเทศไทยปี 2023 อยู่ที่ 22,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (อัตราการเติบโต 10% เทียบกับปีก่อน คาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 30,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ในปี 2025 และคาดการณ์ว่าปี 2030 จะแตะ 60,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ
อย่างไรก็ดี ในการเติบโตนี้ ก็มีความท้าทายที่ผู้เล่นไทยในตลาดอีคอมเมิร์ซต้องเผชิญอยู่ไม่น้อยเช่นกัน โดยรายงานดังกล่าวชี้ว่า มีหลายประเด็น ได้แก่
- ปัจจัยเรื่องราคา และพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงของผู้บริโภคยุคดิจิทัล
- สินค้าจีนที่ทะลักเข้ามาผ่านแพลตฟอร์ม E-Marketplace
- การใช้ประโยชน์จาก Free Trade Zone เพื่อขายสินค้าในประเทศ
- การลักลอบนำเข้าสินค้าผ่านด่านศุลกากรโดยการสำแดงข้อมูลเท็จเพื่อหลีกเลี่ยงภาษี ซึ่งทำให้สินค้าราคาถูกลง
ทั้งนี้ พบว่า ปัจจัยที่กล่าวมาส่งผลต่อผู้ประกอบการไทยโดยเฉพาะ SMEs ที่ไม่สามารถแข่งขันด้านต้นทุนได้ ซึ่งทำให้ภาครัฐเองก็เริ่มตระหนักและหันมาทบทวนนโยบายการเรียกเก็บภาษีที่เหลื่อมล้ำเพื่อส่งเสริมและเพิ่มโอกาสให้ผู้ประกอบการไทยได้เติบโตได้และไม่ได้รับผลกระทบจากการนำเข้าจากสินนค้าประเทศจีนและมีการแข่งอย่างเสรีและเป็นธรรม โดยรายงานดังกล่าวชี้ว่า มีแนวโน้มจะได้เห็นการปรับโครงสร้างภาษีภายในปีนี้