บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) หรือ CPALL สรุปผลการดำเนินงาน ปี 2566 มีรายได้รวม 921,187 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 8% มีกำไรสุทธิ 18,482 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 39.3%
รายได้ CPALL ปี 2566 เพิ่มขึ้นจากกลยุทธ์ด้านสินค้าและบริการ รวมถึงกลยุทธ์ O2O ของแต่ละธุรกิจ ตามพฤติกรรมของผู้บริโภคที่ปรับเปลี่ยนในยุคออนไลน์
โดยทุกกลุ่มธุรกิจปรับตัวดีขึ้น ตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและการบริโภคภายในประเทศเป็นหลัก รวมถึงนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาเพิ่มขึ้น
รายได้ CPALL มาจาก 3 ธุรกิจหลัก 1. ร้านสะดวกซื้อ 7-Eleven สัดส่วน 44% 2. ธุรกิจค้าส่งค้าปลีกสินค้าอุปโภคบริโภค (แม็คโครและโลตัส) 50% และ 3. ธุรกิจอื่นๆ ในประเทศไทย 6%
CPALL โชว์กำไรสุทธิ 18,482 ล้านบาท
ปี 2566 CPALL มีกำไรขั้นต้นจากการขายและบริการ 196,271 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 10.3% จากธุรกิจร้านสะดวกซื้อ เพิ่มขึ้น 21.9% ธุรกิจค้าส่งค้าปลีกสินค้าอุปโภคบริโภค เพิ่มขึ้น 21.5%
ส่วนต้นทุนในการจัดจำหน่ายและค่าใช้จ่ายในการบริหารอยู่ที่ 179,912 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 8.8% จากปีก่อน สาเหตุหลักมาจากการปรับเพิ่มขึ้นของค่าไฟ เงินเดือนและสวัสดิการ จากการปรับค่าแรงขั้นต่ำ และค่าบริหารร้านสาขา
ปี 2566 CPALL มีกำไรก่อนค่าใช้จ่ายภาษีเงินได้ 26,454 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 31.7% จากปีก่อน และมีกำไรสุทธิ 18,482 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 39.3% จากปีก่อน จากธุรกิจร้านสะดวกซื้อ รวมทั้งธุรกิจโลตัส ปรับตัวดีขึ้น
ร้านเซเว่นฯ รายได้ 4 แสนล้าน
– ในปี 2566 ธุรกิจร้านสะดวกซื้อ 7-Eleven มีรายได้จากการขายสินค้าและการให้บริการรวม 399,558 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 44,585 ล้านบาท หรือ 12.6%
– มีกำไรขั้นต้น 112,792 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 15,634 ล้านบาท หรือ 16.1% โดยมีสัดส่วนกำไรขั้นต้น 28.2%
– ต้นทุนจัดจำหน่ายและค่าใช้จ่ายในการบริหารจำนวน 115,846 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 12,534 ล้านบาท หรือ 12.1% สาเหตุหลักมาจากเงินเดือนและสวัสดิการพนักงาน ค่าไฟ ค่าบริหารร้านสาขา และค่าโฆษณาและโปรโมชัน
– สรุป ปี 2566 ธุรกิจร้านสะดวกซื้อ มีกำไรสุทธิ 15,403 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 35.1% จากปีก่อน
– ยอดขายเฉลี่ยของร้านเดิมในปี 2566 เพิ่มขึ้น 5.5% โดยมียอดขายเฉลี่ยต่อร้านต่อวัน 80,837 บาท มียอดซื้อต่อบิลโดยประมาณ 83 บาท จำนวนลูกค้าต่อสาขาต่อวันเฉลี่ย 965 คน
– ในปี 2566 ธุรกิจร้านค้าสะดวกซื้อ ขยายสาขาใหม่ร้าน 7-Eleven ทั้งร้านบริษัทเอง ร้าน SBP และร้านค้าที่ได้รับสิทธิช่วงอาณาเขต รวม 707 สาขา เป็นไปตามเป้าหมาย
– ณ สิ้นปี 2566 มีร้าน 7-Eleven ทั่วประเทศรวม 14,545 สาขา แบ่งเป็นร้านบริษัท 7,336 สาขา (คิดเป็น 50%) เพิ่มขึ้น 497 สาขา ร้านSBP 6,335 สาขา (คิดเป็น 44%) เพิ่มขึ้น 191 สาขา และร้านค้าที่ได้รับสิทธิช่วงอาณาเขต 874 สาขา (คิดเป็น 6%) เพิ่มขึ้น 19 สาขา
– สัดส่วนของรายได้จากการขาย ในร้าน 7-Eleven 75.2% มาจากสินค้าอาหารและเครื่องดื่ม เพิ่มขึ้นจากการออกสินค้าใหม่และโปรโมชัน ทำให้ร้าน 7-Eleven เป็นจุดหมายปลายทางที่ 1 ในใจลูกค้าเมื่อนึกถึงอาหารและเครื่องดื่ม และ 24.8% มาจากสินค้าอุปโภค
– เพิ่มช่องทางขายผ่านตู้จำหน่ายสินค้าอัตโนมัติ (Vending Machine) รวมไปถึงแพลตฟอร์มบนช่องทางออนไลน์ ได้แก่ 7Delivery ที่เป็นการให้บริการสั่งและส่งสินค้าตามความต้องการ (On-demand Delivery) และ All Online ห้างใกล้บ้าน เพิ่มทางเลือกให้บริการสั่งและส่งสินค้าถึงปลายทางตามที่ลูกค้าเลือกหรือรับสินค้าที่ร้านสาขา กลยุทธ์ดังกล่าวได้รับการตอบรับดีอย่างต่อเนื่องจากลูกค้าเดิมและลูกค้าใหม่
– ธุรกิจร้านสะดวกซื้อ 7-Eleven ในต่างประเทศ ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2566 มีสาขาในประเทศกัมพูชา 82 สาขา และมีสาขาในสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว 3 สาขา
– ปี 2567 CPALL วางแผนลงทุนเปิดร้าน 7-Eleven สาขาใหม่ในประเทศไทยอีกประมาณ 700 สาขา รวมทั้งเปิดสาขาเพิ่มในกัมพูชาและสปป.ลาว
– คาดว่าจะใช้งบลงทุนประมาณ 12,000 –13,000 ล้านบาท แบ่งเป็นการเปิดร้านสาขาใหม่ 3,800 – 4,000 ล้านบาท การปรับปรุงร้านเดิม 2,900 – 3,500 ล้านบาท โครงการใหม่และศูนย์กระจายสินค้า 4,000 – 4,100 ล้านบาท สินทรัพย์ถาวรและระบบสารสนเทศ 1,300 – 1,400 ล้านบาท
ติดตามพวกเราได้ที่ LINE
อ่านเพิ่มเติม