การจะบริหารธุรกิจให้ประสบความสำเร็จในยุคที่เต็มไปด้วยความไม่แน่นอน แถม Landscape ของธุรกิจยังเปลี่ยนไปจากเดิม นอกจากการมีผลิตภัณฑ์คุณภาพ รวมถึงการตลาดที่เข้าใจอินไซต์ของลูกค้าแล้ว อีกหนึ่งกลยุทธ์ที่สำคัญไม่แพ้กันคือ “โมเดลธุรกิจความยั่งยืน” (Sustainability) เพราะสามารถจะสร้างการเติบโตที่ดีให้ธุรกิจ ไปพร้อมกับการดูแลสังคม สิ่งแวดล้อมได้อย่างสมดุล
หนึ่งในองค์กรธุรกิจนำโมเดลธุรกิจเพื่อความยั่งยืนมาขับเคลื่อนธุรกิจอย่างชัดเจนและน่าสนใจคือ “บริษัท อายิโนะโมะโต๊ะ (ประเทศไทย) จำกัด” (Ajinomoto) โดยได้กำหนดวิสัยทัศน์มุ่งสู่การเป็นบริษัทที่สร้างความอยู่ดีมีสุขให้สังคมไทยอย่างยั่งยืน รวมถึงมี Road Map ในการทำงานอย่างชัดเจนมาตลอด จนเห็นผลเป็นรูปธรรม เพื่อให้เข้าใจและเห็นภาพมากขึ้น Brand Buffet ชวนทุกคนมาเรียนรู้โมเดลธุรกิจเพื่อความยั่งยืนของอายิโนะโมะโต๊ะผ่านโรงงานกำแพงเพชร ซึ่งเป็นต้นแบบโรงงานสีเขียวของกลุ่มบริษัทฯ และแผนการขับเคลื่อนธุรกิจที่ตั้งเป้าลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมให้ได้ 50% ภายในปี 2030
สร้างการเติบโตคู่สังคมและสิ่งแวดล้อม
อายิโนะโมะโต๊ะ เป็นแบรนด์ที่อยู่คู่คนไทยมายาวนานกว่า 63 ปี โดยเข้ามาก่อตั้งสำนักงานในไทยและเริ่มก่อสร้างโรงงานแห่งแรกที่ จ.สมุทรปราการ เมื่อปี 2503 ผลิตภัณฑ์แรกที่ทำตลาดคือ ผงชูรส จากนั้นได้ขยายผลิตภัณฑ์หลากหลาย เพื่อสร้างการเติบโตให้ธุรกิจอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นเครื่องปรุงรสและอาหาร เครื่องดื่ม ผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ และปุ๋ย ทั้งยังก่อสร้างโรงงานเพิ่มเป็น 10 แห่ง
ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา นอกจากการพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้มีคุณภาพผ่านการใช้ศาสตร์แห่งกรดอะมิโนแล้ว ยังให้ความสำคัญกับการสร้างคุณค่าร่วมกับสังคม และสิ่งแวดล้อม (Ajinomoto Creating Share Value : ASV) มาอย่างต่อเนื่อง เพราะอายิโนะโมะโต๊ะตระหนักถึงปัญหาสิ่งแวดล้อมที่รุนแรงขึ้น อีกทั้งบริษัทก็เป็นหนึ่งในธุรกิจที่มีความเกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อม เนื่องจากมีการนำผลผลิตทางการเกษตร เช่น มันสำปะหลัง และอ้อย มาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ จึงต้องการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมให้ได้มากที่สุดเช่นกัน กระทั่งในปี 2563 มร. เค็นจิ ฮะระดะ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท อายิโนะโมะโต๊ะ (ประเทศไทย) จำกัด บอกว่า บริษัทจึงวางจุดยืนใหม่สู่การเป็นบริษัทที่สร้างความอยู่ดีมีสุขให้สังคมไทย และตั้งเป้าลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมลง 50% ในปี 2573
ขับเคลื่อนความยั่งยืนผ่านกลยุทธ์ 3 ด้าน
เมื่อวางเป้าหมายชัดเจนแล้ว อายิโนะโมะโต๊ะจึงวางแผนและลงมือทำอย่างจริงจังตลอดกระบวนการ ผ่านการดำเนินงานใน 3 ด้าน ได้แก่ การสร้างสังคมสุขภาพดี การใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า และการสร้างความยั่งยืนของโลก โดยแนวทางการสร้างสังคมสุขภาพดีของอายิโนะโมะโต๊ะนั้น จะมุ่งใช้จุดแข็งของบริษัทในเรื่อง “กรดอะมิโน” มาพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อแก้ปัญหาด้านโภชนาการและเสริมสร้างสุขภาพดีให้กับผู้คน เช่น อะมิโนไวทัล และ อะมิโนมอฟ
ส่วน การส่งเสริมการใช้ทรัพยากรอย่างยั่งยืน อายิโนะโมะโต๊ะได้นำหลัก 3Rs (Reduce, Reuse, Recycle) มาใช้ในการจัดการโรงงานในทุกกระบวนการตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำอย่างคุ้มค่า ไม่ว่าจะเป็นการปรับปรุงกระบวนการผลิตให้ใช้ไฟฟ้าลดลง ด้วยการปรับเปลี่ยนอุปกรณ์ไฟฟ้า พัฒนาเครื่องจักรสมัยใหม่ รวมถึงการใช้พลังงานทางเลือกในการผลิตแทนการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล โดยนำร่องนำแนวคิดนี้มาพัฒนาโรงงานอายิโนะโมะโต๊ะ กำแพงเพชร เพื่อเป็นต้นแบบโรงงานสีเขียว
ผุด “โรงงานสีเขียว” ลดการปล่อยคาร์บอน ขยะพลาสติกต้นน้ำถึงปลายน้ำ
คุณนัฏทพนธ์ พานิชดี ผู้จัดการโรงงานอายิโนะโมะโต๊ะ จังหวัดกำแพงเพชร ให้ข้อมูลว่า เหตุที่โรงงานกำแพงเพชรได้รับเลือกเป็นต้นแบบโรงงานสีเขียว เพราะกำแพงเพชรเป็นแหล่งเพาะปลูกมันสำปะหลังแหล่งใหญ่ของประเทศ ซึ่งเป็นวัตถุดิบหลักในการผลิตผงชูรสของบริษัท ทั้งยังมีวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิต รวมถึงห้องแลปสำหรับการทดลองวิจัยครบครัน
โดยโรงงานกำแพงเพชรก่อตั้งเมื่อ 25 ปีที่แล้ว โดยผลิตผงชูรส ตราถ้วยแดงเป็นผลิตภัณฑ์แรก เพื่อเจาะกลุ่มคอนซูเมอร์ และตลาดบีทูบี ทั้งในไทยและส่งออกในสัดส่วน 50% เท่ากัน จากนั้นเริ่มขยายมาสู่การผลิตวัตถุปรุงแต่งอาหารโรโบนิวคลีโอไทด์ แบรนด์ “อายิไทด์ ไอ พลัส จี” ซึ่งเน้นเจาะตลาดบีทูบี ปัจจุบันมีการส่งออก 93% ในกว่า 40 ประเทศทั่วโลก
สำหรับกระบวนการสร้างโรงงานสีเขียว อายิโนะโมะโต๊ะได้นำ BCG มาเป็นหลักในการทำงาน โดยเริ่มจากการสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนร่วมจากชีวมวล ที่ผลิตจากพลังงานหมุนเวียน และหม้อต้มไอน้ำจากแกลบและชานอ้อยที่เหลือจากภาคการเกษตรมาเป็นเชื้อเพลิงหลักในการผลิตไอน้ำ ทดแทนการใช้น้ำมันเตา เพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าใช้ในโรงงาน ซึ่งช่วยให้โรงงานลดการใช้เชื้อเพลิงจากน้ำมันเตาลง 40% จากเดิมที่ซื้อไฟฟ้าใช้ 100% และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เป็นสาเหตุของสภาวะโลกร้อนได้ 380,000 ตันต่อปี หรือ เท่ากับต้นไม้ 30 ล้านต้น
“ตอนนี้เรามีการออกแบบหม้อต้มไอน้ำให้สามารถรองรับของเสียจากภาคการเกษตรอื่นๆ ด้วย เช่น ใบอ้อย หากสามารถใช้ใบอ้อยเป็นวัตถุดิบเชื้อเพลิงได้ จะช่วยสร้างรายได้ให้เกษตรกรในพื้นที่เพิ่มขึ้นด้วย ทั้งยังลดมลพิษฝุ่น สร้างสังคมสุขภาพดี เพราะช่วยลดการเผาใบอ้อยระหว่างจัดเก็บอ้อย รวมทั้งติดตั้ง Solar Rooftop บนอาคารโรงงานเพื่อนำพลังงานจากแสงอาทิตย์มาใช้ในการผลิตกระแสไฟฟ้าสำหรับใช้ในโรงงานต่อไป”
นอกจากการสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนร่วมจากชีวมวลแล้ว โรงงานกำแพงเพชรยังบริหารจัดการของเหลือที่เกิดจากกระบวนการผลิตผงชูรส เช่น น้ำที่เกิดจากการหมัก และขี้เถ้าแกลบ มาพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ร่วม (CoProduct) ที่เป็นประโยชน์ทางการเกษตร ภายใต้แนวคิด Bio-Cycle จนออกมาเป็น ปุ๋ยอินทรีย์เคมี และอาหารสัตว์ ซึ่งช่วยให้ไม่เกิดผลเสียต่อสิ่งแวดล้อม ทำให้เกษตรกรลดการใช้ปุ๋ยเคมีในการเพาะปลูก แถมได้ผลผลิตเพิ่มขึ้น ปัจจุบันมีทั้งหมด 6 แบรนด์ แบ่งเป็นปุ๋ยน้ำ ปุ๋ยเม็ด รวมถึงวัสดุปรับปรุงดิน และล่าสุดได้พัฒนาปุ๋ยชีวภาพน้องใหม่ “อามีน่า” ซึ่งจะวางตลาดในเดือน พ.ค.นี้
พร้อมกันนี้ ยังมีมาตรการลดการใช้ทรัพยากรน้ำ ด้วยหลักการ 3Rs โดยนำน้ำที่ใช้แล้วมาผ่านกระบวนการบำบัดให้มีคุณภาพและนำกลับมาใช้ใหม่ รวมถึงการจัดการกับขยะพลาสติก โดยปรับปรุงกระบวนการผลิตให้ลดปริมาณการใช้พลาสติกระหว่างการผลิต โดยยกเลิกถุงพลาสติกที่ใช้ห่อบรรจุภัณฑ์ผงชูรส และปรับขนาดซองให้พอดีกับผลิตภัณฑ์ ทำให้ปริมาณการใช้พลาสติกลดลง 365 ตัน ทั้งยังพัฒนาบรรจุภัณฑ์กระดาษขนาด 50 กรัมเป็นครั้งแรกในไตรมาส 4 ปีที่ผ่านมา ซึ่งคนรุ่นใหม่ตอบรับดีมาก นอกจากนี้ ยูนิฟอร์มของพนักงานอายิโนะโมะโต๊ะยังผลิตขึ้นจากขวดน้ำพลาสติกใช้แล้ว จึงช่วยลดปริมาณขยะพลาสติกที่เกิดขึ้นด้วย
รีแบรนด์ “เอฟ ดี กรีน” สะท้อนภาพธุรกิจปุ๋ยและความยั่งยืนเข้าถึงเกษตรกร
แม้ตลอดหลายปีที่ผ่านมา อายิโนะโมะโต๊ะให้ความสำคัญกับการสร้างคุณค่าร่วมกับสังคมและสิ่งแวดล้อมมาอย่างต่อเนื่อง แต่เพื่อให้ภาพการทำงานชัดเจนและครอบคลุมทุกส่วน ตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย.นี้ อายิโนะโมะโต๊ะจึงปรับเปลี่ยนชื่อ บริษัท เอฟ ดี กรีน เป็น บริษัท อายิโนะโมะโต๊ะ เอฟ ดี กรีน (ประเทศไทย) จำกัด โดยเหตุผลสำคัญในการเปลี่ยนชื่อ ดร. โคะเฮ อิชิกะวะ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท อายิโนะโมะโต๊ะ เอฟ ดี กรีน (ประเทศไทย) จำกัด บอกว่า มาจาก 3 เหตุผลหลักๆ คือ
1.ต้องการสร้างความเชื่อมโยงระหว่างพนักงานกับบริษัทให้มากขึ้น เพราะถึงแม้ บริษัท เอฟ ดี กรีน จะเป็นบริษัทในเครืออายิโนะโมะโต๊ะ โดยก่อตั้งมาตั้งแต่ปี 2544 ดำเนินธุรกิจขายปุ๋ยอินทรีย์เคมี แต่หลายคนยังสงสัยว่าพนักงานเอฟ ดี กรีน เป็นพนักงานในเครืออายิโน๊ะโมะโต๊ะไหม ดังนั้น การเปลี่ยนชื่อจะช่วยสร้างความเชื่อมโยงกันมากขึ้น
2.สื่อสารกับลูกค้าได้ง่ายขึ้น เพราะสมัยก่อนเวลาออกไปขายปุ๋ย หลายครั้งต้องใช้เวลาสื่อสารนาน เนื่องจากเกษตรกรส่วนใหญ่รู้จักอายิโนะโมะโต๊ะในการเป็นแบรนด์ผงชูรส แต่ไม่รู้จักในเรื่องปุ๋ยและความยั่งยืน
3.สร้างคุณค่าให้กับบริษัท ผลักดันให้ภาพความยั่งยืนของอายิโนะโมะโต๊ะชัดเจนมากขึ้น
สำหรับบทบาทของบริษัท อายิโนะโมะโต๊ะ เอฟ ดี กรีน (ประเทศไทย) จำกัด นอกจากการพัฒนาผลิตภัณฑ์ร่วมจากของเสียที่เกิดจากกระบวนการผลิตผงชูรสจนออกมาเป็นผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรแล้ว ยังยกระดับคุณภาพชีวิตเกษตรกรไทย ผ่านโครงการ Thai Farmer Better Life Partner เพราะเชื่อว่าหากเกษตรกรโดยเฉพาะผู้ปลูกมันสำปะหลังซึ่งเป็นผู้ผลิตวัตถุดิบมีคุณภาพชีวิตที่ดี จะสร้างผลผลิตที่มีคุณภาพและทำให้อายิโนะโมะโต๊ะสามารถนำมาพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพอยู่เสมอ
โดยโครงการ Thai Farmer Better Life Partner เป็นการร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐ เอกชน และมหาวิทยาลัยเพื่อหาแนวทางการแก้ไขปัญหาของเกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลังและเพิ่มผลผลิตให้มากขึ้น ผ่านกิจกรรมต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น การตรวจวิเคราะห์ดินเพื่อให้รู้คุณภาพของดินและแนะนำปุ๋ยชีวภาพที่เหมาะกับพืช ทำให้เกษตรกรได้ผลผลิตเพิ่มขึ้น รวมไปถึงร่วมกับ สวทช. จัดตั้งห้อง Lab เพื่อแก้ไขปัญหาโรคใบด่างที่ก่อให้เกิดความเสียหายในมันสำปะหลัง
ซึ่งปีที่ผ่านมามีเกษตรกรเข้าร่วมโครงการ 519 คน และเมื่อนำวิธีการนี้ไปใช้สามารถเพิ่มผลผลิตจาก 3 ตันเป็น 4 ตันต่อไร่ และมีรายได้เพิ่มขึ้น 2,000 บาทต่อไร่ จากปกติรายได้ประมาณ 6,000-8,000 บาทต่อไร่ (เฉพาะมันสำปะหลัง) ในปีนี้จึงมีการขยายโครงการเพิ่มขึ้น ทำให้มีผู้เข้าร่วมโครงการ 1,376 คน และจากโมเดลการทำธุรกิจที่ยั่งยืน จะช่วยผลักดันรายได้ของ เอฟ ดี กรีนให้เติบโต 2.5 เท่าในปี 2030 จากยอดขายในปี 2022
พร้อมกันนี้ อายิโนะโมะโตะยังมีแผนปรับโรงงานที่เหลืออีก 9 แห่ง เป็นโรงงงานสีเขียวภายในปี 2030 ซึ่งจะทำให้อายิโนะโมะโต๊ะลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมให้ได้ 50% และก้าวสู่ผู้นำในการสร้างความอยู่ดีมีสุขให้สังคมและสิ่งแวดล้อม
ติดตามพวกเราได้ที่ LINE