คดีคอนโดแอชตัน อโศก ที่ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม 2566 ศาลปกครองสูงสุด มีคำพิพากษาให้ “เพิกถอน” ใบอนุญาตก่อสร้าง ซึ่งเป็นโครงการของ บมจ. อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ ร่วมทุนกับ “มิตซุย ฟูโดซัง” ประเทศญี่ปุ่น เป็นคอนโดหรูสูง 51 ชั้น มีห้องพัก 783 ยูนิต ตั้งอยู่ริมถนนอโศก มูลค่าโครงการ 6,481 ล้านบาท
ประเด็นของคดีเนื่องจาก “ที่ดินทางเข้า-ออก” อาคารแอชตัน อโศก เป็นที่ดินของ รฟม. ที่ได้มาจากการเวนคืน จึงไม่อาจนำมาให้เอกชนใช้ในการประกอบการได้
นิติบุคคลอาคารชุด “แอชตัน อโศก” ยื่นขอพิจารณาคดีใหม่
จากคำพิพากษาดังกล่าว ทางนิติบุคคลอาคารชุด “แอชตัน อโศก” (ในฐานะผู้ร้อง) จึงได้ยื่นคำร้องขอให้พิจารณาคดีใหม่ ด้วยเหตุผลดังนี้
– การที่ศาลปกครองสูงสุด มีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดให้ “เพิกถอน” ใบรับหนังสือแจ้งความประสงค์จะก่อสร้างอาคารแอชตัน อโศก ตามมาตรา 39 ทวิ และใบรับแจ้งการก่อสร้างอาคารตามมาตรา 39 ตรี ที่ออกให้แก่ผู้ร้องสอด (อนันดา) ทุกฉบับ โดยมีผลย้อนหลังถึงวันที่ออกหนังสือดังกล่าว ย่อมมีผลกระทบต่อการจดทะเบียนอาคารชุด แอชตัน อโศก หนังสือกรรมสิทธิ์ห้องชุด และการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมเกี่ยวกับห้องชุด ทำให้ผู้ร้อง(นิติบุคคลอาคารชุด) และเจ้าของร่วมไม่สามารถเข้าไปดูแลรักษาทรัพย์สินส่วนกลางและทรัพย์สินส่วนบุคคลได้
– ในกรณีที่ผู้ร้องสอด (อนันดา) ไม่สามารถแก้ไขเปลี่ยนแปลงให้โครงการอาคารชุด แอชตัน อโศก มีทางเข้า-ออก ตามที่กำหนดในกฎกระทรวง ผู้ว่า กทม. (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3) โดยผู้อำนวยการสำนักงานโยธา (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2) จะต้องมีคำสั่งให้ผู้ร้อง (นิติบุคคลอาคารชุด) และเจ้าของร่วมระงับการใช้อาคารชุด แอชตัน อโศก เนื่องจากการก่อสร้างและเปิดใช้อาคารดังกล่าวไม่เป็นไปตามกฎหมายควบคุมอาคาร
– ผู้ร้อง (นิติบุคคลอาคารชุด) จึงเป็นบุคคลภายนอก ผู้มีส่วนได้เสีย หรืออาจถูกกระทบจากผลคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดในคดีนี้ นอกจากนี้ผู้ร้อง (นิติบุคคลอาคารชุด) และเจ้าของร่วมเชื่อโดยสุจริตว่า การก่อสร้างอาคารแอชตัน อโศก เป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมาย และการอนุญาตให้ผู้ร้องสอด (อนันดา) ใช้ที่ดินของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย เป็นทางเข้า-ออกโครงการ แอชตัน อโศก สู่ถนนอโศก ไม่ได้เป็นเหตุทำให้การใช้ประโยชน์ตามวัตถุประสงค์แห่งการเวนคืนต้องเสียไป และไม่ได้กระทบต่อการให้บริการรถไฟฟ้าและพื้นที่จอดรถบริเวณสถานีรถไฟฟ้าใต้ดินสุขุมวิท
– การเพิกถอนใบรับหนังสือแจ้งความประสงค์จะก่อสร้างอาคารตามมาตรา 39 ทวิ และใบรับแจ้งการก่อสร้างอาคารตามมาตรา 39 ตรี ที่ออกให้แก่ผู้ร้องสอด (อนันดา) หรือรื้อถอนอาคารชุดแอชตัน อโศก จะก่อให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงแก่ผู้ร้อง (นิติบุคคลอาคารชุด) และเจ้าของร่วมในอาคารชุด แอชตัน อโศก อย่างร้ายแรง และความเสียหายที่จะเกิดขึ้นจากผลแห่งคำพิพากษาดังกล่าว จะขยายวงกว้างออกไปมากกว่า เมื่อเทียบกับประโยชน์ที่ผู้ฟ้องคดีจะได้รับ
– กรณีนี้จึงมีเหตุที่ผู้ร้อง (นิติบุคคลอาคารชุด) จะขอให้พิจารณาคดีใหม่ ตามมาตรา 75 วรรค 1 และ 3 พ.ร.บ. จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2542
– ศาลปกครองกลางมีคำสั่ง “ไม่รับ” คำขอให้พิจารณาคดีใหม่ของผู้ร้อง (นิติบุคคลอาคารชุด) ไว้พิจารณา เนื่องจากผู้ร้อง (นิติบุคคลอาคารชุด) ไม่ใช่ผู้มีส่วนได้เสียหรืออาจถูกกระทบจากผลแห่งคดี ที่จะมีสิทธิขอให้ศาลพิจารณาพิพากษาคดีใหม่ ตามมาตรา 75 วรรค 1 พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2542 ผู้ร้อง (นิติบุคคล) ยื่นอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวต่อศาลปกครองสูงสุด
ศาลปกครองสูงสุด “ไม่รับคำขอ” พิจารณาคดีใหม่
– เมื่อวันที่ 10 เมษายน 2567 ศาลปกครองสูงสุด มีคำสั่งที่ 351/2567 วินิจฉัยว่า “การที่ศาลปกครองชั้นต้น พิพากษา “เพิกถอน” ใบรับหนังสือแจ้งความประสงค์จะก่อสร้างและใบรับแจ้งการก่อสร้างฯ ที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 (ผู้อำนวยการสำนักงานโยธา) ออกให้แก่ผู้ร้องสอด (อนันดา) ย่อมมีผลให้ทางกฎหมายเพียงพอว่า
– ผู้ร้องสอด (อนันดา) ก่อสร้างและดัดแปลงอาคารชุด แอชตัน อโศก โดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงานท้องถิ่นเท่านั้น ซึ่งเป็นเรื่องที่เจ้าพนักงานท้องถิ่นต้องไปพิจารณาดำเนินการตาม พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 ต่อไป แต่ไม่มีผลเป็นการเพิกถอนการจดทะเบียนอาคารชุด หนังสือกรรมสิทธิ์ในห้องชุด และการจดทะเบียนนิติบุคคลอาคารชุด แอชตัน อโศก แต่อย่างใด
– หากมีข้อเท็จจริงในภายหลังว่า เจ้าพนักงานท้องถิ่นได้ใช้อำนาจดำเนินการตาม พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 กับอาคารแอชตัน อโศก ก็ไม่เป็นการตัดสิทธิที่ผู้ร้อง (นิติบุคคลอาคารชุด) และเจ้าของร่วมจะใช้สิทธิทางศาลต่อไป
– กรณีนี้จึงไม่อาจถือได้ว่า คำพิพากษาของศาลปกครองในคดี มีผลกระทบต่อสิทธิและหน้าที่ของผู้ร้อง (นิติบุคคลอาคารชุด) และเจ้าของร่วมอาคารชุด แอชตัน อโศก
– ดังนั้นผู้ร้อง (นิติบุคคลอาคารชุด) จึงไม่ใช่บุคคลภายนอกผู้มีส่วนได้เสียหรืออาจถูกผลกระทบจากผลแห่งคดีนี้ ที่จะมีสิทธิยื่นคำขอให้ศาลปกครองพิจารณาพิพากษาคดี หรือมีคำสั่งชี้ขาดคดีปกครองนั้นใหม่ ตามมาตรา 75 วรรค 1 แห่ง พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2542
– เมื่อเป็นเช่นกัน จึงไม่จำเป็นต้องวินิจฉัยว่า มีเหตุที่ศาลปกครองจะพิจารณาคดีนี้ใหม่ ตามมาตรา 75 วรรค 1 ถึง 4 ตามอุทธรณ์ของผู้ร้อง (นิติบุคคลอาคารชุด) หรือไม่ เพราะไม่ทำให้ผลแห่งคดีเปลี่ยนแปลงไป
– ดังนั้น คำอุทธรณ์ของผู้ร้อง (นิติบุคคล) ฟังไม่ขึ้น ศาลปกครองสูงสุด จึงมีคำสั่งยืนตามคำสั่งของศาลปกครองกลาง ที่ไม่รับคำขอของผู้ร้อง (นิติบุคคลอาคารชุด) ไว้พิจารณา
ติดตามพวกเราได้ที่ LINE
อ่านเพิ่มเติม
- บทสรุปปิดคดี ‘แอชตัน อโศก’ ศาลปกครองสูงสุดสั่งเพิกถอนใบอนุญาตก่อสร้าง ‘อนันดา’ หารือรัฐเยียวยาลูกบ้าน 580 ราย
- อนันดา เผยความคืบหน้ากรณี “แอชตัน อโศก” เดินเรื่อง 5 แนวทางแก้ไขปัญหา
- ศาลแพ่งฯ สั่ง ‘แอชตัน อโศก’ คืนเงินผู้ซื้อห้องชุด 7 ราย 78 ล้าน ‘อนันดา’ ยื่นอุทธรณ์คดี