นับเป็นอีกหนึ่งปีทองของตลาดเบียร์มูลค่ากว่า 2.6 แสนล้านบาทเมืองไทย หลังภาพรวมอุตสาหกรรมเริ่มฟื้นตัว ซึ่งเป็นผลพวงมาจากสภาพเศรษฐกิจที่ขึ้น ไปจนถึงช่องทางร้านอาหาร ผับบาร์ ที่กลับมาเติบโตได้ดีอีกครั้งในรอบหลายปี ทำให้ผู้ประกอบการในตลาดเริ่มออกมาเคลื่อนไหวและสร้างสีสันในตลาดอีกครั้ง
หากจะว่าไปแล้วในตลาดเบียร์มืองไทย หลายคนคงคุ้นชินกับการแข่งขันในตลาดอีโคโน่มีและแสตนดาร์ดเบียร์ ซึ่งเป็นสัดส่วนใหญ่ตลาดกว่า 95% โดยมีสิงห์ และ ช้าง ที่ครองตลาดมานาน ต่อมาก็มีเบียร์ของทาง กลุ่มคาราบาว เข้ามาเป็นผู้ท้าชิงหน้าใหม่เมื่อปีที่ผ่านมา ขณะที่ในตลาดระดับกลาง–พรีเมียม ก็มี ไฮเนเก้น ที่ครองใจผู้บริโภคมายาวนาน
แต่เมื่อลงลึกไปยังตลาดพรีเมียม–ซูเปอร์พรีเมียม ยังถือว่าเป็นอีกหนึ่งตลาดที่น่าจับตามอง เพราะนอกจากจะมีสัดส่วนตลาดน้อยกว่าแล้วยังถือเป็นตลาดเบียร์เฉพาะกลุ่มอยู่สูง แถมยังสร้างการรับรู้เฉพาะในช่องทางร้านอาหาร ผับบาร์ ที่เป็นช่องทางจำหน่ายหลักเฉพาะของแบรนด์มากกว่าการสื่อสารแบรนด์แบบทั่วไป
กินเนสส์ (Guinness) เบียร์ชั้นนำจากไอร์แลนด์ แบรนด์ที่ถูกขนานนามว่า “ราชาแห่งเบียร์ดำ” ก่อตั้งมาตั้งแต่ปี 2302 (ค.ศ 1759) โดย “อาเธอร์ กินเนสส์” (Arthur Guinness) ในส่วนของประเทศไทย กินเนสส์ เข้ามาทำตลาดภายใต้การนำของกลุ่มทีเอพี เป็นเวลากว่า 14 ปี ตั้งแต่ปี 2553
เส้นทาง 14 ปี บุกเบิกตลาดเบียร์ซูเปอร์พรีเมียมในไทย
จุดเริ่มต้นการทำตลาดของ กินเนสส์ ในประเทศไทย เริ่มจากการวาง Positioning ของตัวเองเป็นเบียร์ Super Premium เน้นเจาะกลุ่มเป้าหมายชาวต่างชาติ (Expat) และชาวไอริชที่อยู่ในประเทศไทย ผ่านการจำหน่ายในเอาท์เล็ตชั้นนำ โดยเฉพาะร้านอาหาร ผับ บาร์ สไตล์ไอริช ซึ่งเป็นการทำตลาดแบบเฉพาะกลุ่มอยู่
จวบจนทิศทางในตลาดเบียร์เมืองไทยเริ่มมีการเปลี่ยนแปลงมากขึ้น โดยในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา ภาพรวมของตลาดเบียร์ Super Premium มีการเติบโตประมาณ 2.5% เมื่อบวกกับพฤติกรรมและไลฟ์สไตล์ผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงตามกาลเวลา ทำให้ปีนี้ กินเนสส์ ได้วางเป้าหมายในการเข้าถึงคนไทยมากขึ้น ด้วยการขยายช่องทางการจัดจำหน่ายที่มุ่งเน้นไปที่กลุ่มลูกค้าพรีเมียมรวมไปถึงกิจกรรมในเอาท์เล็ตและกิจกรรมทางการตลาดตลอดทั้งปี
คุณภัททภาณี เอกะหิตานนท์ ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาด บริษัท ทีเอพี เทรดดิ้ง จำกัด กล่าวว่า “ก่อนหน้านี้ จริงๆแล้ว Guinness ทำกิจกรรมที่ outlet อย่างต่อเนื่องมาโดยตลอดแต่จะเน้นเฉพาะกลุ่มลูกค้า Expat และต่างชาติเป็นหลัก ไม่ได้มีการทำการสื่อสารทางการตลาดในภาพกว้าง ซึ่งในปีนี้ Guinness ได้วางเป้าหมายในการเข้าถึงกลุ่มลูกค้าคนไทยมากขึ้น ด้วยการขยายช่องทางการจัดจำหน่าย รวมไปถึงกิจกรรมในเอาท์เล็ตและกิจกรรมทางการตลาดตลอดทั้งปี”
โดยใช้จุดแข็งของทางทีเอพีที่มีความโดดเด่นในตลาดเบียร์ระดับพรีเมียมที่มีพอร์ตครอบคลุมในหลายเซกเมนต์ ทั้งพรีเมี่ยมแมส พรีเมียม และซุปเปอร์พรีเมียม โดยเป็นทั้งผู้ผลิต ผู้นำเข้า และผู้จัดจำหน่ายเครื่องดื่มแบรนด์ระดับโลกมากมาย หนึ่งในนั้นคือ “กินเนสส์” แบรนด์สเตาต์สัญชาติไอริชที่มีบทบาทสำคัญในการเข้ามาเสริมแกร่งพอร์ตปี 2567
ชูจุดเด่น Product Credential และ Brand Legacy ปูพรมตลาดเบียร์ซูเปอร์พรีเมียมในไทย
นอกจากนี้ในปีนี้ Guinness จะรุกเซกเมนต์ซูเปอร์พรีเมียม โดยการใช้กลยุทธ์การสื่อสาร ที่เน้นเรื่อง Product Credential และ Brand Legacy ของ Guinness ในฐานะ No. 1 Stout ที่เป็นเครื่องดื่มประจำชาติของชาวไอริชที่มีประวัติศาสตร์ยาวนานกว่า 265 ปีเป็นเส้นทางสำคัญในการสร้างแบรนด์ในไทย
“Guinness คือ Super Premium beer ที่เป็น No.1 Stout ของโลก เรามีภาพลักษณ์ และ Product Differentiation ที่โดดเด่น การแข่งขันในตลาดเบียร์กลุ่มแมส หรือแสตนดาร์ดจึงไม่มีผลกระทบกับแบรนด์ Guinness มากนัก” คุณภัททภาณี กล่าว
โดยจะโฟกัสไปที่ช่องทางการขายต่างๆ เช่น On Trade ประเภท Pub Restaurant, Craft Café และ Cocktail Bar ตลอดจนเอาต์เล็ทชั้นนำกว่า 200 แห่ง ที่เน้นไปที่กลุ่มลูกค้าคนไทย ในปัจจุบันลูกค้าหลักๆ ของ Guinness ยังคงเป็นกลุ่มต่างชาติที่เป็น Expat สัดส่วนประมาณ 80% และคนไทยที่ชอบดื่ม Super Premium เบียร์อีก 20% ซึ่งจากการเริ่มทำการตลาดในปีนี้และปีต่อๆไป คนไทยจะเป็นฐานลูกค้าที่มีสัดส่วนที่ใหญ่ขึ้นในอนาคต
อย่างไรก็ตามในปีนี้ Guinness มีเป้าหมายที่จะเติบโตกว่าสองหลัก จากการมุ่งเน้นจับกลุ่มลูกค้าคนไทย โดยการเพิ่มช่องทางการขายและรวมไปถึงกิจกรรมการตลาดไม่ว่าจะเป็น Activity ใน Outlet และการ Sponsorship อิเวนต์ โดยปัจจุบันกินเนสส์มีโรงงานผลิตครอบคลุมกว่า 49 ประเทศ และจัดจำหน่ายในกว่า 120 ประเทศทั่วโลก
ติดตามพวกเราได้ที่ LINE