HomeBrand Move !!“ธรรมาภิบาล” เรื่อง(ไม่)ยากสำหรับแบรนด์ เผย 6 ข้อดีจาก SET ที่องค์กรต้องรู้

“ธรรมาภิบาล” เรื่อง(ไม่)ยากสำหรับแบรนด์ เผย 6 ข้อดีจาก SET ที่องค์กรต้องรู้

แชร์ :

ดร.ศรพล ตุลยะเสถียร รองผู้จัดการ หัวหน้าสายงานวางแผนกลยุทธ์องค์กรและโครงการกลยุทธ์ และหัวหน้าสายงานพัฒนาความยั่งยืนตลาดทุน ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

จากแนวคิดการพัฒนาองค์กรอย่างยั่งยืนผ่านสามตัวอักษรหลัก “ESG” ที่ย่อมาจาก Environment (สิ่งแวดล้อม) Social (สังคม) และ Governance (ธรรมาภิบาล) เชื่อว่าหลายคนอาจได้รับแนวคิดดี ๆ ด้านตัว E และ S จากการถ่ายทอดของแบรนด์ดังอย่างเอไอเอส สตาร์บัคส์ และศุภาลัย ในงานเสวนา “ESGNIVERSE 2024 : Real – World of Sustainability” ของ BRAND BUFFET กันมาพอสมควร

ADFEST 2024

Santos Or Jaune

ขณะที่ ตัว G หรือ Governance ซึ่งสำคัญไม่แพ้กันนั้น ผู้ที่รับหน้าที่ในการถ่ายทอดคือ ดร.ศรพล ตุลยะเสถียร  หัวหน้าสายงานวางแผนกลยุทธ์องค์กรและโครงการกลยุทธ์ และหัวหน้าสายงานพัฒนาความยั่งยืนตลาดทุน ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยที่ขึ้นมาเผยเคสน่าสนใจ ตลอดจนประโยชน์อีกมากมายที่องค์กรจะได้รับจากการสร้างการกำกับดูแลที่ดี เพื่อเป็นตัวอย่างให้กับอีกหลายธุรกิจได้นำไปปรับใช้ด้วยเช่นกัน

การลงโทษที่ไร้ G ของ Google สู่การประท้วงครั้งใหญ่ของพนักงาน

หนึ่งในกรณีศึกษาที่คุณศรพลได้หยิบยกมากล่าวถึงบนเวทีคือกรณี sexual harassment ของผู้บริหารบริษัทดังอย่าง Google ที่เกิดขึ้นในช่วงปี 2014  โดยบทลงโทษที่ผู้บริหารคนดังกล่าวได้รับนอกจากการให้ออกแล้ว ยังมีส่วนของ Benefit ก้อนโตด้วย ทำให้เกิดความไม่พอใจในหมู่พนักงาน และนำไปสู่การประท้วงครั้งใหญ่ที่มีพนักงานเข้าร่วมเป็นจำนวนมาก ซึ่งจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงใน Google ตามมาหลายประการ โดย ดร.ศรพลชี้ว่า องค์กรได้เรียนรู้แล้วว่า การลงโทษนั้นไม่อาจทำตามกฎอย่างเดียว แต่ต้องมองประเด็นจริยธรรม – ความรู้สึกของส่วนรวมต่อกรณีดังกล่าวด้วย

หรือกรณีของแบรนด์ผู้ผลิตเสื้อแฟชั่นยี่ห้อหนึ่งที่มีการเปิดตัวคอลเล็คชั่นใหม่ โดยมีนายแบบเป็นเด็กผิวสี (เสื้อต้อนรับเปิดเทอม) แต่มีการสกรีนคำว่า coolest monkey in the jungle ลงบนเสื้อ ซึ่งสร้างความไม่พอใจให้กับผู้ที่พบเห็น จนทางแบรนด์ต้องออกมาขอโทษ โดย ดร.ศรพลให้ทัศนะบนเวทีว่า หากองค์กรมีการกำกับดูแลที่ดีก็จะไม่ปรากฏข้อความในลักษณะดังกล่าวออกมา

6 ประโยชน์ที่องค์กรจะได้รับจาก “G”

จากกรณีศึกษาข้างต้นจะเห็นได้ว่า  G หรือ Governance (ธรรมาภิบาล) ถือว่ามีความสำคัญเป็นพิเศษ เพราะว่า G เป็นรากฐานที่ช่วยให้ E (สิ่งแวดล้อม) และ S (สังคม) ประสบความสำเร็จได้อย่างยั่งยืน เปรียบเสมือนเสาหลักที่ค้ำจุนให้ทั้งสองด้านมั่นคง อีกทั้งยังสะท้อนว่า แบรนด์มีการคำนึงถึงผู้มีส่วนได้เสีย ซึ่งจะสร้างความน่าเชื่อถือต่อนักลงทุน ลูกค้า พนักงาน และสังคมโดยรวม โดยสามารถถอดออกมาเป็นประโยชน์ 6 ข้อที่บริษัทจะได้รับจากการมีธรรมาภิบาลที่ดี ดังนี้

ประโยชน์ข้อที่ 1 คือเรื่องของความยั่งยืน โดยดร.ศรพลอธิบายว่า การที่บริษัทรายงานข้อมูลอย่างโปร่งใสนั้น ดีต่อการบริหารของบริษัทเอง เนื่องจากตัวบริษัทได้เห็นข้อมูลที่แท้จริง ทำให้สามารถบริหารจัดการได้อย่างถูกต้องเหมาะสม และความถูกต้องนั้นจะทำให้ตัวบริษัทสามารถอยู่ได้อย่างยั่งยืน และกลายเป็นบริษัทอายุหลายสิบหรือร้อยปีได้

ประการต่อมาคือเรื่องของ Risk Management หรือการบริหารความเสี่ยง เนื่องจากการมีข้อมูลถูกต้อง ทำให้บริษัทสามารถประเมินสถานการณ์ล่วงหน้าได้อย่างแม่นยำมากขึ้น และลดความเสี่ยงของการเกิดความเสียหายอย่างไม่คาดคิดได้อีกทางหนึ่ง

ประการที่สามคือการเพิ่มความเชื่อมั่น หรือ Increase Trust โดย ดร.ศรพลชี้ว่า เริ่มเห็นเทรนด์การซื้อสินค้าเพราะผู้บริโภคเกิดความเชื่อมั่นในบริษัทนั้น ๆ หรือเพราะคาแรคเตอร์ของบริษัทนั้น ๆ (รวมถึงคาแรคเตอร์ที่น่าเชื่อถือของผู้บริหาร)  ว่าหากมีภาพลักษณ์ที่ดี แบรนด์นั้น ๆ คงไม่ผลิตสินค้า หรือทำบางสิ่งบางอย่างที่ปลอมแปลงมาขายให้กับผู้บริโภค

ในส่วนของประโยชน์ข้อที่ 4 ที่องค์กรที่มีการกำกับดูแลที่ดีจะได้ประโยชน์ก็คือ การลดความขัดแย้งและการฉ้อโกง โดย ดร.ศรพลได้ยกกรณีของการปลอมแปลงงบการเงินของบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งทำให้เกิดความเสียหายในวงกว้างและกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุน อย่างรุนแรง และเป็นความเสียหายที่แก้ไขลำบาก โดยหากกรณีนี้เกิดขึ้นในองค์กรที่มีจริยธรรม และมีการตรวจสอบที่เคร่งครัดรัดกุม ปัญหาดังกล่าวก็จะไม่เกิดขึ้น

การลดภาระด้านค่าปรับ – การลงโทษตามกฎหมาย โดย ดร.ศรพลได้ยกตัวอย่างการทำข้อมูลลูกค้ารั่วไหลของผู้จำหน่ายอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ชื่อดังอย่าง JIB ซึ่งในกรณีนี้ หากมีการดำเนินงานอย่างมีธรรมาภิบาล และมีระบบตรวจสอบที่รัดกุมเคร่งครัด ก็อาจหลีกเลี่ยงการเกิดเหตุการณ์ดังกล่าวได้เช่นกัน และสุดท้ายคือการกระตุ้นให้เกิดพฤติกรรมในเชิงบวกของแบรนด์ พร้อมยกกรณีของบริษัทยูนิลิเวอร์ที่มีการตรวจสอบเส้นทางการผลิตปาล์มและบันทึกไว้ในบล็อกเชน โดยสามารถเก็บข้อมูลได้ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำว่า การปลูกปาล์มนั้นมีการทำลายสิ่งแวดล้อมหรือไม่ ทำให้องค์กรสามารถตรวจสอบย้อนหลังได้โดยง่าย

จะเห็นได้ว่า ในยุคที่ข้อมูลข่าวสารท่วมท้น ประโยชน์ทั้ง 6 ข้อที่กล่าวมาจากการดำเนินธุรกิจอย่างมีธรรมาภิบาล  ถือเป็นกุญแจสำคัญที่ช่วยให้องค์กรสร้างความแตกต่างและสร้างความน่าเชื่อถือ และเป็นโอกาสที่องค์กรจะได้รับผลประโยชน์มากมาย ซึ่งสอดคล้องกับสิ่งที่ ดร.ศรพล ได้กล่าวทิ้งท้ายไว้บนเวทีเสวนาว่า

“ตัว G ไม่ใช่สิ่งที่จะต้องทำตามกระแส แต่ว่า G เป็นจุดเริ่มต้นของความยั่งยืน ไม่มี G ก็ไม่มี E และ S ซึ่งวันนี้ ทุกคนในองค์กรสามารถทำสิ่งนี้ได้ด้วยกัน”

 


แชร์ :

You may also like