วีซ่า ผู้นำการให้บริการการชำระเงินดิจิทัลระดับโลก เผยข้อมูลเชิงลึกที่น่าสนใจจากการศึกษาเรื่องทัศนคติการชำระเงินของผู้บริโภคประจำปีของวีซ่า (Visa Consumer Payment Attitudes Study)[1] ที่ชึ้ให้เห็นว่าผู้บริโภคชาวไทยมากถึง 80 เปอร์เซ็นต์ ประสบความสำเร็จในการใช้ชีวิตแบบไร้เงินสดโดยเฉลี่ยนานถึงเก้าวัน
การศึกษาของวีซ่ายังชี้ให้เห็นถึงเทรนด์การใช้จ่ายแบบไร้เงินสดที่ยังคงเดินหน้าอย่างแข็งแกร่งในประเทศไทย โดยพบว่ามากถึงแปดในสิบของผู้บริโภค (81%) พยายามจะใช้จ่ายโดยไม่พึ่งพาเงินสด โดยผู้นำเทรนด์เป็นผู้บริโภคจากกลุ่มเจน Z (85%) [อายุระหว่าง 18 ถึง 23 ปี] และเจน Y (85%) [อายุระหว่าง 24 ถึง 39 ปี] นอกจากนี้ และเมื่อพูดถึงความสำเร็จในการใช้ชีวิตแบบไร้เงินสดก็พบว่าเกือบสี่ในห้าของชาวไทยสามารถทำได้จริงในชีวิตประจำวัน
นายปุณณมาศ วิจิตรกุลวงศา ผู้จัดการวีซ่า ประจำประเทศไทย กล่าวว่า “เทรนด์การใช้ชีวิตแบบไร้เงินสดในประเทศไทยถือว่ามาแรงมาก และแนวโน้มเชิงบวกนี้ ยังสอดคล้องกับพฤติกรรมของผู้บริโภคทั่วโลกและการเพิ่มขึ้นของอีคอมเมิร์ซ ที่ทุกฝ่ายไม่ว่าจะเป็นผู้ซื้อหรือผู้ขายเองต่างให้ความสำคัญกับความสะดวก ปลอดภัย และการรับชำระเงินในรูปแบบดิจิทัล สิ่งเหล่านี้ล้วนสะท้อนให้เห็นถึงโอกาสอันดีของผู้ประกอบการที่จะปรับตัวและใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี เพื่อตอบสนองต่อความต้องการของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา”
การศึกษายังแสดงให้เห็นด้วยว่าผู้บริโภคชาวไทยมีความมั่นใจมากขึ้นในการที่จะใช้ชีวิตนอกบ้านโดยถือเงินสดในมือลดลง โดยเกือบครึ่ง (47%) เลือกที่จะถือเงินสดในกระเป๋าสตางค์น้อยลงเมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า
เทรนด์นี้เกิดขึ้นจากช่องทางการรับชำระเงินในรูปแบบดิจิทัลควบคู่ไปกับการใช้จ่ายแบบไร้เงินสดของผู้บริโภค (อาทิ คิวอาร์โค้ด บัตรชำระเงิน อีวอลเล็ต ฯลฯ) นอกจากนี้ผู้ตอบแบบสอบถามยังระบุว่าได้สังเกตเห็นช่องทางการรับชำระเงินแบบดิจิทัลเพิ่มขึ้นในหลายหมวดหมู่ โดยเฉพาะ หมวดอาหารและเครื่องดื่ม (79%) การค้าปลีก (67%) การจับจ่ายที่ร้านสะดวกซื้อ (67%) ซูเปอร์มาร์เก็ต (64%) และบริการขนส่ง อาทิ แท็กซี่และบริการใช้รถเดินทางร่วมกัน เป็นต้น (60%)
ขณะที่ภาคส่วนต่างๆ ในประเทศไทยมีแผนที่จะนำเวอร์ชวลแบงก์ออกมาตอบสนองต่อความต้องการของผู้บริโภค การศึกษายังได้วิเคราะห์ถึงความความสนใจและบริการที่ผู้บริโภคต้องการ โดยจากข้อมูลพบว่า เกินกว่าครึ่งของผู้บริโภคชาวไทย (54%) สนใจบริการของเวอร์ชวลแบงก์ โดยกลุ่มที่ให้ความสนใจมากที่สุดคือกลุ่มเจน Y (68%) และเจน X (53%) และบริการของเวอร์ชวลแบงก์ที่ผู้ตอบแบบสอบถามกระตือรือร้นที่จะใช้มากที่สุด คือ การบริการตนเองเต็มรูปแบบ (81%) บริการแบบไลฟ์ผ่านแอปพลิเคชันดิจิทัล (80%) และการใช้ข้อมูลทางการเงินทางเลือกสำหรับประเมินสินเชื่อ (78%)
ส่วนปัจจัยสำคัญที่ผู้บริโภคชาวไทยพิจารณาในการใช้งานเวอร์ชวลแบงก์นั้น ความปลอดภัยยังมีฟีเจอร์ที่ได้รับการจัดลำดับให้มีความสำคัญสูงสุด โดย 56% ของผู้ตอบแบบสอบถามตอบว่าต้องการชำระเงินและทำธุรกรรมที่ปลอดภัย ตามด้วยความเร็วในการทำธุรกรรม (55%) และการใช้งานสะดวก ง่ายดาย ไม่ซับซ้อนและสำเร็จได้ภายในไม่กี่คลิก (46%)
“วีซ่ามุ่งมั่นที่จะเรียนรู้ และตอบสนองต่อพฤติกรรมของผู้บริโภคชาวไทย และความต้องการที่จะเดินหน้าสู่สังคมไร้เงินสดที่ไม่หยุดนิ่งของอุตสาหกรรมการชำระเงินในประเทศไทย เราหวังว่าข้อมูลเชิงลึกที่เรานำเสนอในทุกปีนี้จะเป็นประโยชน์ต่อพันธมิตรและร้านค้าต่าง ๆ ที่จะใช้เพื่อปรับตัวรองรับความต้องการของลูกค้า และร่วมเป็นส่วนหนึ่งในความพยายามของประเทศไทยในการพัฒนาสู่สังคมไร้เงินสด”
[1] การศึกษาเรื่องทัศนคติการชำระเงินของผู้บริโภคประจำปี 2566 ของวีซ่า ซึ่งจัดทำโดย CLEAR ในนามของวีซ่าเมื่อเดือนตุลาคม – พฤศจิกายน 2566 ในเจ็ดประเทศทั่วทั้งภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้แก่ กัมพูชา อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ ไทย และเวียดนาม กับกลุ่มตัวอย่างจำนวน 6,550 คน รวมทั้งผู้บริโภคในประเทศไทยจำนวน 1,050 ราย ที่มีอายุระหว่าง 18-65 ปี ครอบคลุมทุกระดับการศึกษา และมีรายได้ขั้นต่ำต่อคนที่ 15,000 บาท