ปฏิเสธไม่ได้ว่าในวงการเฮลท์แคร์ไทยมีผู้เล่นอยู่เป็นจำนวนมาก และหนึ่งในนั้นก็คือบริษัท DKSH (ดีเคเอสเอช) หรือชื่อในอดีตอย่างดีทแฮล์มที่หลายคนคุ้นเคยกันดี (บริษัทเปลี่ยนมาใช้ชื่อ DKSH ในปี 2552) ซึ่งความเชี่ยวชาญในแวดวงสุขภาพและสาธารณสุขได้ทำให้ทาง DKSH ออกมาเผยภาพที่กำลังจะเกิดขึ้นกับสังคมไทยในปี 2050 กับการเข้าสู่ยุค “Super Aged” พร้อมแนวทางในการทรานสฟอร์มธุรกิจของบริษัทเพื่อรับมือกับความท้าทายดังกล่าว
ทั้งนี้ ความท้าทายทั้ง 3 ประการที่กล่าวข้างต้นประกอบด้วย
- กว่า 30% ของประชากรในประเทศไทยจะมีอายุมากกว่า 65 ปี
- 10% ของประชากรจะมีอายุมากกว่า 80 ปี ซึ่งทำให้ไทยเข้าสู่สถานการณ์ขาดแคลนแรงงานอย่างแท้จริงเมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านอย่างมาเลเซียหรืออินโดนีเซีย
- ผู้หญิงจะได้รับผลกระทบมากกว่าผู้ชาย (เนื่องจากคาดว่ามีอายุขัยเฉลี่ยยืนยาวกว่า)
นอกจากประเทศไทยแล้ว ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกก็มีอีก 3 ประเทศที่เผชิญกับสถานการณ์เดียวกัน นั่นคือ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และสิงคโปร์
ศักยภาพคนไทย’2024 หาเงินได้ลดลง และป่วยเรื้อรัง
ในวันที่ประเทศมีศักยภาพในการหาเงินลดลง เพราะกำลังเข้าสู่ยุค Super Aged คนไทยจำนวนไม่น้อยยังเผชิญกับโรค NCD (Non-Communicable Diseases) หรือกลุ่มโรคที่มีสาเหตุจากนิสัยหรือพฤติกรรมการดำเนินชีวิตอย่างไม่ระมัดระวัง (เช่น โรคมะเร็ง หลอดเลือดหัวใจ เบาหวาน ฯลฯ เป็นต้น) ซึ่งคุณแพทริค แกรนเด รองประธานฝ่ายบริหารผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ บริษัท ดีเคเอสเอช (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า โรคเหล่านี้มีค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษาสูงมากประมาณ 1.6 ล้านล้านบาทต่อปี หรือคิดเป็น 9.7% ของ GDP ไทยในปี 2019 เลยทีเดียว
การดำเนินธุรกิจในประเทศไทย ภายใต้เงื่อนไขที่ว่า ไทยมีกำลังซื้อลดลง และมีผู้สูงวัยมากขึ้น จึงเป็นเรื่องท้าทายสำหรับทุกบริษัท รวมถึง DKSH ด้วยเช่นกัน และนั่นนำไปสู่การทรานสฟอร์มธุรกิจเฮลท์แคร์ของบริษัท โดยนำเทคโนโลยีเข้าช่วยเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ ซึ่งสิ่งที่ DKSH เพิ่มเข้ามาประกอบด้วย
- Home Care Solutions
การเพิ่มบริการนี้มีขึ้นเพื่อตอบโจทย์สังคมผู้สูงอายุที่อาจไม่สะดวกเดินทางมาโรงพยาบาลด้วยตัวเอง อีกทั้งยังลดความแออัดในสถานพยาบาลได้ด้วย โดยบริการที่มีให้ได้แก่ Home Blood Test หรือการตรวจเลือดที่บ้าน โดยมีพยาบาลไปที่บ้านเพื่อตรวจสุขภาพเบื้องต้น เจาะเลือด และเก็บปัสสาวะ Home Specimen Transport (4PL): การขนส่งตัวอย่างทางการแพทย์ที่บ้าน – รับและส่งตัวอย่างที่ตำแหน่งที่กำหนด Home Nursing Care (on-demand): การพยาบาลที่บ้านตามความต้องการ – เช่น การดูแลแผล การตรวจระดับน้ำตาลในเลือด การฉีดยา/วัคซีน การดูดของเสีย การให้อาหารทางสาย ฯลฯทั้งนี้ ผู้บริหาร DKSH เผยว่า ได้เริ่มให้บริการ Home Care Solution ในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล และมีแผนจะขยายไปตามหัวเมืองใหญ่ของไทยเพิ่มภายในปี 2024 โดยมีผู้ป่วยในโปรแกรมนี้ราว 2,000 ราย และตั้งเป้าจะเพิ่มเป็น 10,000 รายในปีนี้
- Supply Chain Innovation
หรือการนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการจัดการซัพพลายเชน เช่น การใช้ Vertical Lift ในคลังยา ที่ DKSH ระบุว่าช่วยให้ใช้พื้นที่ได้มีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น 40% การใช้เอไอช่วยตรวจสอบการจัดยาให้ผู้ป่วยว่าถูกต้องหรือไม่ หรือการจัดเตรียมอุปกรณ์ทางการแพทย์ เช่น ชุดผ่าตัด และใช้เอไอตรวจสอบว่ามีอุปกรณ์ครบถ้วนหรือไม่ เป็นต้น - Digitalizationสุดท้ายคือการทรานสฟอร์มด้านเอกสารทางการเงิน การจัดซื้อ ฯลฯ ที่ DKSH สามารถลดการใช้กระดาษในกระบวนการดังกล่าวได้จนเหลือแค่กระดาษแผ่นเดียวสำหรับมอบให้ลูกค้า โดยคุณภรณี ดาลิลีโอ รองประธานกรรมการบริหารฝ่ายการเงิน บริษัท ดีเคเอสเอช (ประเทศไทย) จำกัด เผยถึงการดำเนินการในส่วนนี้ว่า เป้าหมายของบริษัทคือลดการใช้กระดาษให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ จึงมีการใช้เทคโนโลยีต่าง ๆ เช่น e-receipt, e-signature,e-tax ตลอดจนโปรแกรมอย่าง Microsoft 365 เข้ามาทดแทนผลก็คือ บริษัทสามารถลดการปรินท์เอกสารจนเหลือแค่แผ่นเดียวสำหรับส่งมอบให้ลูกค้าตอนที่นำสินค้าไปมอบให้เท่านั้น ส่วนตัวบริษัทเอง ไม่มีการปรินท์เอกสารใด ๆ อีก ซึ่งทำให้บริษัทไม่มีค่าใช้จ่ายในการจัดเก็บเอกสาร ส่วนการจัดเก็บบนคลาวด์ ก็มีราคาถูกกว่าถึง 50%
จะเห็นได้ว่า การดำเนินการเหล่านี้ไม่เพียงมีเป้าหมายเพื่อลดค่าใช้จ่ายขององค์กร แต่ยังสามารถใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยดูแลสุขภาพผู้สูงอายุ รวมถึงเพิ่มประสิทธิภาพในการให้บริการทางการแพทย์และการจัดการซัพพลายเชนได้ด้วย ซึ่งแนวทางเหล่านี้อาจจำเป็นมากขึ้นในวันที่สังคมไทยเข้าสู่ยุค Super Aged อย่างเต็มตัว