การเติบโตของอุตสาหกรรมดนตรีในยุคที่แพลตฟอร์มสตรีมมิ่งเฟื่องฟูมีเทคนิคหลายอย่างซ่อนอยู่ และหนึ่งในค่ายที่บอกว่าตนเองเติบโตอย่างมากในยุคดิจิทัลก็คือ GMM Music โดยคุณภาวิต จิตรกร ซีอีโอแห่ง GMM Music ได้เผยถึงการเติบโตเฉลี่ยที่มีสูงถึงปีละ 20% ว่า Data จากแพลตฟอร์มอย่าง YouTube มีส่วนช่วยอย่างมาก และสิ่งที่ GMM Music ได้จากการมี Data เหล่านั้น ก็คือ
1. ความสามารถในการคาดการณ์อนาคต
คุณภาวิตได้กล่าวถึง ระบบหลังบ้านของ YouTube ที่ทำให้ GMM Music มองเห็นได้ชัดเจนขึ้นว่ากลุ่มเป้าหมายเป็นใครบ้าง ซึ่งทำให้ GMM เข้าใจภาพรวมได้มากขึ้น รวมถึงเรื่องของ Location ของฐานแฟนคลับ
สิ่งที่แพลตฟอร์มดิจิทัลทำได้อีกข้อคือ แบรนด์ไม่จำเป็นต้องมีช่องเดียวแล้วให้คนกดติดตามเยอะ ๆ แต่แบรนด์สามารถแตกช่องออกไปได้ตามที่ต้องการ ซึ่งการทำเช่นนั้นทำให้ GMM Music ได้ Data ที่มีขนาดใหญ่ขึ้นด้วย
ปัจจุบัน GMM Music มีช่องระดับ Diamonds 3 ช่อง และช่องระดับ Gold อีก 12 ช่อง ส่วนจำนวน Subscribers ทั้งหมดมีมากกว่า 110 ล้านราย
2. Data จาก YouTube สู่การเคาะวัน “จัดคอนเสิร์ต”
“ทุกวันนี้ MV ที่ออกจาก GMM Music เราจะคาดการณ์ได้ล่วงหน้าว่า MV นั้นจะมียอดการรับชมที่เท่าไร ภายในกี่วัน” – คุณภาวิต จิตรกร ซีอีโอ GMM Music
การคาดการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นจากการนำ Data ที่มีอยู่ มาประมวลผลด้วย AI มากไปกว่านั้น การเข้าใจในฐานแฟนคลับ ยังนำไปสู่การวางแผนจำหน่ายตั๋วคอนเสิร์ตของศิลปิน GMM ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น เช่น สามารถคาดการณ์ได้ว่า หากจัดคอนเสิร์ตของเป๊ก ผลิตโชค ในวันนี้ เวลานี้ จะมีแฟน ๆ เข้ามาจองตั๋วจำนวน 13,200 ใบ เป็นต้น
3. YouTube Shorts คือตัวช่วยในการเพิ่มยอดการรับชม
การใช้เครื่องมือที่หลากหลายก็เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับเพิ่มโอกาสในการเติบโต ซึ่งน้องใหม่อย่าง YouTube Shorts คือเครื่องมือในการเพิ่มยอดการรับชมแบบออแกนิคที่คุณภาวิตกล่าวว่า สามารถเพิ่มได้ถึง 25% เลยทีเดียว
4. การให้ความสำคัญกับองค์ประกอบรอบข้าง
นอกจากการใช้เครื่องมือที่มีให้ของแต่ละแพลตฟอร์มแล้ว การให้ความสำคัญกับส่วนประกอบต่าง ๆ เช่น หน้าโฮมเพจ การสร้าง Playlist, Search, การสร้าง Link จากเพลงฮิต ฯลฯ ลงในคอนเทนต์ยังช่วยเพิ่ม Organic View ได้ถึง 35% ด้วยเช่นกัน
5. ห้ามมองข้าม LongPlay
ความสำคัญของ LongPlay บนแพลตฟอร์ม Music Streaming ที่คุณภาวิตมองเห็นคือการเป็นแหล่งรายได้ที่ดีของแบรนด์ โดย GMM Music ได้ทำ LongPlay ไปมากถึง 7,500 ชิ้นในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา และสามารถสร้างรายได้จาก LongPlay ดังกล่าวคิดเป็น 8% ของรายได้รวมทั้งหมดที่ได้จาก YouTube
6. เพิ่มรายได้ผ่านคอนเทนต์ที่มีค่า CPM สูง
อีกหนึ่งเคล็ดลับของ GMM Music คือการให้ความสำคัญกับคอนเทนต์ที่มีค่า CPM สูง ๆ (CPM คือต้นทุนที่ผู้ลงโฆษณาจ่ายสำหรับการแสดงโฆษณา 1,000 ครั้ง ระบบจะนับการแสดงโฆษณาทุกครั้งที่มีการแสดงโฆษณา) ซึ่งแบรนด์จะได้รับส่วนแบ่งรายได้จากผู้ลงโฆษณาเมื่อโฆษณาปรากฏบนวิดีโอ ยิ่งผู้ลงโฆษณาจ่ายเพื่อแสดงโฆษณานั้นมากเท่าใด รายได้ของแบรนด์ก็จะมากขึ้นตามไปด้วย CPM จึงเป็นตัวบ่งชี้ที่ดีว่าผู้ลงโฆษณาคิดว่าวิดีโอและผู้ชมของแบรนด์นั้นมีคุณค่าเพียงใดต่อการบรรลุเป้าหมายทางธุรกิจของตน
7. อย่าถอดใจ คอนเทนต์ที่อัปไปแล้วยังมีโอกาสเสมอ
ในจุดนี้ คุณภาวิตให้ทัศนะว่า คอนเทนต์ที่แบรนด์อัปโหลดขึ้นไปบน YouTube นั้นสามารถสร้างโอกาสให้กับทางค่ายได้เสมอ พร้อมยกตัวอย่างเพลงคนไม่เอาถ่าน ที่มีการผลักดันผ่าน Playlist ต่าง ๆ ผลก็คือภายในปีเดียว เพลงดังกล่าวมียอดวิวเพิ่มขึ้น 50 ล้านวิว หรือการจัดคอนเสิร์ตร่วมกันของแกรมมี่และอาร์เอสในปีที่ผ่านมา เพลงรักไม่ช่วยอะไรของคุณนัท มีเรีย มียอดการรับชมสูงขึ้นถึง 340% ในปีเดียวเช่นกัน
8. มัดรวมคอนเทนต์ที่ได้รับความนิยม
สถิติหลังบ้านของ YouTube เช่น 100 คอนเทนต์ที่ได้รับความนิยมสูงสุด หรือมียอด Engage สูงสุด ฯลฯ ช่วยให้แบรนด์มีความเข้าใจ และนำข้อมูลเหล่านี้ไปใช้งานต่อด้านการโฆษณาได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น เช่น ในกรณีของ GMM Music ที่พบว่า สามารถสร้าง Engagement เพิ่มขึ้น 40% หรือพบว่าทำยอดวิวได้มากขึ้น 163%
และทั้งหมดนี้ คือเคล็ดลับที่ GMM Music ยืนยันว่า สร้างการเติบโตได้จริง และช่วยให้อุตสาหกรรมดนตรียังคงเดินหน้าต่อไปได้ แม้จะไม่มีเทป หรือซีดีให้หาซื้อได้อย่างสะดวกเหมือนในอดีตก็ตาม