หลัง บริษัท โกลัค จำกัด บริษัทย่อยของ พีทีจี เอ็นเนอยี เข้าซื้อแฟรนไชส์ “ซับเวย์” (Subway) แบรนด์แซนด์วิชชื่อดังจากสหรัฐอเมริกา ทำให้ บริษัท พีทีจี เอ็นเนอยี จำกัด (มหาชน) หรือ PTG กลายเป็นเจ้าของแฟรนไชส์ยักษ์แซนด์วิชระดับโลกรายนี้ในทันที โดยมีผลอย่างเป็นทางการเมื่อ 1 เมษายน ที่ผ่านมา
จากนี้ทางโกลัคฯ วางเป้าพา Subway ขึ้นแท่น Top 3 ในตลาด QSR เมืองไทยใน 3 ปีนับจากนี้ (ปี 2569) ด้วยการขยายสาขาเพิ่มปีละ 50 สาขาตลอดช่วง 10 ปีนับจากนี้ หรือเท่ากับจะเพิ่มได้ 500 สาขาในช่วงสิบปี ทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด กับโมเดลร้านที่หลากหลายหลายมากยิ่งขึ้น ทั้งในห้างสรรพสินค้า ช็อปปิ้ง มอลล์, คอมมิวนิตี้ มอลล์, ตึกสำนักงาน, โรงพยาบาล, สนามบิน รวมทั้งรูปแบบที่เป็น Stand Alone และ ไดร์ฟทรู ( Drive Thru) จากปัจจุบันซับเวย์มีสาขาอยู่ทั้งสิ้น 148 สาขาจาก 9 แฟรนไชส์เดิม
โดยสาขาแรกอย่างเป็นทางการของ Subway ในมือของ PTG จะเปิดให้บริการที่อาคาร CW Tower ถ.รัชดาภิเษก ในเดือนกรกฎาคมนี้ ที่จะมาพร้อมโฉมใหม่คอนเซปต์ใหม่ด้วยแนวคิด “Fresh Forward 2.0” ซึ่งเป็นรูปแบบใหม่ของซับเวย์ทั่วโลก เน้นปรับลุคให้บรรยากาศร้านดูสดใสขึ้น อีกทั้งยังนำเอกลักษณ์และวัฒนธรรมของไทยมาผสมผสานในการออกแบบ เพื่อให้เข้าถึงคนไทยมากยิ่งขึ้น โดยประเทศไทยถือเป็นประเทศแรกในเอเชียที่ตกแต่งด้วยแนวคิดดังกล่าว
เมื่อโฟกัสมายังตลาดธุรกิจร้านอาหารบริการด่วน หรือ คิวเอสอาร์ (QSR)ของไทย มีมูลค่ากว่า 4.70 หมื่นล้านบาท โดยประเมินว่าในปี 2567 จะมีการเติบโตที่ 4.4% โดยแบ่งเป็น ตลาดเบอร์เกอร์และแซนด์วิช ประมาณ 1.10 หมื่นล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 23% ของตลาด ซึ่งถือเป็นโอกาสทางการตลาดของแบรนด์ที่มีอยู่มาก
เพิ่ม Set Menu และเมนูหน้าร้าน “อร่อยชัวร์ตามสูตร” แก้ Pain Point ลูกค้าสั่งยาก
ก้าวใหม่ของ “ซับเวย์” (Subway) จึงเริ่มต้นขึ้นอีกครั้ง โดยการหวนคืนตลาดภายใต้กลุ่ม PTG ในครั้งนี้ทางแบรนด์มองว่ามีโจทย์ที่ยังต้องแก้อยู่หลายอย่าง ตั้งแต่กระบวนการสั่ง เมนู โปรโมชัน ไปจนถึงหน้าร้านเพื่อสร้างการเข้าถึงของลูกค้ามากยิ่งขึ้น
ความท้าทายของประการแรก Subway ในการก้าวสู่เบอร์ 3 ในตลาด QSR เมืองไทย ยังคงเป็นเรื่องของการสั่งเมนูภายในร้านที่หลายมองว่าค่อนข้างซับซ้อน ยุ่งยาก ใช้เวลานาน ขณะที่บางคนก็บอกว่าพนักงานถามเยอะจนเกินไป ทำให้รู้สึกกดดัน หรือบางคนที่ไม่เคยเข้ามารับประทานอาจจะไม่กล้าเข้ามาเลยก็ได้
เพื่อเป็นการแก้โจทย์ดังกล่าว คุณเพชรรัตน์ อุทัยสาง กรรมการผู้จัดการ บริษัท โกลัค จำกัด บอกว่า “Pain Point สำคัญของการดำเนินงานต่อจากนี้คือการแก้โจทย์ให้ร้านของเราสามารถสั่งเมนูได้ง่ายขึ้น จากเดิมที่ลูกค้ามองว่า สั่งยาก และไม่รับเงินสด (ใช้บัตรเครติด-โอนจ่าย) โดยจะมีทำเมนูการอร่อยชัวร์ตามสูตรเมนูยอดนิยม 9 รายการ โดยไม่ต้องเลือก อาทิ ชุดบาร์บีคิวไก่ ชุดไก่เทอริยากิ ชุดซับเวย์ เมลท์ รวมถึง ชุดสเต็กและชีส ฯลฯ โดยมีการนำเสนอขายคอมโบเป็นชุดรวมทั้งโปรโมชันต่างๆ และเพิ่มความหลากหลายของเมนู Snacks และ Finger Foods ทั้งอิ่ม สะดวก และรวดเร็ว ควบคู่กับการจัดโปรโมชันลดราคา และโปรโมชั่นซื้อ 1 แถม 1 ฯลฯ ออกมาตลอดทั้งปี”
คุณเพชรรัตน์ อุทัยสาง
“เราอยู่ในตลาดมานาน บางทีพนักงานอาจจะเคยชินกับการถามลูกค้าในแต่ละเสต็ป ซึ่งเป็นการถามตั้งแต่เริ่มต้นเลือกขนมปัง ไปจนถึงการเลือกส่วนประกอบ เนื้อสัตว์ ซอสต่างๆ ซึ่งมีทั้งคนที่ชอบและไม่ชอบ ซึ่งจุดนี้เองเราจึงมีการเปิดตัวชุดเซ็ตเมนู และเมนูที่ลูกค้าสามารถเข้ามาเลือกซื้อได้เลย โดยเมนูที่เรานำมาตอบโจทย์ลูกค้าทั้งหมด เกิดจากการที่เราเก็บข้อมูลเมนูที่เป็นที่นิยมและชื่นชอบจากลูกค้าที่เข้ามาสั่งอาหารภายในร้าน”
จากนี้ยังจะเดินหน้าสร้างการรับรู้ของแบรนด์ให้ลูกค้าลองและมีประสบการณ์กับสินค้า โดยเน้น Value Campaign เพื่อขยายฐานลูกค้าและเพิ่มการกลับมาซื้อซ้ำ พร้อมกับใช้ Ecosystem ที่แข็งแกร่งของ PTG จากฐานลูกค้าสมาชิกบัตร PT Max Card ที่มีสมาชิกมากกว่า 21 ล้านคน ในการทำ CRM และขยายฐานลูกค้าผ่านทั้งช่องทาง Traditional & Online ซึ่งเป็นเหมือนน่านน้ำใหม่ๆ ให้แบรนด์เข้าถึงลูกค้ามากขึ้น และรวดเร็วยิ่งขึ้น
Subway Pop Up Store แห่งแรก ใจกลางกรุงฯ
ล่าสุดเพื่อเป็นการสร้างการเข้าถึงไปยังลูกค้ากลุ่มใหม่ๆ ได้เปิดตัว แคมเปญ “ซับเวย์ x ชาอึนอู” และยังจับมือกับ เอไอเอส (AIS) เปิดตัว Pop Up Store แห่งแรกของแบรนด์ ณ ชั้น 1 ตึก AIS SIAM ซึ่งจะเปิดให้บริการ ตั้งแต่วันที่ 5 มิถุนายน จนถึง 31 กรกฎาคม 2567 โดยในช่วงที่มีแคมเปญชาอึนอู ทางแบรนด์ได้จัดทำสแตนดี้ชาอึนอูแบบเอ็กซ์คลูซีฟเฉพาะที่ Subway Pop up Store AIS SIAM เพื่อให้แฟนๆ ได้มาร่วมถ่ายรูปเป็นที่ระลึกถึงวันที่ 28 มิถุนายนนี้ พร้อมมอบโปรโมชันต่างๆ มากมายแก่ลูกค้า
การเปิด Pop-Up Store แห่งแรกใจกลางสยามสแควร์ จะสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กับแบรนด์ และทำให้ลูกค้ารู้สึกว่าแบรนด์ซับเวย์สามารถเข้าถึงง่ายยิ่งขึ้น โดยเหตุผลที่เลือกที่นี่ เพราะเป็นจุดเชื่อมโยงทุกเจนเนเรชั่น ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มเด็ก วัยรุ่น หรือ ครอบครัว ซึ่งสอดคล้องกับจุดแข็งของซับเวย์ ที่เป็นทางเลือกเพื่อสุขภาพ ภายใต้แนวคิด Eat Fresh Feel Good ด้วยวัตถุดิบคุณภาพเยี่ยม ที่ได้รับการคัดสรรมาเป็นอย่างดี
รวมถึงเตรียมนำ “ชาอึนอู” แบรนด์แอมบาสเดอร์ของของซับเวย์ เอเชีย แปซิฟิค มาร่วมต่อยอดทำแคมเปญการตลาดในไทย โดยจะมีจอดิจิทัลที่มีรูป ชาอึนอู แสดงอยู่ในร้านทุกสาขา นับเป็นครั้งแรกที่ซับเวย์ในไทยที่มีแบรนด์แอมบาสเดอร์ เพื่อร่วมสร้างการรับรู้ของแบรนด์สู่กลุ่มลูกค้าเป้าหมาย ซึ่งแบรนด์จะมีการทำตลาดร่วมกับ ชาอึนอู เป็นเวลาสองเดือนนับจากนี้
“อีกหนึ่งความท้าทายของเราคือการที่หน้าร้านไม่รับเงินสดตลอดข่วงที่ผ่านมา ทำให้หลายคนมองว่าอาจจะเป็นอุปสรรคอยู่บ้าง นั่นทำให้เราเริ่มกลับมาพิจารณาการรับเงินสดอีกครั้ง โดยใช้ Subway Pop Up สาฃาสยามแสควร์แห่งนี้ในการศึกษาความเป็นไปได้”
นอกจากนี้ยังเตรียมทำแคมเปญที่นำเสนอ “Soft Power” กับช่องโทรทัศน์/ผู้ผลิตซีรีส์ในไทย โดยแบรนด์จะเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งในซีรีย์หรือรายการต่างๆ โดยคาดว่าจะสามารถเห็นความชัดเจนได้เห็นในเร็วๆ นี้ ทั้งนี้เพื่อสร้างแบรนด์ให้เข้าถึงและเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันของชาวไทยมากขึ้น
เปิดโมเดลใหม่ ปูพรม 500 ทำเลยุทธศาสตร์ ชิง Top 3 ตลาด QSR เมืองไทย
นอกจากการขยายฐานลูกค้าใหม่ให้กล้าเข้ามาสั่งเมนูในร้านเพิ่มเติมแล้ว การขยายสาขาคืออีกหนึ่งกลยุทธ์สำคัญที่ทางแบรนด์จะนำมาใช้เพื่อสร้างการเข้าถึงลูกค้ามากยิ่งขึ้น โดยวางเป้าหมายขยายสาขาปีละ 50 สาขาต่อปี ผ่านงบลงทุนเฉลี่ย 5 ล้านบาทต่อสาขา โดยในปี 2567 นี้ จะขยายเพิ่ม 25 สาขา (เนื่องจากเป็นได้รับสิทธิ์และสามารถดำเนินงานได้ในช่วงครึ่งปีหลัง) โดยมีโมเดลใหม่ที่ Subway จะใช้ในการขยายสาขาต่อจากนี้ ประกอบด้วยโมเดลต่างๆ ได้แก่
- โกสต์ คิชเชน (Ghost Kitchen) พื้นที่ประมาณ 15-25 ตร.ม. งบลงทุนประมาณ 2-2.5 ล้านบาทต่อสาขา เน้นเจาะทำเลใจกลางเมืองใกล้กับออฟฟิศที่มีพนักงานจำนวนมาก แต่ไม่มีสาขาหน้าร้าน เน้นบริการสั่งสินค้าดิลิเวอรีได้รับความรวดเร็วและลดต้นทุนค่าขนส่ง ที่ไม่ให้เกิน 30 บาทต่อออเดอร์ โดยประเมินเบื้องต้นจะเปิดใหม่ 3-5 สาขาในทำเลสีลม สาธุประดิษฐ์ ถนนจันทร์ เป็นต้น ใช้
- โมเดล ไดร์ฟทรู (Drive Thru) เป็นครั้งแรกของแบรนด์ บนพื้นที่ 150 ตร.ม. ที่นครชัยศรี จังหวัดนครปฐม ที่จะเป็นการตกแต่งโดยใส่สไตล์ความเป็นไทยเข้าไป ซึ่งจะเปิดตัวอย่างเป็นทางการในช่วงเดือนพศจิกายน 2567 นี้
- ตู้กด (Vending machine) เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ลูกค้า เน้นทำเลที่ผู้คนสัญจรไปมาสะดวก และต้องอยู่ใกล้ร้านแม่ (ร้านหลักในการจัดส่งอาหารมายังตู้) เนื่องจากพบว่าตู้กดเป็นที่นิยมอีกทั้งยังตอบโจทย์ความคนยุคใหม่ โดยซับเวย์ในรูปแบบตู้กดมีให้บริการแล้วที่ประเทศมาเลเซีย ซึ่งได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี ส่วนในประเทศไทยคาดว่าจะเริ่มเห็นในปี 2568
อย่างไรก็ตามสำหรับ “SUBWAY” ถือเป็นแบรนด์ที่มีรายได้เกินหนึ่งพันล้านบาทในประเทศไทยเป็นผลสำเร็จตั้งแต่ปีที่ผ่านมา แน่นอนจากแผนการตลาดเชิงรุกที่มีมากขึ้นในปีนี้ บวกกับการตลาดเข้มข้นในฉบับ PTG แบรนด์มั่นใจว่าจะสามารถสร้างการเติบโตได้มากกว่าเดิมอย่างแน่นอน
ติดตามพวกเราได้ที่ LINE